
Let Me In
ฮอลลีวู้ด มักถูกค่อนขอดเหน็บแนมจากนักวิจารณ์หนังอยู่บ่อยๆ ว่า ทุกวันนี้ เต็มไปด้วยพลอตหนังที่ไร้ซึ่งความแปลกใหม่ ไม่น่าสนใจอีกต่อไปแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นในฮอลลีวู้ดทุกวันนี้ล้วนเกิดจากกระบวนการทำซ้ำซาก หนังแทบทุกเรื่องเหมือนย่ำอยู่กับที่
และตลอดเวลาหลายสิบปีมาแล้วที่ฮอลลีวู้ดเริ่มหันเห เมียงมองมายังวงการหนังเอเชีย อิมพอร์ตผู้กำกับฝีมือดี นักแสดงฝีมือเยี่ยม และซื้อลิขสิทธิ์หนังเอเชียอีกมากมายหลายสิบเรื่องมาฉายในอเมริกา หรือไม่นำกลับมาสร้างใหม่ในเวอร์ชั่นฮอลลีวู้ด หลายเรื่องประสบความสำเร็จ และอีกหลายเรื่องก็ล้มคว่ำไม่เป็นท่า โดยก่อนหน้านั้นอีกหลายสิบปี ฮอลลีวู้ด ก็เคยข้ามฟากไปเยือนวงการหนังยุโรป นำเข้าผู้กำกับเก่งๆ นักแสดงเจ๋งๆ มาร่วมงาน รวมทั้งซื้อบทหนังมากมายทั้งจากอังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน อิตาลี หรือแม้กระทั่งประเทศแถบสแกนดิเนเวีย นำมาสร้างใหม่
แม้หลายเรื่องจะได้รับความนิยมถล่มทลาย แต่ส่วนใหญ่คนที่ได้ดูแทบจะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘สู้หนังต้นฉบับ’ ไม่ได้...ดังนั้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา หนังยุโรปจึงไม่ค่อยถูกนำไปรีเมก แต่ถ้าเรื่องไหนดังจริง แจ๋วจริง ผู้กำกับหรือนักแสดง มักจะถูกชักชวนไปร่วมงานในอเมริกาซะมากกว่า พร้อมเงื่อนไขในการได้ทำหนังฟอร์มยักษ์ระดับบล็อกบัสเตอร์ เช่นที่เคยเกิดขึ้นกับผู้กำกับรัสเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศส หรือแม้แต่ฮอลแลนด์ และหนังยุโรปที่ถูกฮอลลีวู้ดนำมารีเมกใหม่ ส่วนใหญ่มักสร้างโดยทิ้งช่วงเวลาห่างจากต้นฉบับอย่างน้อย 3-4 ปี ยกเว้นในกรณีของหนังแวมไพร์จากสวีเดนเรื่อง “Let the Right One In” ที่กลายร่างมาสู่เวอร์ชั่นฮอลลีวู้ดในเวลาไม่ถึง 2 ปี ด้วยชื่อใหม่ที่คล้ายคลึงกันว่า “Let Me In”
จะว่าไป “Let Me In” แทบจะไม่ได้มีการดัดแปลงเนื้อหาใดๆ ให้แตกต่างไปจากต้นฉบับเลยแม้แต่น้อย ว่ากันตามตรงคือ หนังแทบจะเดินตามเค้าโครงเดิมของ “Let the Right One In” เกือบจะทุกกระเบียดนิ้ว ตั้งแต่ตัวละครไอ้หนูขี้เหงา ที่ดูเหมือนจะแปลกแยกทั้งจากครอบครัว (ที่มีแม่เลี้ยงดูเพียงคนเดียว) และเพื่อนร่วมชั้นเรียน (ที่ดูเป็นเด็กแหยๆ รูปร่างเก้งก้าง) จนได้มาพบกับสาวน้อยรุ่นราวคราวเดียวกัน (ถ้ามองจากรูปลักษณ์ภายนอก) ทั้งสองเริ่มต้นความสัมพันธ์จากแค่เพื่อนสนิทเพียงหนึ่งเดียวในยามค่ำละแวกห้องเช่าเล็กๆ จนสานสายใยกลายเป็นความรักของเด็กที่เพิ่งแตกหนุ่มแตกสาวย่างเข้าสู่วัยรุ่นที่เรียกกันว่า ‘Puppy Love’ ในที่สุด (แม้ในความเป็นจริง ฝ่ายหญิงคือแวมไพร์ ที่มีอายุอานามล่วงเลย จนไม่เคยนับว่ากี่ปี และไม่อาจระบุเพศตัวเองได้เสียด้วยซ้ำ)
แวมไพร์ในเวอร์ชั่นต้นฉบับจากสวีเดน ดูจะโดดเด่นในเรื่องของบรรยากาศ ที่ขับเน้นให้เห็นถึงความโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงาในย่านชานเมือง ที่ดูจะห่างไกลผู้คน ตั้งแต่หิมะที่ตกโปรยปรายไม่มีวันหยุดจนทำให้ทั้งเมืองขาวโพลน ความเงียบสงบของเมืองเล็กๆ ที่แทบจะนับหัวประชากรให้ครบได้ไม่ยาก รวมไปถึงช่วงเวลากลางวันอันแสนสั้น โดยที่เรื่องราวส่วนใหญ่ล้วนเกิดขึ้นในช่วงพลบค่ำไปจนถึงกลางดึกสงัด แน่นอนว่า ‘แรงขับ จากความเหงา’ ได้กลายเป็นปัจจัยสนับสนุนอันสำคัญที่ทำให้คนคู่หนึ่งชะตาต้องตรงกัน จนผูกสัมพันธ์แนบแน่นในที่สุด
