
มองผ่านเลนส์คม - จดหมายถึงพ่อ
ใกล้ถึงวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคมแล้ว ผมมักจะนึกถึงเพลงไทยดีๆ ที่กล่าวถึงพ่อและความสัมพันธ์ในครอบครัว ซึ่งจะมีน้อยกว่าเพลงเนื้อหาเกี่ยวกับแม่ที่มีอยู่มากมาย
มีเพลงหนึ่งที่นึกแวบขึ้นมา และเชื่อว่า เราคงจะได้ยินกันบ่อยๆ ในช่วงนี้ตามสถานีวิทยุต่างๆ ชื่อเพลง ”จดหมายถึงพ่อ“ ต้นฉบับแต่งและขับร้องโดยอี๊ด ฟุตบาท อิทธิพล วาทะวัฒนะ ในนาม "ฟุตบาทแฟมิลี่" และยังมีนักร้องอื่นๆ นำมาร้องอย่างปู พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์ และเดวิด อินธี ในสังกัดรถไฟดนตรี
ต้นฉบับแรกที่ขับร้องนั้นมีเสียงลูกสาวตัวเล็กๆ คือน้องปิค-น้องเปรียว ในตอนท้ายของเพลงจะมีเสียงพูดของเด็กน้อยในวัยใสไร้เดียงสาว่า "เสียงสู้ง สูงเนาะใครจะไปร้องถึง" หมายถึงว่า เพลงนี้ร้องคีย์สูงจนเธอลำบากในการออกเสียงเลยบ่นออกมาหลังเพลง ซึ่งคนที่ควบคุมการบันทึกเสียงก็ได้อัดใส่มาไว้ในท้ายเพลง ฟังดูน่ารักน่าเอ็นดู
ลองอ่านเนื้อเพลงดูว่า เพลงนี้มีความงดงามสะท้อนภาพครอบครัวไทยที่กำลังก้าวสู่ยุคทุนนิยมได้ดีมากๆ
“อ่านคำบรรยายจดหมายถึงพ่อ หนูยังรอวันพ่อกลับบ้าน
ก้านมะละกอที่พ่อเคยหว่าน แยกปลูกไม่นาน ลูกโตน่าดู
กระถินริมรั้วสูงขึ้นเลยบ่า พุ่มกระดังงาเลื้อยซุ้มประตู
ทานตะวันชูคอชูช่อรออยู่ คงชะเง้อดูคอยพ่อกลับมา
แม่อธิบายที่พ่อไปทำงาน เพื่อเงินเพื่อบ้านและเพื่อลูกยา
จะมีบ้านโตมีรถโก้สง่า มีหน้ามีตาเหมือนดังใครๆ
พ่อไปคราวนี้แม้จะยาวนาน พวกเราทางบ้านเป็นกำลังใจ
แต่บางคืนแม่สะอื้นร้องไห้ หนูแกล้งทำหลับไปสงสารแม่จัง
ส่วนน้องหญิงยิ่งยามเย็นค่ำ อ้อนประจำเหตุผลไม่ฟัง
ไม่เอาบ้านโตไม่เอาทุกอย่าง จะเอาขี่หลังของพ่อคนเดียว
สุดท้ายนี้ขออวยพรให้พ่ออยู่แดนไกล หัวใจเด็ดเดี่ยว
ขอพระคุ้มครองยามใจห่อเหี่ยว ปกป้องแลเหลียวร่ำรวยกลับมา”
จับใจกับท่อนที่ว่า “ไม่เอาบ้านโตไม่เอาทุกอย่าง จะเอาขี่หลังของพ่อคนเดียว” สะท้อนภาพการเลี้ยงลูกด้วยเงินของคนยุคนี้อย่างชัดเจน หลายครั้งที่ในครอบครัวห่างเหินการสัมผัสหรือการกอดที่แสดงความอบอุ่น แม้ว่าครอบครัวไทยโบราณบางครอบครัวอาจจะไม่ค่อยคุ้นเคยเหมือนกับครอบครัวตะวันตก
แต่เด็กสมัยใหม่ที่รับวัฒนธรรมใหม่ๆเข้ามา เขารู้สึกว่าการกอด หอมแก้มเป็นเรื่องปกติกันไปแล้ว
สุดสัปดาห์นี้วันพ่อแห่งชาติ ทุกครอบครัวไทยคงได้แสดงความจงรักภักดีกับพ่อของแผ่นดินและคงได้ระลึกนึกถึงบุญคุณของพ่อในครอบครัวกันโดยทั่วหน้ากัน
"นคร ศรีเพชร"