
ความเข้าใจในศิลปะของ น้ำตาลแดง 2 และ ที่รัก
เกินกว่าผู้ชมส่วนใหญ่จะเข้าใจได้ ค่ายหนังบางแห่ง ผู้กำกับบางคน หรือสื่อบางสำนัก ก็เลยสมอ้างเอาว่า นี่คือหนัง อาร์ต
ถ้าความนิ่งเนิบ อ้อยอิ่ง เล่าเรื่องไม่ปะติดปะต่อ ยาก และที่ผ่านมา หนังอย่าง “น้ำตาลแดง” ทั้งสองภาค ก็อาจจะถูกตั้งคำถามว่า จริงๆ แล้ว มันคือ ‘หนังอาร์ต’ หรือ ‘หนังโป๊ดาษๆ’ ที่คนทำหนังมือใหม่ ใช้เป็นเวทีทดลองอะไรบางอย่าง
ช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน มีหนังไทยที่ฉายในเทศกาลเวิลด์ ฟิล์ม เรื่อง “ที่รัก” ซึ่งแม้จะเล่าด้วยลีลาคล้ายๆ กัน โดยไม่มีฉากหวือหวาเร้าใจ อีกทั้งดำเนินเรื่องด้วยจังหวะที่ช้ากว่ามาก บางฉากบางตอน พฤติกรรมของตัวละครชวนให้งุนงงสงสัย แต่เมื่อหนังเดินทางมาถึงจุดหนึ่ง ฉากที่ว่าก็ได้รับการคลี่คลาย และยังช่วยอธิบายถึงความหมายของชีวิตในโลกหลังความตายอีกแบบหนึ่ง
“ที่รัก” ไม่ได้สร้างปัญหาในด้านการรับรู้และเข้าใจ ที่สำคัญกลับทำให้คนดู(โดยเฉพาะผม) เกิดอารมณ์ร่วม ซึมซับไปกับ บรรยากาศ ตัวละครและห้วงเวลาในหนัง ถึงขั้นส่งอิทธิพลต่อความรู้สึก เหมือนกับตกอยู่ในภวังค์ของหนังไปชั่วขณะ…
หนังสั้นเปิดเรื่องใน “น้ำตาลแดง 2” น่าจะเป็นตอนที่สมบูรณ์ที่สุดแล้วในจำนวนสี่เรื่อง ทั้งวิธีการเล่าเรื่องตามขนบหนังร่วมสมัยทั่วไป และด้วยข้อจำกัดของเวลา จังหวะการตัดต่อของหนังจึงกระชับฉับไว งานด้านภาพที่เน้น Close Up เป็นพิเศษ ถือเป็นการรับใช้ประเด็นในหนังซึ่งว่าด้วย อารมณ์ปรารถนาที่ซ่อนอยู่ในก้นบึ้งจิตใจของคู่รักคู่หนึ่ง ทะเล้นทะลักผ่านเครื่องมื่อสื่อสารสมัยใหม่ด้วยเหตุบังเอิญ ในขณะที่เรื่องถัดมา จังหวะและอารมณ์ของหนังกลับเปลี่ยนไปเป็นตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง
‘ทฤษฎีบนโต๊ะอาหาร’ คือเรื่องที่ว่านั้น นอกจากตั้งชื่อชวนให้งุนงงสงสัยแล้ว ตัวหนังก็ดูเหมือนจะไม่ได้สื่อความหมาย เปรียบเทียบ หรือแม้แต่จะแสดงนัยใดใด ในอันที่จะชี้ชวนให้นึกถึง ทฤษฎีทางจิตวิทยา หรืออุปมาอุปไมยให้ความต้องการทางเพศของมนุษย์สำคัญเทียบเท่าอาหาร หนังทำได้แค่เล่นกับสไตล์นิ่งๆ (แบบที่หนังสั้นชอบทำกัน) ประดิดประดอยกับองค์ประกอบภาพเก๋ๆ (ซึ่งก็ไม่รู้เหตุผลว่าทำไม) การแสดงอันแข็งขืน ประดักประเดิด บทสนทนาแปร่งหู และยังพยายามใช้บทกวีเพื่อสื่อสารอะไรบางอย่าง