บันเทิง

อินทรีแดง

อินทรีแดง

07 ต.ค. 2553

ผมเคยตั้งความหวังกับหนังไทยผ่านคอลัมน์นี้หลายครั้งแล้วนะครับว่า อยากเห็นหนังการเมืองปรากฏบนจอสักครั้ง ในช่วง 10 ปีให้หลังมานี้ มีหนังการเมืองไทยค่อนข้างน้อย-น้อยมาก เท่าที่จำได้ก็เช่น “14 ตุลา สงครามประชาชน” ที่บอกเล่าเรื่องราวแต่หนหลังของนักคิด-นักเขียน-

 หนังประวัติศาสตร์ซึ่งเทน้ำหนักไปยังประเด็นการเมืองในราชสำนัก ไม่น้อยไปกว่าการเชิดชูวีรกรรมของกษัตริยาเรื่อง “สุริโยไท” หรือหนังที่ดัดแปลงจากนวนิยายคลาสสิกอย่าง “ทวิภพ” (ฉบับของผู้กำกับ สุรพงษ์ พินิจค้า) ที่ก้าวพ้นจากเรื่องรักประโลมโลก ไปสู่หนังที่ว่าด้วยการใช้การเมืองเพื่อปกป้องการรุกรานทางอารยธรรมและอธิปไตยของชาติตะวันตก จากพระปรีชาสามารถองค์พระมหากษัตริย์ไทย จนกระทั่งเมื่อสองปีก่อน หนังที่แม้จะไม่วิพากษ์การเมืองตรงๆ แต่ “กอด” และ “ท้าชน” ก็แฝงนัยทางการเมืองเอาไว้ได้ค่อนข้างน่าสนใจทีเดียว(ยังไม่นับรวมหนังสารคดีการเมืองจ๋าเรื่อง “พลเมืองจูหลิง” และ “The Truth Be Told” ที่สะท้อนปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันเกิดจากภาครัฐ และการถูกคุกคามโดยฝ่ายการเมืองของนักสื่อสารมวลชนหญิงคนสำคัญ สุภิญญา กลางณรงค์)

 ในห้วงเวลา 10 ปี ของจำนวนหนังไทยร่วมๆ 500 เรื่อง มีหนังที่พาดพิงหรือกล่าวอ้างถึงการเมืองปะปนอยู่ไม่ถึง 10 เรื่อง ซึ่งทั้งหมด ต่างล้มเหลวในเรื่องรายได้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ‘หนังการเมือง’ เป็นเรื่องต้องห้าม หรือจับต้องได้ยาก หากแต่คนทำหนังไทยยังไม่รู้วิธีปรุงแต่ง หรือประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม ลงตัวเท่านั้นเอง

 เช่นเดียวกับหนัง ‘แอ็กชั่นฮีโร่’ หรือ ‘ซูเปอร์ฮีโร่’ ที่ไม่เคยย่างกรายเฉียดเข้าใกล้วงการหนังไทยมานานหลายปีแล้ว นอกจากหนังที่นำแสดงโดย ‘จา’ พนม ยีรัมย์ ในหนังชุด “องค์บาก” (1-3) และ “ต้มยำกุ้ง” หนังอย่าง “เจ็ดประจัญบาน” ทั้งสองภาค รวมถึงหนังที่มีแนวทางใกล้กับคำว่า ‘ซูเปอร์ฮีโร่’ มากที่สุดเห็นจะเป็น “มนุษย์เหล็กไหล” แม้เต็มไปด้วยความทะเยอทะยาน แต่สุดท้ายหนังก็ไปได้ไม่ไกลเพราะปัญหาเรื่องบท และลีลาท่วงท่าการต่อสู้ในบางฉาก

 ปัญหาหนังแอ็กชั่นไทยเวลานี้ หากพ้นจาก ‘จา พนม’ ‘พันนา ฤทธิไกร’ คงหาใครออกแบบลีลาการต่อสู้ได้ดุเด็ดเผ็ดมันเท่า ทุกวันนี้มีทีม ‘สตั้นท์’ ให้ใช้บริการแค่ไม่กี่เจ้า อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องคิวนักแสดง(ดังๆ) ที่ไม่มีเวลาฝึกซ้อมฉากต่อสู้ ทำให้คนทำต้องแก้ปัญหาด้วยการใช้วิธีหลบมุมกล้องบ้าง ใช้ CG. บ้าง หรือไม่ก็ใช้เทคนิคถ่ายภาพด้วยการเหวี่ยงกล้องหรือถ่ายแบบ ‘แฮนด์เฮลด์’ (Hand Held) เน้นภาพโคลสอัพ ให้เกิดความเคลื่อนไหวในภาพสูงจนจับรายละเอียดไม่ทัน หรือซอยคัทถี่ขึ้น เน้นการตัดต่ออย่างรวดเร็ว ทำให้ภาพฉากการต่อสู้ในหนังแอ็กชั่นไทยหลายๆ เรื่อง ออกไปในทาง ‘เหยาะแหยะ’ ไร้ความสมจริง ขาดความน่าสนใจชวนให้ติดตาม 

