
น้ำตาลแดง
1 ปีเต็มของการประกาศใช้เรตติ้ง (ที่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่ามันคืออะไร?) และหนัง น้ำตาลแดง น่าจะพูดได้เต็มปากเต็มคำว่าเป็น ผลพวง หรือ อานิสงส์ ที่เกิดขึ้นจากการจัดเรตหนังในบ้านเราอย่างแท้จริง
ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา แม้ปัญหาของการบังคับใช้เรตติ้งจะยังไม่ปรากฏออกมาให้เห็น หรือก่อให้เกิดกระแสถกเถียงมากมาย แต่คลื่นใต้น้ำของการปิดกั้นเสรีภาพในการรับรู้และแสดงออกทางความคิดของสื่อภาพยนตร์ยังเคลื่อนไหวก่อตัวอย่างเงียบๆ และมีบางครั้งที่ส่งแรงกระเพื่อมมายังคนทำและคนดูหนังให้รู้สึกสะทกสะท้านกันหลายครั้ง
“มหา’ลัย สยองขวัญ” ถูกสั่งให้ตัดฉากทหารกราดยิงนักศึกษาในลิฟต์ออกไป เพื่อแลกกับการที่หนังจะได้ออกฉาย
“สวยซามูไร” ได้รับการขอร้องให้ตัดฉากผู้ก่อการร้ายซึ่งเป็นคนไทยมุสลิมออก โดยอ้างเหตุผลความมั่นคง และแลกกับการได้ออกฉาย
“บริเวณนี้อยู่ภายใต้การกักกัน” ถูกตีรวนในระหว่างส่งพิจารณาเพื่อจัดเรตภาพยนตร์ จนไม่สามารถออกฉายได้ตามกำหนดในงานเทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพ หลังคณะอนุกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์พบว่าหนังมีฉากเหตุการณ์ความรุนแรงที่อำเภอตากใบ
หนังแผ่นเรื่อง “Trainspoting” ไม่ได้รับอนุญาตให้ออกจำหน่ายเนื่องจากมีฉากตัวละครเสพยาเสพติดอยู่หลายฉาก รวมทั้งหนังแผ่นเรื่อง “Saw 6” ที่คณะกรรมการสั่งแบนด้วยเช่นกัน โดยให้เหตุผลว่าหนังเต็มไปด้วยความรุนแรง
ไม่นับรวมหนังต่างประเทศอีกหลายเรื่อง ที่ต้องตัดทอนหลายๆ ฉากออกไปเพื่อแลกกับการได้เรตต่ำๆ ซึ่งจะทำให้เข้าถึงกลุ่มคนดูที่กว้างมากขึ้น อาทิ เรต ฉ.20- ที่ห้ามผู้ชมอายุต่ำกว่า 20 ปี เข้าชมโดยเด็ดขาด (ตรวจบัตรประชาชน) เป็นเรต น.18+, 15+ หรือ 13+ (ซึ่งเรตเหล่านี้เพียงแค่ต้องให้คำแนะนำ ไม่ได้ห้ามปรามแต่อย่างใด)
“ผู้หญิง 5 บาป 2” เป็นหนังไทยเรื่องแรกที่ติดเรต ฉ.20- หลายฉากในหนังเกิดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยั่วเย้าอารมณ์ทางเพศ รวมทั้งเนื้อหาก็ว่าด้วยการเล่าถึงประสบการณ์ทางเพศอันผิดบาปประหลาดล้ำของตัวละคร
“เจ้านกกระจอก” ได้เรต ฉ.20- เนื่องจากมีฉากที่ปรากฏให้เห็นอวัยวะเพศของตัวละคร ที่กำลังพยายามสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเองหลังประสบอุบัติเหตุจนเป็นอัมพาตขยับร่างกายไม่ได้ ส่วนเนื้อหานั้นว่าด้วยความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่อุปมาอุปไมยเชื่อมโยงไปสู่โลกและจักรวาล
เรต ฉ.20- ของหนังไทยสองเรื่องข้างต้น ดูจะเป็นที่ยอมรับได้ทั้งการนำเสนอด้วยภาพ และเนื้อหาที่คนดูต้องมีวุฒิภาวะในระดับหนึ่ง รวมถึงวัยวุฒิที่เหมาะสม