แต่ก็ไม่น่าจะบรรลุเป้าหมาย เพราะสุดท้าย ทุกๆ วิธีการที่ใช้ใน ‘ทฤษฎีบนโต๊ะอาหาร’ ล้วนแต่ไม่ได้โน้มนำ ชี้ชวนให้รู้สึกหรือคิดตาม หรือการโพสท่านิ่งๆ สวยๆ ของสองสาวบนโต๊ะอาหารในฉากสุดท้าย ประหนึ่งราวกับภาพเขียน ประติมากรรมหรือละครเวทีอะไรก็แล้วแต่ โดยมีเด็กชายตาบอดนั่งเหม่อลอยอยู่เบื้องหลัง กลายเป็น Composition ประหลาดๆ กับเนื้อหาที่แทบจับต้องอะไรไม่ได้ นอกจากฉากโชว์เนื้อหนังมังสาหน้าอกหน้าใจแวบๆ ของดาราสาวคนหนึ่งเท่านั้น
ในขณะที่บทกวีของสุนทรภู่ ที่ปรากฏอยู่ในช่วงท้ายของหนัง “ที่รัก” ถือเป็นการนำมาวางไว้ได้อย่างถูกที่ถูกทาง ผ่านการอ่านบทอาขยานบนกระดานดำของเด็กๆ ในห้องเรียน อันชวนให้รู้สึกซาบซึ้งประทับใจกับเรื่องราวความรักที่พลัดพรากไปอย่างไม่มีวันกลับของหนุ่มสาวคู่หนึ่ง
ตอนที่สามของ “น้ำตาลแดง 2” ในชื่อ ‘หลุมพราง’ หนังที่ดูเหมือนจะเดินมาทาง ‘Pysho-Thriller’ มีแง่มุมทางจิตวิทยา เจืออารมณ์เขย่าขวัญ ออกไปในทางพิศวาสฆาตกรรม แต่ดูเหมือนหนังจะพยายามเล่นกับความซับซ้อนของ ‘ซับพล็อต’ มากเกินไป และคนทำหนังยังมือใหม่เกินกว่าจะควบคุมทิศทางได้ ทั้งยังเล่นสนุกในบางจังหวะจนหนักมือไปบ้าง สุดท้ายแนวทางที่วางไว้แต่แรกซึ่งค่อนข้างน่าสนใจ ก็ไม่ได้ทำให้หนังชวนติดตาม รวมทั้งนักแสดงหน้าใหม่ที่กระดูกยังอ่อนหัดเกินกว่าจะมารับบทนำในหนังที่เล่นกับความคลุมเครือเคลือบแคลงแบบนี้ได้ เสียดายก็แต่ ปรางทอง ชั่งธรรม ที่สู้อุตส่าห์เปลืองเนื้อเปลืองตัว และพยายามรักษามาตรฐานการแสดงของตัวเองเอาไว้เมื่อเทียบกับผลงานเก่าๆ ที่ผ่านมา แต่เมื่อมาอยู่ในหนังที่คนทำขาดความแม่นยำแล้ว สุดท้ายความตั้งอกตั้งใจของเธอก็เป็นอันสูญเปล่าไปในที่สุด
‘คู่รักบนดาวโลก’ กับการพยายามโชว์เทคนิคการสร้างภาพพิเศษ เพื่อให้สอดรับการสไตล์ของหนังที่ออกไปในแนวเหนือจริง โดยมีเนื้อหาบางๆ อันว่าด้วยการเปรียบเทียบความรักและเซ็กส์ของหนุ่มสาวคู่หนึ่งในเชิงอุปมาไมย แต่ความพยายามดังกล่าว ก็ไม่สามารถจับต้องได้ในเชิงการรับรู้ของผู้ชมแม้แต่น้อย ซ้ำร้ายเพราะโจทย์ของคำว่า ‘หนังอีโรติก’ นี่แหละ ที่หนังดูเหมือนจะมีสไตล์ อันไปกันได้กับการเล่าเรื่อง ซึ่งว่าด้วยการให้ความสำคัญกับความรักของหญิงสาว และชายคนรักที่พยายามจะมีเพศสัมพันธ์กับเธอ การสร้างภาพพิเศษเพื่อใช้สื่อความหมายในการเปรียบเทียบความเปราะบางระหว่างรักกับเซ็กส์ เกือบจะได้ผลอยู่แล้ว หากไม่มีฉาก ‘อย่างว่า’ อันดุเด็ดเผ็ดร้อนบนเตียงเข้ามาสนองตัณหา (ที่พยายามโอ้โลมประติโลมกันมาตั้งแต่ต้นเรื่อง) เสียก่อน
