
โคตรสู้ โคตรโส
โคตรสู้ โคตรโส เป็นหนังไทยเรื่องแรกในรอบหลายปี ที่ขายลิขสิทธิ์ในต่างประเทศได้ก่อนจะมีโอกาสเข้าฉายในบ้านเกิดเสียอีก น่าดีใจด้วยไม่น้อย ที่นานๆ ครั้ง หนังไทยจะได้ประกาศศักดาให้ชาวโลกได้รู้จัก โดยเฉพาะหนังในกระแสหลัก หรือหนังที่ถูกสร้างขึ้นในเชิงพาณิชย์ หลั
คุณพันนา ฤทธิไกร ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจาก “องค์บาก” เป็นต้นมา ต่างชาติให้ความสนใจหนังแอ็กชั่นไทยที่นำเสนอภาพการแสดงศิลปะการต่อสู้และคอยจับตาดูอยู่ตลอดเวลาว่า เมื่อใดที่มีหนังแนวนี้ออกมา พวกเขาก็พร้อมเจรจาติดต่อซื้อไปฉายในทันที จึงอาจไม่ใช่เรื่องเกินความคาดหมายเท่าใดนักที่ “โคตรสู้ โคตรโส” จะขายได้ในตลาดต่างประเทศ ก่อนจะเปิดตัวฉายในไทย
จะว่าไปแล้ว ความน่าสนใจใน “โคตรสู้ โคตรโส” ไม่ได้อยู่ที่วิธีออกแบบลีลาการต่อสู้ที่แปลกใหม่ เหมือนที่เคยเกิดกับ “องค์บาก” หากแต่อยู่ที่การพยายามสร้างดารานักบู๊หน้าใหม่ๆ ที่มากด้วยชั้นเชิงของฝีมือการต่อสู้ ที่สำคัญ ‘พันนา’ พยายามผลักดันคนเหล่านี้ ให้มีโอกาสแสดงความสามารถในการใช้ศิลปะการต่อสู้ด้วยมือเปล่าพร้อมๆ กันถึง 9 คน ซึ่งแน่นอนว่า “โคตรสู้ โคตรโส” เป็นหนังที่อุดมไปด้วยฉากการต่อสู้ห้ำหั่นกันอย่างเอาเป็นเอาตายตลอดเวลาเกือบ 120 นาทีเลยทีเดียว
อันที่จริง เรื่องราวแบบนี้ก็ไม่ใช่ของใหม่สำหรับหนังแอ็กชั่นจาก ‘สำนักพันนา’ เพราะหลายปีก่อนหน้า เขาเคยเปิดโอกาสให้เหล่าสตั๊นท์หน้าใหม่แสดงความสามารถในการต่อสู้ด้วยมือเปล่ามาแล้วในหนังอย่าง “เกิดมาลุย” หรือเมื่อเร็วๆ นี้ก็เช่น “5 หัวใจฮีโร่” ซึ่งดูเหมือนว่าทั้งสองเรื่องไม่ประสบความสำเร็จในบ้านเกิดสักเท่าไหร่นัก หากแต่ได้เสียงตอบรับที่ดีในตลาดต่างประเทศ
เช่นเดียวกัน พล็อตของ “โคตรสู้ โคตรโส” ก็ไม่ได้แตกต่างห่างไกลจาก “เกิดมาลุย” หรือ “5 หัวใจฮีโร่” เพราะหนังยังคงเล่าถึงการรวมตัวกันของคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ ที่มีฝีไม้ลายมือการต่อสู้เอาชนะเหล่าร้ายที่หมายเหยียบย่ำน้ำจิตน้ำใจคนไทย ใน “เกิดมาลุย” และ “5 หัวใจฮีโร่” ให้ภาพผู้ร้ายเป็นชนกลุ่มน้อยประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง ในขณะที่ “โคตรสู้ โคตรโส” วายร้ายเป็นคนตะวันตก และชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างญี่ปุ่น
งานสร้างของหนังมองอย่างผิวเผินอาจจะดูเชยและล้าสมัย เหมือนภาพของหนังบู๊ภูธรเมื่อครั้งอดีต หากแต่พิศดูกันอย่างลึกซึ้งนี่คือการเคารพขนบหนังบู๊ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นฟั่นเฟืองสำคัญที่สร้างความเฟื่องฟูให้แก่วงการหนังไทยมาแล้ว เนื้อหาของ “โคตรสู้ โคตรโส” อาจไม่ใช่องค์ประกอบสำคัญ เท่ากับการออกแบบท่วงท่าการต่อสู้ ที่สอดคล้องต่อเนื่องกันในแต่ละฉาก องค์ประกอบที่ถูกนำมาใช้อย่างเหมาะสมกลมกลืน นำเสนอจุดเด่นทางการต่อสู้ของแต่ละคนให้ฉายชัด ทั้งหมัดกำปั้นซัดกันลุ่นๆ แบบมวยไทย ความแคล่วคล่องของมือไม้ที่ออกหมัดได้ฉับไวในแบบฉบับมวยจีน หรือการกระโดดตีลังกาท่าสวยงามด้วยทักษะของกีฬายิมนาสติกชั้นเยี่ยม รวมทั้งความสมจริง