
คมเคียวคมปากกา - เพลงสุดท้าย
เขียนต้นฉบับวันอังคารที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๕๓ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๐
ที่ขอนแก่นมีห้างใหญ่ ว่างก็พาลูกชายไปซื้อหนัง เพลง หนังสือ ของเล่น เข้าห้องของเล่น กินข้าว หรือบางช่วงที่เขามี “อุลตร้าแมน” หรือ “มาสท์ไรเดอร์” ตัวจริงมาแสดง ก็ไม่พลาดต้องตามใจลูกในโลกของเขา เสร็จแล้วกลับบ้าน ไม่มีโอกาสเข้าโรงหนังใหญ่เลย นับเป็นปีๆ แล้วที่ไม่ได้เข้าโรงหนัง
ร้านเช่าหนังจึงเป็นทางเลือกหนึ่ง บางเรื่องเช่ามาดูแล้วชอบ บางเรื่องทนดูไม่จบต้องรีบเอาไปคืน บางเรื่องนอกจากไม่ชอบแล้ว ยังต้องเสียค่าปรับมากกว่าค่าเช่าเสียอีก เพราะเป็นหนังคืนเดียว ไม่มีเวลาดู และไม่ค่อยอยากดู บางทีต้องเดินทางไปต่างหวัด เผลอดองหนังที่ไม่ชอบไว้ในบ้าน (๕๕๕)
ว่างๆ เดินดูชื่อหนังฝรั่งแล้วขำๆ “จิ้นไม่ไหว ใครแอ้มที” “หนุ่มทะเล้น เล่นของสูง” ถ้อยคำคล้องจองแบบคุณลักษณะภาษาไทย อ่านรอบแรกงงๆ แต่พอคิดต่อ อ๋อ...ใช้ภาษาพูดมาผูกเป็นชื่อหนังอย่าง “จิ้น” (เวอร์จิ้น) “แอ้ม” “เล่น” ก็ได้แต่ขำๆ นั่นแหละครับ ไม่เคยเช่ามาดู เพราะไม่ค่อยนิยมหนังตลกๆ
ส่วนตัวแล้ว ชอบหนังชีวิต หรือ “ดราม่าแอ็กชั่น” หน่อยๆ อย่างที่เพิ่งได้ดู “The Last Song” ในชื่อภาษาไทย “ขอเพลงสุดท้ายมีเพียงสองเรา” ดูแล้วน้ำตาไหลพรากเลย นี่สารภาพแบบไม่อาย
เรื่องของเรื่องคือแม่ของลูกชายได้เช่ามาดูก่อน บอกว่าชอบมาก ดูแล้วน้ำตาไหล แต่เนื่องจากเป็นหนังคืนเดียว ต้องรีบเอาไปคืน หลายวันต่อมาจึงลองสะสางความสงสัย หนังเรื่องนี้มันเรียกน้ำตาได้เชียวหรือ?
ครับ ดูตอนอยู่บ้านคนเดียวในโลกส่วนตัว ชอบมาก ต้องจริตเลย นานแล้วที่ไม่ได้ดูหนังหลั่งน้ำตา เกิดปีติตื้นตัน และเกิด “ปัสสัทธิ” คือความผ่อนคลาย ยิ่งเมื่อมานั่งคุยกันย้อนหลังกับคนใกล้ตัว ที่ต่างดูหนังเรื่องเดียวกันในโลกส่วนตัวคนละรอบ เรารู้สึกคล้ายกันอย่างยิ่ง ต่างอ่านปรัชญาของหนังไปในทิศทางเดียวกัน แม้ว่าเธอจะไม่รู้จัก “แอนนา คาเรนินา” ของ ลีโอ ตอลสตอย ที่ตัวละครในหนังอ้างถึง
บอกได้ว่าในอารมณ์ความรู้สึกของสันพันธภาพ หนังเรื่องนี้เสริมความรักและห่วงใยกันให้แก่เราได้อย่างดี แม้จะว่าไปแล้ว นี่เป็นหนังรักเศร้าๆ แต่ในเศร้าๆ นั้น ก็สวยๆ ซึ้งๆ อย่าน่าประทับใจ เริ่มต้นและดำเนินเรื่องด้วยดนตรีไพเราะ เปียโน หนังสือวรรณกรรม พ่อ แม่ ลูก ครอบครัว สังคมรอบข้าง ความรัก การเลิกร้าง การเกิด การตาย
“ครอบครัวมีสุขนั้น ไม่ต่างกัน...แต่ที่ไม่มีสุขนั้นต่างหาก ที่ต่างกัน”
ชายหนุ่มเห็นหญิงสาวกำลังอ่าน “แอนนา คาเรนินา” จึงพูดทักด้วยวรรคทองนี้
หญิงสาวเป็นลูกของนักดนตรีเปียโนในโบสถ์ ที่ถูกกล่าวหาว่าทำไฟไหม้โบสถ์ ลูกสาวกับลูกชายไปพักบ้านชายทะเลด้วยในฤดูร้อน โดยไม่รู้ว่าพ่อของเธอและเขากำลังป่วยด้วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย พ่อบอกลูกสาวว่า “ความรักเป็นสิ่งบอบบาง” ความรักอย่างเดียวไม่พอสำหรับชีวิตครอบครัว เพราะแม้แต่พ่อเองก็กำลังหย่าร้างกับแม่ ความฝันของพ่อคืออยากให้ลูกสาวกลับไปเรียนเปียโนอีกครั้ง
“สักวันลูกจะต้องยอมเปิดใจ ลูกจะเล่นเปียโนอีก เพราะไม่ใช่เพื่อทำให้แม่มีความสุข ไม่ใช่ทำให้พ่อมีความสุข แต่ทำเพื่อตัวเอง เพราะว่าดนตรีกับความรัก จะทำให้ลูกมีความสุข”
ขณะเดียวกัน ท่ามกลางความเศร้าของลูกชายตัวเล็กที่เริ่มรู้เดียงสา เด็กน้อยรู้สึกเสียใจที่พ่อปกปิดเขามาตลอด เขากำลังมีความสุขกับโลก แต่...พ่อกำลังจะจากไป...
“ทุกครั้งที่แสงแดดส่องผ่านหน้าต่างที่เราสร้าง หรือหน้าต่างไหนๆ นั่นแหละพ่อเอง พ่อไม่ได้ไปไหน”
ผมเป็นคนประเภทชอบดูหนัง แต่ไม่ค่อยรู้ข้อมูลหนัง ไม่ค่อยจดจำพระเอกนางเอก ถ้าดูแล้วชอบก็ชอบที่ภาพและอารมณ์ของเรื่อง แต่คลับคล้ายจะรับรู้มาว่าหนังเรื่องนี้เกี่ยวโยงกับกลุ่มผู้สร้าง “เดอะ โน้ตบุ๊ก” และ “เดียร์จอห์น” ซึ่งผมเคยดูมาแล้วชอบ เพียงแต่ไม่ประทับใจเท่า “เดอะ ลาสต์ ซอง”
ศิลปะ...ยาชำระสะสางหัวใจ น้ำตาจากอารมณ์สะเทือนใจช่วยชะล้างตะกอนความรู้สึกตกค้างในชีวิต ก่อเกิดปีติตื้นตัน ทำให้คนใกล้กัน...คุยกัน...มองกัน...ด้วยหัวใจที่เข้าใจโลกและชีวิตมากยิ่งขึ้น
ท่ามกลางความตึงเครียดของโลกและชีวิตที่กดทับมวลมนุษย์ ผมชอบภาวะ “ปัสสัทธิ” จริงๆ!
"ไพวรินทร์ ขาวงาม"