การตั้งกล้องนิ่งๆ แช่ภาพนานๆ เล่าเรื่องช้าๆ อาจจะเป็นสไตล์ของหนังประเภทหนึ่ง ซึ่งบางคนอาจจะเรียก ‘หนังอาร์ต’ ‘หนังอินดี้’ ‘หนังแนวๆ’ ‘หนังนอกกระแส’ หรืออะไรก็ตามแต่ แต่การที่ “น้ำตาลแดง” ทั้งสองภาค พยามบอกกับคนดูว่านี่คือหนังอาร์ตอีโรติก เต็มไปด้วยซิมโบลิคมากมาย ผมกลับไม่เคยรู้สึกเห็นพ้อง สังเกตได้ หรือตีความตามอย่างที่หนังพยายามเอ่ยอ้างแม้แต่น้อย และเมื่อเทียบกับ “ที่รัก” หนังที่ไม่เคยประกาศตัวว่าเป็นหนังอาร์ต หนังอิสระ หรือพยายามจะนอกกระแสใดๆ หนังที่แทบไม่มีฉากเร้าอารมณ์ ไม่มีการตัดต่อหวือหวา หรือมุมภาพประหลาดๆ มีเพียงตัวละครไม่กี่คนท่ามกลาง ทุ่งกว้าง บึงใหญ่ บ้านไม้มีใต้ถุน ตลอดจนมวลอากาศและสรรพสำเนียงของธรรมชาติในหนัง ล้วนแต่โอบรัดให้ตรึงอยู่กับเก้าอี้โดยไม่มีเบื่อหน่าย (ผมหนังดูจนกระทั่งตัวอักษรสุดท้ายในเอนด์เครดิต เลือนหายไปจากจอ)
ทุกๆ ห้วงเวลาของความเชื่องช้าในหนัง ผมกลับเข้าอกเข้าใจอย่างลึกซึ้ง อ่านสัญลักษณ์บางอย่าง และสามารถถอดความหมายที่สร้างความสงสัยในบางช่วงเวลาได้หลังหนังจบ และรู้สึกว่านี่คือหนัง ‘อาร์ต’ เพราะแต่ละภาพที่ปรากฏบนจอนั้นงดงามเหมือนงานศิลปะที่ถ่ายทอดบรรยากาศของชุมชนเล็กๆ ในต่างจังหวัดออกได้อย่างสวยบริสุทธิ์ชนิดที่ไม่เคยรู้สึกได้ขนาดนี้มาก่อน ทั้งยังจดจำตัวละครได้ขึ้นใจ แม้หนังแทบจะไม่จับภาพใบหน้าใกล้ๆ ของ ‘วิทย์’ และ ‘ก้อย’ ให้เห็น การแสดงออกถึงความรักต่อกันแบบเชยๆ ของทั้งคู่ บทสนทนาที่ไร้คำหวานหูหรือสวยหรูด้วยพรรณนาโวหาร กลับไม่ได้เป็นอุปสรรคต่ออารมณ์ร่วม ที่วินาทีนี้ ยังคงรับรู้และนึกถึงอยู่เสมอแม้จะดูจบไปแล้วหลายวัน (ซึ่งก็เป็นเวลาไล่เลี่ยกันกับที่ได้ดู “น้ำตาลแดง 2”)
“ที่รัก” เป็นหนังรักเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ แต่ให้คุณค่าทางใจอย่างมหาศาล เมื่อเทียบกับหนังที่ประกาศศักดาว่าตัวเองเป็นอย่างนั้นอย่างโน้น แต่สุดท้ายก็แค่เปลือกที่หลอกตัวเอง รวมทั้งคน (ที่หลงเข้าไป) ดู แค่เพราะเชื่อในคำโฆษณาไม่กี่วินาที ซึ่งมันอาจจะดีกว่าตัวหนังจริงๆ เสียอีก
"ณัฐพงษ์ โอฆะพนม"