สมจัง จากการตีต่อยประเคนมือเท้าเข่าศอกเข้าใส่กันอย่างไม่บันยะบันยัง นี่กระมังที่ทำให้ฝรั่งอ้าปากค้างด้วยความทึ่งในลวดลายศิลปะการต่อสู้จากสองมือสองเท้าของคนไทย และกำลังจะกลายเป็นสินค้าส่งออกทางวัฒนธรรมไปในที่สุด แม้ตอนนี้มูลค่าจะน้อยเมื่อเทียบกับธุรกิจประเภทอื่น แต่ถ้าได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โอกาสของหนังไทยแนวนี้ ที่จะประสบความสำเร็จในตลาดต่างประเทศก็ดูจะมีวี่แววไปได้สวยทีเดียว (ลองนึกถึงรายได้หลายร้อยล้านบาท ที่หนัง “ต้มยำกุ้ง” กวาดมาได้ในตลาดต่างประเทศเมื่อ 4-5 ปีก่อน)
จา’ พนม ยีรัมย์ ใช้เวลาในการฝึกฝนศิลปะการต่อสู้นานหลายปี กว่าจะพิสูจน์ฝีมือให้คนทั้งโลกประจักษ์ เช่นเดียวกับดารานักบู๊คนอื่นๆ อย่าง ‘เดี่ยว’ ชูพงษ์ ศิษย์สำนักเดียวกับ ‘จา’ มีอาจารย์ชื่อ พันนา ฤทธิไกร เหมือนกัน สิ่งที่ ‘พันนา’ ให้สัมภาษณ์ไว้ เกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ก็คือเหล่านักแสดงทีม ‘ไฟท์ติ้ง คลับ’ ใน “โคตรสู้ โคตรโส” ใช้เวลาในการฝึกปรือกว่าลีลาการต่อสู้ของพวกเขาจะมีโอกาสได้ปรากฏบนจอนั้นกินเวลานานถึง 6 ปีทีเดียว นั่นหมายถึง ‘จา’ และ ‘เด็กหนุ่มทั้ง 9’ ต่างมีต้นทุนในความเพียรมุ่งมาดบากบั่นกว่าจะได้มาซึ่งการยอมรับ (แต่ความสำเร็จจะตามมาหรือไม่นั้น อีกเรื่องหนึ่ง)
หากมองกันอีกแง่ ตัวเลขรายได้ (ในไทย) อาจไม่ได้ชี้วัดความสำเร็จของหนังเสียทีเดียว เพราะหากพิจารณาจริงๆ แล้วจะเห็นว่า หนังแอ็กชั่นที่ผ่านมาของ ‘พันนา’ ได้ช่วยแจ้งเกิดให้แก่ดารานักบู๊หน้าใหม่ๆ เข้ามาประดับวงการหนังไทยอยู่บ้าง อาทิ ‘เดี่ยว’ ชูพงษ์ ช่างปรุง และ ‘นุ้ย’ เกศริน เอกธวัชกุล แต่สำหรับสตั๊นท์อีกหลายคนยังคงทำมาหากินในวงการหนังไทยต่อไป แม้ต้องอยู่เบื้องหลัง รองมือรับเท้า เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย ในฉากอันตรายแทนนักแสดงนำอยู่ร่ำไป สำคัญที่ว่า พวกเขารักที่จะทำงานนี้ และมีความสุขกับการเป็นสตั๊นท์หรือนักแสดงผาดโผน แต่ที่สำคัญไปกว่าคือ เป็นอาชีพที่สามารถหล่อเลี้ยงชีวิตคนทำงานต่อไปได้นานแค่ไหน มีความปลอดภัยในสวัสดิภาพเทียบเท่าอาชีพเสี่ยงอันตรายอื่นๆ หรือเปล่า เพราะไม่ว่าอย่างไรก็ตาม นักแสดงผาดโผน สตั๊นท์แมน ต่างดำรงอยู่ในสถานะฟันเฟืองเล็กๆ ของธุรกิจหนังไทย และครั้งหนึ่งเคยมีส่วนขับเคลื่อนหนังแอ็กชั่นไทยให้ประสบความสำเร็จระดับนานาชาติมาแล้ว เหมือนกับที่หนังบู๊ เคยเป็นส่วนหนึ่งในความรุ่งเรืองของวงการหนังไทยเมื่อหลายปีมาแล้ว แม้บรรยากาศแบบนั้นจะไม่เฉียดกรายมาอีกเลยตลอดหลายปีก็ตาม หวังเล็กๆ ว่า “โคตรสู้ โคตรโส” จะเรียกเอาห้วงเวลาเหล่านั้น กลับคืนมาได้ในเร็ววัน
ชื่อเรื่อง : โคตรสู้ โคตรโส
ผู้เขียนบท : ดูจิต วงษ์ทอง, Jonathan Siminoe
ผู้กำกับ : พันนา ฤทธิไกร, มรกต แก้วธานี
นักแสดง : ศุภักษร ไชยมงคล, สรพงษ์ ชาตรี, เกียรติศักดิ์ อุดมนาค, พิมพ์ชนก ลือวิเศษไพบูลย์ และ ทีม The Fighting Club
เรทติ้ง : น.15+ ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้ชมอายุ 15 ปีขึ้นไป
วันที่เข้าฉาย : 16 ธันวาคม 2553
"ณัฐพงษ์ โอฆะพนม"