ยกตัวอย่างมามากมายเพื่อที่จะบอกว่า เรต น.18+ ของหนังไทยเรื่อง “น้ำตาลแดง” ดูจะเป็นความ ‘ลักลั่น’ ของการให้เรตภาพยนตร์ รวมถึงมาตรฐานการพิจารณาของคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์
หนังเต็มไปด้วยฉากวาบหวามมากมาย หลายครั้งปรากฏให้เห็นหน้าอกหน้าใจของนักแสดงหญิง รวมทั้งฉากการมีเพศสัมพันธ์ของตัวละคร และฉากการสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง ซึ่งทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นด้วยเหตุผลเดียวคือปลุกเร้าอารมณ์ทางเพศ อันสอดคล้องกับเนื้อหาที่ว่าด้วยหนทางนำไปสู่ความสุขทางเพศของตัวละคร
คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘ความสุขทางเพศรส’ เป็นธรรมชาติของมนุษย์ทุกผู้ที่เฝ้าเพียรค้นหา และสัญชาติแห่ง ‘แรงปรารถนา’ อันเนื่องมาจากความต้องการทางเพศ ก็เป็นสันดานดิบที่แฝงเร้นอยู่ในตัวเราทุกคน... “น้ำตาลแดง” ไม่ใช่หนังที่ชักชวนคนให้ละเมิดศีลธรรม ไม่ใช่หนังที่น่าละอายเพราะเนื้อหาวนเวียนอยู่แต่กับเรื่องใต้สะดือ และไม่ใช่หนังที่สมควรถูกประณามเพราะทำให้คนหมกมุ่นอยู่แต่กับเรื่องเพศ และก็ไม่ได้เป็นหนังอีโรติกที่เปี่ยมด้วยชั้นเชิงทางศิลปะสมดังคำโฆษณา ซึ่งเอาเข้าจริง “น้ำตาลแดง” ก็เป็นเพียงหนังโป๊ธรรมดาๆ (ที่มีโอกาสฉายในโรง) และไม่ได้น่าจดจำสักเท่าใดนัก
“น้ำตาลแดง” เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของสินค้าประเภทสื่อภาพยนตร์ที่มีในท้องตลาด มีรูปลักษณ์และรสชาติที่คนทำพยายามหาความแตกต่างจากหนังรัก หนังบู๊ และหนังตลกที่มีอยู่เกลื่อนกลาด หากแต่สินค้าที่ว่านี้มีฉลากคำเตือนที่ไม่เหมาะกับตัวสินค้าเท่านั้นเอง
เรต ฉ.20- น่าจะเหมาะสมที่สุดสำหรับหนังที่มีเนื้อหา และการนำเสนอภาพที่แสดงออกถึงเรื่องเพศอย่างโจ่งแจ้งเรื่องหนึ่งของวงการหนังไทยในรอบหลายปี
นักวิจารณ์ภาพยนตร์บางท่านให้ความเห็นว่า หนังอย่าง “น้ำตาลแดง” อาจไม่มีทางได้สร้างแน่ๆ ถ้ายังใช้กระบวนการพิจารณาภาพยนตร์ด้วยการ ‘เซ็นเซอร์’ แบบเดิม หรือไม่ก็ถูกตัด หั่น บัง หรือไม่ก็ทำให้เบลอ จนเสียอรรถรสไม่เหลือเค้าโครงเดิมให้เห็นเมื่อออกฉาย
การได้เรต น.18+ ของ “น้ำตาลแดง” อาจเป็นผลสะท้อนในมุมบวก (หรือเปล่า?) เพียงด้านเดียวที่เกิดขึ้นจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พุทธศักราช 2551 หลังข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องใน ‘พ.ร.บ.ภาพยนตร์’ ฉบับนี้เริ่มปรากฏปัญหาให้เห็นในช่วงหลังๆ อาทิ การจับกุมคนเก็บขยะ หรือพ่อค้าของเก่า ในข้อหาจำหน่ายสินค้าโดยไม่มีใบอนุญาต หลังจากนำหนังแผ่นเก่าๆ ที่ตนเองเก็บมาขายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
พูดไปก็น่าเศร้านะครับ อุตส่าห์พัฒนากฎหมายมาเพื่อรองรับอุตสาหกรรมให้เท่าทันอารยประเทศ แต่สุดท้ายเหมือนกับว่าเรายังคงตกอยู่ในวังวนเดิมๆ ไม่เปลี่ยนแปลง!
"ณัฐพงษ์ โอฆะพนม"