บันเทิง

มองผ่านเลนส์คม-80ปีจิตร ภูมิศักดิ์

มองผ่านเลนส์คม-80ปีจิตร ภูมิศักดิ์

18 ต.ค. 2553

ยามที่เดือนตุลาคมมาถึง ในวาระแห่งการรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 และ 6 ตุลา 19 มีบุคคลคนหนึ่งที่คนรุ่นนั้น ควรนึกถึงเป็นคนแรกๆ คือ จิตร ภูมิศักดิ์

 "แม้ว่าอายุขัยของจิตร จะสิ้นเพียง 36 ปี (2473-2509) แต่ทว่าอุดมคติของจิตร มิได้สิ้นสลายไปตามร่างกายไม่ ดังจะเห็นได้จากการเป็นแรงบันดาลใจให้แก่คนหนุ่มสาวหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จนเรื่องราวของเขากลายเป็นที่กล่าวขาน

 "กล่าวได้ว่า จิตร ได้เกิดใหม่เป็นครั้งที่ 2 และเป็นชีวิตที่ไม่ได้ดับสิ้นตามสังขารจนถึงปัจจุบัน"

 ข้อความข้างต้นเป็นหลักการและเหตุผล ของโครงการ 80 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ (2475-2553)

 โดยภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และมูลนิธิจิตร ภูมิศักดิ์ จะจัดงานสัมมนาวิชาการ ระหว่างวันที่ 29-30 ตุลาคมศกนี้

 วันแรก ภาคเช้าจะมีการเสวนาเรื่อง "แง่มุมทางประวัติศาสตร์การเมืองและวัฒนธรรมของ จิตร ภูมิศักดิ์"

 ภาคบ่าย จะเป็นการเสนอบทความวิชาการเกี่ยวกับ จิตร ภูมิศักดิ์ โดยนักวิชาการรุ่นใหม่ อาทิ ศิโรฒน์ คล้ามไพบูลย์, บาหยัน อิ่มสำราญ, ธิกานต์ ศรีนารา, ยุกติ มุกดาวิจิตร, วิลลา วิลัยทอง และเก่งกิจ กิติเรียงลาภ

 วันที่สอง เริ่มงานบ่ายโมง มีการเสวนาเรื่อง "จิตร ภูมิศักดิ์ ในความเห็นของคนรุ่นใหม่" และปิดท้ายด้วยการแสดงดนตรี และละครเรื่อง "มนต์รักเสียงกระดึง" ณ ห้องโถง 101 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ

 สำหรับรายการเสวนาจัดที่ห้อง 105 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์เหมือนกัน จึงขอเชิญชวนท่านผู้สนใจเข้าร่วมงานตามวันเวลาดังกล่าว ซึ่งในฐานะผู้ได้แรงบันดาลใจจากชีวิตและผลงานของจิตร ก็อยากให้คนรุ่นใหม่ได้ไปสัมผัสเรื่องราวและผลงานของปัญญาชนผู้อุทิศตนเพื่อผู้เสียเปรียบทางสังคม

 ก่อนหน้านั้น ได้มีการก่อตั้ง "มูลนิธิจิตร ภูมิศักดิ์" โดยอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ร่วมกับเพื่อนมิตรอีกมากหน้าหลายตา ซึ่งมีความตั้งใจจะเผยแพร่ผลงานวิชาการที่มีคุณค่าของจิตร และส่งเสริมอุดมการณ์การเสียสละเพื่อสังคมส่วนรวมให้กว้างขวางต่อไป

 และได้ข่าวว่า มูลนิธิก็มีโครงการจัดสร้างอนุสรณ์สถานจิตร ภูมิศักดิ์ ที่บ้านหนองกุง อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร อันเป็นจุดที่ชายหนุ่มในนาม "นักปฏิวัติ" ถูกล้อมยิงเสียชีวิต

 วันนี้ที่บ้านหนองกุง ยังเป็น "แหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์" ของปัญญาชนคนนี้ โดยความร่วมมือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชาวบ้าน

 ผู้ใดที่ผ่านไปแถวนั้น ก็แวะชมอนุสรณ์สถานชั่วคราวได้ หาไม่ยาก เพราะมีป้ายบอกสถานที่ชัดเจน
 
 "เขาตายในชายป่า แต่ต่อมาก้องนาม..." ซึ่งนามของจิตร ได้กลายเป็น "บุคคลสำคัญ" ของหมู่บ้านไปเรียบร้อยแล้ว

 แคน สาริกา