
กวนเพลงให้น้ำใส - อิเล็กทรอนิกส์ เรโทร ฟอร์มใหม่ของเพลงคลาสสิก
วิลเลียม ออร์บิท จัดเป็นเจ้าพ่อวงการเพลงแอมเบียนท์, อิเล็กทรอนิกเฮ้าส์ ที่เป็นทั้งนักแต่งเพลง รีมิกเซอร์ และโปรดิวเซอร์ของวงการเพลงระดับโลก
แฟนเพลงทั่วไปน่าจะรู้จักคุ้นเคยเขาอยู่บ้าง จากการร่วมงานกับดีว่าแห่งวงการเพลงแดนซ์ อย่าง “มาดอนนา” ในฐานะโปรดิวเซอร์อัลบั้ม “เรย์ ออฟ ไลท์” หรือจะเป็นแก๊งบริทป๊อปอย่าง “เบลอ” ด้วยอัลบั้ม “13” ซึ่งเขาเองก็เคยลงมือโปรดิวซ์มาแล้ว
สำหรับงานเดี่ยวล่าสุดของเขา “พีเซส อิน อะ โมเดิร์น สไตล์ ทู” (Pieces in a Modern Style 2) เป็นคอนเซ็ปต์เก่าของ วิลเลียม ออร์บิท จากชุดที่แล้ว นั่นคือการนำเพลงคลาสสิกตะวันตกท่อนใดท่อนหนึ่งมารีมิกซ์ใหม่นั่นเอง
ไม่บ่อยครั้งนักที่นักดนตรีในสายอิเล็กทรอนิกส์จะทดลองโจทย์งานเพลงคลาสสิกคอล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหยิบจับผลงาน หรือบางท่อนของซิมโฟนีอันเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายอยู่แล้วมาตีความหมายใหม่
สำหรับมุมมองของออร์บิทนั้น เขาสารภาพว่า...
“ผมไม่เขียนหรืออ่านเพลง แต่ใช้ความเข้าใจมากกว่า... และผมต้องการจะเข้าใจว่าเหตุใดเพลงคลาสสิกจึงน่าหลงใหลนัก สามารถนำพาให้เรารู้สึกดื่มด่ำไปกับสิ่งนั้นๆ โดยเต็มเปี่ยมด้วยความท้าทาย และจินตนาการมากมาย”
การรีมิกซ์ผลงาน 14 เพลงในอัลบั้มนี้ ส่วนมากนำมาจากบทประพันธ์ในช่วงปลายยุคโรแมนติก ต่อเนื่องมาถึงช่วงยุคร่วมสมัย เริ่มแทร็กแรกด้วย “อะควอเรียม” (Aquarium) ท่อนที่ 7 จาก “เดอะ คาร์นิวัล ออฟ ดิ แอนิมอลส์” (The Carnival of the Animals) เดิมเป็นการบรรเลงด้วยเครื่องสาย เปียโน และโดดเด่นด้วยเสียงฟลุต เป็นผลงานที่มีการเคลื่อนไหวมากมาย ลึกลับ และซับซ้อน
ต่อเนื่องด้วย “นิมร็อด” (Nimrod) จากบทประพันธ์ “เอนิมา แวริเอชั่นส์” (Enigma Variations) ของคีตกวีชาวอังกฤษ “เซอร์ เอ็ดเวิร์ด เอลการ์” ซึ่งนิมร็อดเป็นแวริเอชั่นที่ 9 ที่โด่งดัง เมื่อผ่านฝีไม้ลายมือของออร์บิท ทำให้ช่วงกลางๆ เพลง แปรเปลี่ยนเป็นเพลงแอมเบียนท์ดีๆ นี่เอง
ถัดจากนั้น มาถึง “เพียร์ จินท์” (Peer Gynt) ผลงานของนักแต่งเพลงชาวนอร์เวย์ “เอ็ดเวิร์ด กรีกจ์” จากผลงาน “มอร์นิ่ง มู้ด” (Morning Mood) เมื่อเริ่มต้นเพลง ฟังเผินๆ ชวนให้นึกถึงเพลงบริทป๊อปต้นยุค 90 ก่อนจะค่อยๆ ละลายเป็นท่วงทำนองที่คุ้นเคยมากขึ้น เรียกได้ว่าถูกนำไปตีความ หรือนำไปใช้ประกอบการแสดงมากมาย อย่างไรก็ดีออร์บิทรังสรรค์ให้ออกมาในสไตล์ซาวนด์แบบ 8 บิท เรโทรหน่อยๆ ทำให้นึกถึงคีย์บอร์ดเด็กเล่นที่มีจังหวะสำเร็จรูป แถมมาให้เลือกเล่นได้
ภาพรวมของแผ่นแรก เป็นการรวบรวมและตีความโดยออร์บิทเป็นหลัก เหมาะสำหรับการฟังแบบชิลๆ ขับกล่อมวิถีแบบสโลว์ไลฟ์ของคนเมืองที่โหยหาการผ่อนคลายรูปแบบดีๆ โดยมีกลิ่นอายคลาสสิกผสมความเป็นแอมเบียนท์เฮ้าส์ที่ยังร่วมสมัยอยู่
ส่วนซีดีแผ่นที่ 2 มีจังหวะจะโคนและบีทที่หนักหน่วงขึ้นมา บางเพลงมีนักดนตรี ดีเจแนวเทคโนมารีมิกซ์ใหม่ ฟังแล้วสำหรับคนรุ่นใหม่อาจจะให้ความรู้สึกปลดปล่อย เป็นธรรมชาติ และคุ้นหูนักฟังแนวอิเล็กทรอนิกามากกว่าแผ่นแรกอย่างไม่ต้องสงสัย
ถือเป็นการนำเพลงคลาสสิกจากโลกอดีตมารับใช้ปัจจุบัน (เรโทร) ด้วยมุมมองการนำเสนอ 2 แบบ 2 สไตล์ที่มีแง่มุมให้ค้นหา และขึ้นอยู่กับว่าคุณจะเลือกฟังในห้วงอารมณ์แบบใด
"อนันต์ ลือประดิษฐ์"