ขณะที่บรรยากาศ เมื่อฮอลลีวู้ดนำมาดัดแปลงใหม่ ความเหงาเงียบ เวิ้งว้าง ร้างผู้คนดูเหมือนจะหายไป แม้หนังจะกำหนดให้เรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้น ณ ย่านชานเมืองเล็กๆ ประชิดชายแดนแสนห่างไกลอย่างเมืองลอส อมอส ในรัฐนิวเม็กซิโก มีหิมะตกโปรยปรายไม่ต่างกัน แต่กระนั้นความวุ่นวายในแบบอเมริกันชน หรือความเป็นสังคมเมืองเล็กๆ ที่ผู้คนล้วนเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่ง ก็ทำให้ตัวละครสำคัญคือเด็กชายโอเว่น ที่ดูเหมือนจะแปลกแยก หาได้เกิดจากความเหงา แต่ดูเหมือนว่าเขาเป็นเด็กมีปัญหาซะมากกว่า (หนังขับเน้นเหลือเกินว่า เขามีแม่ที่ไม่ใส่ใจลูก, มีพฤติกรรมค่อนข้างผิดแปลกแตกต่างจากเด็กวัยเดียวกัน อาทิ ตั้งกล้องส่องทางไกลเอาไว้ในห้องนอนเพื่อคอยแอบดูเพื่อนบ้าน) แถมหน้าตาท่าทางเจ้าหนูยังกระเดียดไปทางพวกจิตป่วยซะอีก
เมื่อ “Let Me In” ไม่สามารถสร้างบรรยากาศความเหงาได้จับใจเหมือนในต้นฉบับ เจ้าหนู ‘โอเว่น’ ที่ดูเหมือนเด็กมีปัญหาในเวอร์ชั่นฮอลลีวู้ดก็เลยถูกรังแกหนักข้อกว่าในต้นฉบับ “Let the Right One In” ของสวีเดน แน่นอนว่า เมื่อมาถึงมือฮอลลีวู้ดเมื่อไหร่ หนังเป็นต้องให้ภาพความรุนแรงมากขึ้นทุกที (ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ หนัง ‘แวมไพร์ ร้ายเดียงสา’ เวอร์ชั่นนี้โรแมนติกน้อยลง) และแน่นอนอีกเช่นกันว่า วิธีการเล่าเรื่องของฮอลลีวู้ดต้องมากด้วยลีลา ลูกเล่น ที่พยายามทำให้แตกต่างและสร้างความแปลกใหม่จากต้นฉบับในเวลาเดียวกัน (ก็แน่ล่ะ ถ้าหนังเหมือนต้นฉบับเดิมทุกอย่าง จะมาเสียเวลาดูเวอร์ชั่นรีเมกทำไม)
“Let Me In” กำหนดให้เรื่องราวย้อนกลับไปในช่วงยุค 1980 เปิดเรื่องด้วยอุบัติเหตุที่เกิดกับชายคนหนึ่งซึ่งเต็มไปด้วยเงื่อนงำ และเมื่อเกิดเหตุการณ์ประหลาดซ้ำสอง หนังก็ย้อนกลับไปอธิบายที่มาของสิ่งที่เกิดขึ้น จากนั้นเรื่องราวทั้งหมดก็ดำเนินต่อไป
ใน “Let the Right One In” ทั้งเจ้าหนูขี้เหงาและแวมไพร์ในร่างเด็กสาวรุ่นราวคราวเดียวกัน ต่างดูเป็นคนธรรมดาๆ ที่ไม่ได้มีบุคลิกหน้าตาผิดแผกแตกต่างจากคนทั่วไป ทั้งคู่แค่มาเจอกันในวันเหงาๆ โดยบังเอิญ ขณะที่ “Let Me In” ดูเหมือนจะพยายามสร้างความแปลกประหลาดผิดมนุษย์มนาให้แก่ทั้งคู่ โดยเฉพาะสาวน้อย ‘แอ็บบี้’ ที่ต้องเดินเท้าเปล่าเปลือยตลอดทั้งเรื่อง (และก็ไม่ยักกะมีคนสงสัยในพฤติกรรมประหลาดของเธอ ทั้งๆ ที่อากาศหนาวเหน็บขนาดนั้น)
“Let the Right One In” อาจจะให้ความรู้สึกโรแมนติกกว่า ชวนฝันกว่า และดูเป็นหนังรักมากกว่าหนังแวมไพร์ ในขณะที่ “Let Me In” อาจจะดูสนุกกว่าในแนวทางของหนังเขย่าขวัญ มีลูกเล่นในวิธีเล่าเรื่อง และความหวือหวาด้านภาพที่ชวนให้ตื่นเต้นเร้าใจในเวลาเดียวกัน ถ้าผลลัพธ์ของงานรีเมกชิ้นนี้คือการให้อรรถรสที่แตกต่าง ก็ไม่ถือว่าน่าผิดหวังแต่อย่างใด และโดยเฉพาะเมื่อรู้ว่าผู้กำกับเวอร์ชั่นฮอลลีวู้ดเป็นคนเดียวกับที่ทำหนังสัตว์ประหลาดถล่มโลกเรื่อง “Cloverfield” และหนังซอมบี้คืนชีพอย่าง “28 Weeks Later”
ชื่อเรื่อง : Let Me In
ผู้เขียนบท - กำกับ : Matt Reeves
นักแสดง : Chloe Grace Moretz, Kodi Smit McPhee
เรตติ้ง : น.18+ ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้ชมอายุ 18 ปีขึ้นไป
วันที่เข้าฉาย : 25 พฤศจิกายน 2553
"ณัฐพงษ์ โอฆะพนม"