บันเทิง

เสน่ห์ศิลป์บนปกแผ่นเสียง 
ที่ดีเจยุคนี้ไม่มีโอกาสสัมผัส

เสน่ห์ศิลป์บนปกแผ่นเสียง ที่ดีเจยุคนี้ไม่มีโอกาสสัมผัส

13 ต.ค. 2553

เทคโนโลยีทำให้วิธีการฟังเพลงหรือเปิดเพลงสะดวกง่ายดายมากขึ้น ขณะที่เรามีอุปกรณ์อันเท่านิ้วมือที่สามารถบีบอัดบรรจุเพลงนับร้อยลงไปไว้ได้ แต่มันไม่ได้ทำให้อุปกรณ์อย่างแผ่นเสียงลองเพลย์แผ่นใหญ่ที่บรรจุได้ราวๆ 10เพลงหายไปจากโลก เพราะยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังหล

 เมื่อถามแรงบันดาลใจของนักสะสมแผ่นเสียง นอกจากการตกหลุมรักในความไพเราะและเสียงที่ลุ่มลึกของการเล่นเพลงจากแผ่นแล้ว เสน่ห์อีกอย่างของแผ่นเสียงคือ ความสวยงามของภาพเขียนที่ถูกแต่งแต้มลงบนปกแผ่นเสียงโดยเริ่มจากเพลงลูกกรุง ก่อนแพร่หลายสู่เพลงลูกทุ่งในเวลานั้น

 ทีมข่าว "คม ชัด ลึก" จะพาไปสัมผัสที่มาที่ไปของศิลปะบนปกแผ่นเสียงเพลงลูกทุ่งกันว่า เริ่มมาอย่างไร
 "ยุคปี 2500 ปกแผ่นเสียงของนักร้องดังหลายคนมีสีสัน ข้อความและภาพวาด สวยงาม ยุคนั้นภาพต่างๆ บนปกแผ่นเสียงจะมีชื่อของคนวาดอยู่ด้านล่างด้วยเช่นชื่อ ชวนะ-เคิน-น้อย หรือ สุรินทร์ ปิยนันท์ คนหลังนี้เป็นนักร้อง นักแต่งเพลง และก็เป็นหัวหน้ารำวงคณะ "สามย่าน" ช่วงที่แผ่นเสียงขนาด 78 ตอนนั้นยังไม่มีปกมีแค่กระดาษห่อ พอมาแผ่นเสียงยุคสปีด 45 ก็เริ่มมีปกส่วนใหญ่จะเป็นเพลงลูกกรุง แผ่นเสียงเพลงลูกทุ่งยังไม่มี"

 ครูสุรินทร์ ภาคศิริ เล่าถึงยุคต้นๆ ของการวาดภาพบนปกแผ่นเสียง ซึ่งหลายคนอาจจะสงสัยว่า ปกแผ่นเสียงยุคนั้นมักเป็นภาพทิวทัศน์หรือดาราดังๆ อาทิ มิตรชัย บัญชา เพชรา เชาวราษฎร์ แทนที่ ภาพนักร้อง

 "ที่ไม่มีรูปนักร้องลงบนปกแผ่นเสียงเพราะว่า สมัยนั้น มีแต่ภาพขาวดำอย่างเดียว ภาพสีไม่มี มันไม่สวย เขาก็เอาภาพวิวบ้าง ดาราดังๆ บ้างที่เป็นขาวดำมาระบายสีใส่เข้าไปให้สวยงาม บนปกแผ่นเสียงบางแผ่นอาจจะไม่ได้สื่อหรือบอกอะไรเลยเกี่ยวกับเพลงชุดนั้น เพราะการวาดภาพบนปกแผ่นเสียงสมัยนั้น เวลาเขาทำนายห้างแผ่นเสียงเขาจะพิมพ์ปกเขาก็จะโทรสั่งไปที่โรงพิมพ์ แล้วโรงพิมพ์ก็จะไปจ้างนักเขียนภาพเขียนอีกที สมัยนั้นโรงพิมพ์ มีหลายแห่งเช่น จีระการพิมพ์ สมชายบล็อก อันนี้เขาดังมาก แล้วก็ บล็อกวิจิตร“

