
เพลงที่ต้องฟังก่อนตาย - คาราวาน
คาราวาน_คนไกลบ้าน พ.ศ. 2528 ( ตอนที่ 1) ความเปลี่ยนแปลง ตลอดจนความเป็นไปในสังคม ล้วนมีอิทธิพล และส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของคนในสังคมเสมอ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคมการเมือง มีผลต่อวงการศิลปกรรมของไทยหลายประการ โดยเฉพาะด้านเพลง มีผลกระทบต่อความคิด
สงคราม เป็นแหล่งต้นน้ำของการสะท้อนความคิดและการแสดงออกทางงานศิลปะมากที่สุด ทั้งภาพยนตร์ หนังสือ บทกวี ภาพถ่าย และแน่นอน บทเพลง ที่ถูกสะท้อนออกมาในแนวทางของนักถ่ายทอดทางดนตรีเช่นกัน
บทเพลง แนวความคิด อิทธิพลการสื่อสาร และแบบอย่างที่ทำให้ผู้คนได้รับรู้และเห็นถึงมุมมองทางสังคม แนวความคิดเหล่านี้น่าจะมีผลอยู่ในขบวนการของคนรุ่นหนุ่มสาว ที่ต้องการซึมซับการเกิดขึ้นสิ่งรอบตัว เป็นอิทธิพลทางวัฒนธรรมซึ่งส่งผลในด้านต่างๆ และส่งผลสะท้อนกลับมาเป็นการแสดงออกของผู้รับ
ศิลปินของอเมริกาต่อต้านสังคมและสงคราม เวียดนามด้วยการแต่งเพลงประท้วง ผลงานของศิลปินที่มีชื่อเสียงมากที่สุดได้แก่ บ็อบ ดีแลน เป็นศิลปินที่ส่งต่อแนวความคิดมายังศิลปินไทยในนาม คาราวานเช่นกัน
แนวเนื้อหาเพลงไทยสากลในยุคแรก ช่วงทศวรรษ 2480 ถึงทศวรรษ 2490 ครูนารถ ถาวรบุตร บรมครูนักแต่งเพลงแบ่งออกเป็น 1. กลุ่มเพลงปลุกใจ ให้รักชาติ รักความเป็นไทย 2. กลุ่มเพลงรัก ครูนารถเรียก “เพลงประโลมโลกย์” 3. กลุ่มเพลงชีวิต ยุคนั้นยังไม่เรียก “เพลงเพื่อชีวิต” คือเพลงที่หยิบยกเอารายละเอียดชีวิตของคนในอาชีพต่างๆ มาพรรณนาด้วยคำร้องที่เรียบง่ายแต่กินใจ มุ่งสะท้อนสภาพทางสังคมและเสียดสีการเมืองบ้างพอสมควร อันถือได้ว่าเพลงชีวิตคือ “รากฐาน” ของเพลงลูกทุ่งและเพลงเพื่อชีวิตในเวลาต่อมา
นั่นคือหลังจากปี พ.ศ.2500 มาแล้ว จึงมีการแบ่งเพลงไทยสากลออกเป็น 1. เพลงลูกกรุง เช่นเพลงของ สุนทราภรณ์, สุเทพ วงศ์กำแหง, ชรินทร์ นันทนาคร ฯลฯ 2. เพลงลูกทุ่ง เช่น เพลงของ สุรพล สมบัติเจริญ ฯลฯ โดยคำว่า “เพลงลูกทุ่ง” ถือกำเนิดอย่างเป็นทางการในปี 2507 เมื่อมีรายการโทรทัศน์ทางช่อง 4 บางขุนพรหม รายการหนึ่งตั้งชื่อรายการว่า “เพลงลูกทุ่ง” และจนกระทั่งเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เมื่อประชาธิปไตยเบ่งบานจึงเริ่มมีเพลงประเภทที่ 3 เรียกว่า “เพลงเพื่อชีวิต” เกิดขึ้นจากแนวคิดศิลปะต้องรับใช้ประชาชน ซึ่งปรากฏในหนังสือ “ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน” ของจิตร ภูมิศักดิ์ นักคิดนักเขียนฝ่ายก้าวหน้า ซึ่งขบวนการนักศึกษาให้ความยอมรับนับถือ การแบ่งประเภทของ “เพลงไทยสากล” ออกเป็น 3 ประเภทกว้างๆ คือ ลูกทุ่ง ลูกกรุง และเพื่อชีวิต ยังคงใช้มาถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้แม้ว่าเนื้อหาของเพลงลูกทุ่งจะพัฒนาไปอย่างหลากลาย ทั้งตลกขบขัน รักหวานชื่น หัวอกขื่นขม สองแง่สองง่าม เสียดสีสังคม ฯลฯ ขณะที่เพลงเพื่อชีวิตก็แตกแขนงทางเนื้อหาสาระและแนวดนตรีออกไปมากเช่นกัน แตไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ทั้งเพลงลูกทุ่งและเพลงเพื่อชีวิตในปัจจุบันล้วนมีรากฐานมาจาก “เพลงชีวิต” ที่ศิลปินชั้นครูได้สร้างสรรค์ไว้ตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2480-2490 นั่นเอง
พ.ศ. 2517 ท.เสนและสัญจร และ วงบังคลาเทศแบนด์ ทั้งสองวง ร่วมกันแสดงเป็นครั้งแรก ภายใต้ชื่อวง “คาราวาน” ซึ่งหมายถึงการเดินทางไม่สิ้นสุด เริ่มต้นมีสมาชิก 4 คน คือ สุรชัย จันทิมาธร, วีระศักดิ์ สุนทรศรี, มงคล อุทก และทองกราน ทานา และมีผลงานชุดแรก คือคนกับควายเป็นเพลง โฟล์ก กับเนื้อหาสะท้อนความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นในห้วงเวลานั้นของสังคมไทย
ลักษณะดนตรีของเพลงเพื่อชีวิต เนื้อเพลงกับทำนอง และลักษณะแนวดนตรี
เพลงโฟล์กตะวันตกที่นำเอาทำนองมาใส่เนื้อร้องเป็นภาษาไทย ใช้ กีตาร์โปร่ง ไวโอลิน ซอ ผสมเป็นเครื่องหลัก หรืออาจเป็นเพลงพื้นบ้าน รวมไปถึงเพลงที่มีทำนองสากล และบรรเลงโดยเครื่องดนตรีสากล
งานของคาราวานในยุคแรก (2517 - 2527 ) ก็เป็นแบบโฟล์ก จนมาถึงงานที่ก้าวไปสู่เครื่องดนตรีไฟฟ้า เช่น กีตาร์ หรือ เบสกีตาร์ ในอัลบั้มชุด คนไกลบ้าน ( 2528 ) การเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนและสวยงามของเสียงดนตรีตามยุคสมัย งานดนตรีที่ต้องพูดถึงทั้งในแง่แนวความคิด มุมมอง เนื้อหาของเพลง การเรียงเรียงเพลง และสีสัน ดนตรี ตลอดจนวิธีการนำเสนอ
12 เพลงในอัลบั้มชุด คนไกลบัาน มีรายละเอียดที่น่าสนใจและเป็นประวัติศาสตร์ของวงการเพลงเพื่อชีวิตไทยอย่างยิ่ง ประกอบไปด้วยเพลง คนไกลบ้าน, เราและเธอ, ดวงจำปา, เสือร้องไห้, ทางสีขาว, คนจร, สันติภาพ, ขยม, อินโดจีน, กัมพูชา, ความเป็นมา, คนไกลบ้าน ๒
ครั้งหน้ากลับมาติดตามกันว่าทำไม จึงสมควรได้รับการยกย่องจากนักฟังเพลงไทย ในฐานะอัลบั้มที่ต้องฟังก่อนตาย
"โชคชัย เจี่ยเจริญ"
[email protected] <mailto:[email protected]>
ชาตินี้ ยังไงก็ฟังเพลงทั่วไป ได้ไม่หมด
ขอเลือกเพลงโปรด ฟังก่อนตาย ดีกว่า
****ข้อมูล : บางส่วนจากจุลสารประกอบงานรำลึก 25 ปี 14 ตุลา รวบรวมและจัดทำโดยกลุ่มศิลปวัฒนธรรมเพื่อชีวิต ใช้เป็นเอกสารประกอบการเสวนา “เส้นทางเพลงเพื่อชีวิต” ในงานรำลึก 25 ปี 14 ตุลา วันที่ 10-14 ตุลาคม 2544