 การมาถึงของ “อินทรีแดง” คือการผสมผสานหนังบู๊ไทยร่วมสมัยเข้ากับประเด็นทางการเมืองเอาไว้ได้อย่างแยบยล แม้จะเต็มไปด้วยฉากต่อสู้ แต่ก็เป็นไปด้วยความสมจริงสมจัง มีลีลาท่วงท่าสวยงาม บนทัศนียภาพที่แปลกตา อันเกิดจากการจัดองค์ประกอบศิลป์ที่ออกแบบมาอย่างดี ใช้เทคนิค CG.  เพื่อรับใช้เนื้อหา ไม่ใช่เพื่อแก้ปัญหา ที่สำคัญนี่คือหนังแอ็กชั่นที่สะท้อนภาพสังคมและการเมืองไทยอย่างตรงไปตรงมา จำลองภาพความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชน ที่เคยเกิดขึ้นเป็นวิวาทกรรมครั้งใหญ่ที่หลายคนน่าจะจำกันได้

 เรื่องราวของ “อินทรีแดง” เกิดขึ้นในอนาคตไม่ไกลจากนี้ ประเทศไทยในปีค.ศ. 2016 เต็มไปด้วยเหล่านักการเมืองฉ้อฉล สังคมเสื่อมโทรมทางจริยธรรมและขาดไร้ ซึ่งความเป็นธรรมแก่ผู้คน จนบุรุษลึกลับปิดบังโฉมหน้าภายใต้หน้ากาก ‘อินทรีแดง’ ต้องออกกวาดล้างคนชั่วทั้งพ่อค้ายาเสพติด อาชญากรและ นักการเมืองเลว ร้อนถึงตำรวจต้องออกตามล่าตัว (เพราะถูกกดดันจากนักการเมือง) ท่ามกลางความวุ่นวายในบ้านเมืองจากเหตุประท้วงการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ที่มีคนรักของเขาเป็นหนึ่งในแกนนำผู้ประท้วง

 เหล่าร้ายที่ ‘อินทรีแดง’ ต่อกรด้วย ไม่เพียงแค่อาชญากร และนักการเมืองเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงเครือข่ายอาชญากรรมระดับชาติอย่างขบวนการ ‘มาตุลี’ และ ‘ปีศาจดำ’ มือสังหารที่ถูกส่งมาตามฆ่าล่าล้างผลาญ ‘อินทรีแดง’ ชนิดกัดไม่ปล่อย

 นักการเมืองที่ใช้ประชาชนเป็นบันไดไต่ขึ้นสู่อำนาจ และมุ่งแสวงหาผลประโยชน์โดยไม่อาทรร้อนใจต่อความทุกข์ยากของผู้คน คือศัตรูหมายเลขหนึ่งของ ‘อินทรีแดง’ หรืออีกชีวิตหนึ่งในนาม ‘โรม ฤทธิไกร’ อดีตทหารฝีมือดีแห่งหน่วยรบพิเศษ ที่ถูกรัฐบาลหักหลังสั่งเก็บหลังเสร็จภารกิจ กลายเป็นปมอาฆาตแค้นแต่หนหลัง ที่ยังช่วยขับเน้นความสมจริงที่ฮีโร่คนนี้ ไม่ได้มีความสามารถเหนือธรรมชาติ หากแต่มีชิวิต มีเลือดเนื้อ มีความรัก ความเจ็บปวดเฉกเช่นปุถุชนทั่วไป

 ภารกิจขจัดคนพาล อภิบาลคนดี ของ ‘อินทรีแดง’ ที่มีฉากหลังเป็นบรรยากาศความวุ่นวายทางการเมือง ฉากต่อสู้ที่ดูสมจริงและสนุก สอดรับกับเนื้อหาที่ว่าด้วยการออกตามราวีเหล่าร้าย พร้อมๆ กับการออกตามหาตัวเพื่อกระชากหน้ากาก ‘อินทรีแดง’ วีรบุรุษนอกกฎหมายของนายตำรวจหนุ่ม

 นี่คือการกลับมาอย่างยิ่งใหญ่ของวีรบุรุษในตำนานภายใต้หน้ากากรูปนกอินทรีสีแดงเพลิง ที่ภาคเดียวอาจจะไม่จุใจพอ สำหรับคอหนังแนวนี้

ชื่อเรื่อง : อินทรีแดง
ผู้เขียนบท-กำกับ : วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง
นักแสดง : อนันดา เอเวอริ่งแฮม, ญารินดา บุนนาค, วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล, พรวุฒิ สารสิน
เรทภาพยนตร์ : น.18+ ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้ชมอายุ 18 ปีขึ้นไป
วันที่เข้าฉาย : 7 ตุลาคม 53

" ณัฐพงษ์ โอฆะพนม"