 ส่วนที่มาที่ไปของภาพวาดบนปกแผ่นเสียงลูกทุ่งในยุคต่อมานั้น มีขึ้นภายหลังจากยุคภาพยนตร์เพลงโด่งดังขึ้นมา จึงเป็นการจุดประกายให้แผ่นเสียงลูกทุ่งนิยมวาดภาพบนปกแผ่นเสียง

 "มาปี 2513-2514 ก็มายุคของเปี๊ยก โปสเตอร์ เขียน ภายหลังจากหนังเรื่อง ชาติลำชี กับ มนต์รักลูกทุ่ง โด่งดัง เพลงประกอบก็จะใช้ภาพวาด ซึ่งเปี๊ยกเป็นคนเขียน ตอนนั้นเขาเขียนโปสเตอร์หนังดังหลายเรื่อง ทีนี้คนทำแผ่นเสียงเพลงลูกทุ่งก็เห่อตาม ห้างคาเธ่ย์เลยเริ่มทำการวาดภาพบนปกแผ่นเสียง นับจากนั้น ห้างแผ่นเสียงอื่นๆ อาทิ ลัคกี้แบมบู ห้างแผ่นเสียงกรุงไทย ล้วนเป็นฝีมือของเปี๊ยก โปสเตอร์ทั้งนั้น ทั้งปกของ ปรีชา บุญเกียรติ คำรณ สัมปุณนานนท์ ก่อนที่จะมาซาๆ ลงไป หลังๆ เปี๊ยกเขางานเยอะก็มีเป๋ โปสเตอร์ และยังมีคนที่เขียนภาพบนปกแผ่นลูกทุ่งเยอะคือ "สุเมฆ" รองลงมาก็ ”สมาน" พอมีระบบออฟเซ็ทแพร่หลายเข้ามาภาพเขียนก็เริ่มหายไปแล้วเปลี่ยนมาเป็นรูปของนักร้อง ห้องภาพสมัยนั้นที่ดังๆ ก็มี ห้องภาพ "ธนูศิลป์" อยู่เชิงสะพานพุทธ ห้องภาพที่ดังสุดก็คือ "รังสิมันต์ " อยู่แถวๆ ถนนจรัญสนิทวงศ์"

 ด้าน เปี๊ยก โปสเตอร์ ผู้กำกับภาพยนตร์ดังในวัย 78 ปี เล่าถึงอดีตที่เคยเขียนภาพบนปกแผ่นเสียงลูกทุ่งให้ฟังว่า
 "ห้างแผ่นเสียงคาเธ่ย์ เป็นคนมาจ้าง ผมเขียนอยู่ 3-4 ปี ผมเขียนให้เขาเจ้าเดียวเลย อยู่ๆ เขาก็หายไป เวลาเขียนก็ตามใจเราว่าจะเขียนรูปอะไร ตามความเหมาะสม เน้นความสวยเป็นหลัก หลังๆก็มาเขียนรูปนักร้องบ้าง แผ่นหนึ่งก็ใช้เวลาเขียนวันหนึ่งก็เสร็จ ค่าจ้างก็ประมาณ 400-500 บาท ผมจำไม่ได้ว่าเขียนแผ่นลูกทุ่งแผ่นแรกกับนักร้องคนไหน มันนานมากแล้ว"

 ในแวดวงของนักสะสมแผ่นเสียง ปกแผ่นเสียงที่สวยงามและหายากนั้นมีราคาซื้อขายกันสูงมากในปัจจุบัน เพราะหมายถึงการได้เก็บงานศิลปะล้ำค่าทั้งเสียงและภาพ

 น่าเสียดายที่นักจัดรายการหรือดีเจยุคใหม่ๆ ไม่เคยได้สัมผัสกับการจัดรายการด้วยแผ่นเสียงที่ต้องค่อยๆประคองแผ่นวางบนเครื่องเล่น นอกจากจะได้ซึมซับความงามของงานศิลปะบนปกแผ่นแล้ว บนปกยังรายละเอียดคนทำงานเบื้องหลัง เนื้อเพลงและข้อมูลพิเศษอื่นๆ เพราะปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่สถานีวิทยุจะเล่นเพลงจากคอมพิวเตอร์ซึ่งบีบอัดเพลงเป็นเอ็มพี3 โดยมีเพียงแค่ชื่อเพลงหรือรูปหน้านักร้องเล็กๆ บนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้ได้เห็นเท่านั้น