บันเทิง

อาลัย"ไซพอน สินทะลาด""ราชาลูกทุ่งลาว"ระบอบเก่า

อาลัย"ไซพอน สินทะลาด""ราชาลูกทุ่งลาว"ระบอบเก่า

23 ส.ค. 2553

สามัญชนลูกทุ่งลาวเสียชีวิตอย่างเงียบๆ ในวัย 70 เศษ ทีวีเอกชนช่อง "ลาวสตาร์" ร่วมแสดงความไว้อาลัยแก่ "ราชาเพลงบ้านนาลาว" อย่างสมเกียรตินักเพลงของแผ่นดิน

ดาวเวียง บุดนาโค นักประพันธ์เพลงลาวรุ่นใหม่แจ้งข่าวให้ "คม ชัด ลึก" ทราบว่า ไซพอน สินทะลาด นักร้องและนักแต่งเพลงอาวุโส เสียชีวิตด้วยอาการสงบที่บ้านโพนสีนวน เมืองสีสัตตะนาก นครหลวงเวียงจันทน์ เมื่อเวลา 03.00 น. วันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา

 "ไซพอน" ล้มหมอนนอนเสื่อมานานเกือบปีแล้ว เนื่องจากหลายโรครุมเร้า จึงทำให้เขาต้องจากครอบครัวไปอย่างไม่มีวันกลับ

 30 ปีที่แล้ว แฟนเพลงลูกทุ่งเมืองไทยจะรู้จักมักคุ้นแต่ "ก.วิเสส" อดีตนักร้องนำวงดนตรีราบอากาศวังเวียง ผู้มาสร้างชื่อเมืองไทยเมื่อ 3 ทศวรรษก่อน ด้วยบทเพลง "ไทดำรำพัน"

 แต่ในแผ่นดินฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ก่อนการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ปี 2518 ผู้ที่ได้รับการบันทึกว่าเป็น "ราชาเพลงม่วน" ต้องยกให้ ไซพอน สินทะลาด อดีตหัวหน้าวงดนตรี "ดาวบ้านนา" ที่มีชื่อเสียงโด่งดังไม่แพ้วงราบอากาศวังเวียง

 ไซพอน เกิดที่บ้านถิ่นเพีย เมืองหาดทรายฟอง กำแพงนครเวียงจันทน์ ก้าวเข้าสู่ถนนนักเพลงตั้งแต่ปี 2512 โดยการเป็นนักร้องประจำวงสินทะวิไซ และก่อนจะแยกตัวมาตั้งวงดนตรีดาวบ้านนา ไซพอน เป็นนักร้องและนักแต่งเพลง ผู้มากความสามารถ

 ผลงานของเขาที่แฟนเพลงแถบชายโขงฝั่งขวารู้จักดี ได้แก่เพลง "สิ้นใจเมีย" "น้ำท่วมถิ่นเพีย" "เสื้อเขียวที่ฮัก" "อย่าลืมสัญญา" "มนต์รักสาวล่องแจ้ง" "ปีนี้ต่างกว่าปีกลาย" "ลาก่อนสาวทุ่ง" "ช่วยเถิดนางหมอ" และ "บ้านโพนที่ฝังใจ"

 โดยเฉพาะเพลง "สิ้นใจเมีย" มีนักร้องลูกทุ่งอีสานหลายคนนำมาร้องอัดแผ่นเสียง โดยไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นคนแต่ง ซึ่งเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว "สนธิ สมมาตร" ยังนำเพลงนี้มาร้องบันทึกเสียงอีกครั้ง และใช้เป็นชื่ออัลบั้มในสังกัดพีจีเอ็ม

 "ข้าทนโศกตรม ระทมหมองไหม้ เมียเอ๋ยสิ้นลมหายใจ ลาลับไปสู่ในโลกอื่น..."

 ท่อนขึ้นต้นเพลง "สิ้นใจเมีย" ยังประทับอยู่ในความทรงจำของคอเพลงรุ่นเก่า และเมื่อสิบปีที่แล้ว "ก้องหล้า วงศ์สว่าง" นักร้องโนเนมแถวอีสานตอนเหนือ ได้นำเอาเพลงดังของ "ไซพอน" มาร้องไว้ในอัลบั้ม "ไข้บ่มซู้" แต่ไม่เป็นที่รู้จักมากนัก

 ประมาณปี 2537 ชื่อเสียงของ "ไซพอน" ได้รับการฟื้นฟูในวงการเพลงลาว เมื่อ สุรสีห์ ผาธรรม ผู้กำกับหนังครูบ้านนอก ได้ข้ามโขงไปเปิดค่ายเพลง "ลาวเอนเตอร์เทนเมนท์" จึงนำเอาครูไซพอนมาบันทึกเสียงหลายชุด และหนึ่งในนั้นคือ "ไซพอน 3 ช่า" รวม 12 เพลงม่วนที่ยังคงความเป็นอมตะ

 ครั้นค่ายลาวเอนเตอร์เทนเมนท์ต้องปิดตัวเองลง ครูไซพอนก็ต้องกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิม และตั้งวงดนตรีอิเล็กโทนอีกครั้ง ร่วมกับลูกชาย-ลูกสะใภ้ แต่ก็ดำเนินไปด้วยความลำบากเพราะขาดทุนรอนในการซื้ออุปกรณ์การแสดง

 ระยะหลัง ไซพอนไม่ได้เดินสายร้องเพลง เพราะสุขภาพไม่อำนวย ปล่อยให้ลูกชายทำวงอิเล็กโทนรับจ้างตามงานบุญต่างๆ ชีวิตความเป็นอยู่ค่อนข้างอัตคัดขัดสน นัยน์ตาสองข้างก็มีปัญหา ซึ่งเป็นเช่นนี้มานานแล้ว แต่ไม่มีเงินไปรักษาอย่างจริงจังเสียที

 ปี 2546 สลา คุณวุฒิ เดินทางไปเยี่ยมยามครูเพลงเมืองลาว และแวะไปคารวะครูไซพอนที่บ้านพัก จึงมอบเงินส่วนตัว 3 หมื่นบาท ให้ราชาเพลงบ้านนาลาว เพื่อนำไปรักษาดวงตาที่ใกล้มืดสนิท

 แต่ด้วยความฝืดเคืองในการทำมาหากิน ครูไซพอนก็ได้นำเงินก้อนนั้นไปซ่อมแปลงบ้านพัก เพราะมันทรุดโทรมเต็มที เนื่องจากเป็นครอบครัวใหญ่ ต้องอยู่กันอย่างแออัด จึงมีความเร่งด่วนกว่าการรักษาดวงตา และอีกอย่างครูไซพอนก็ทำใจยอมรับชะตากรรม คิดว่าอีกไม่นานคงจากโลกนี้ไปแล้ว

 ครูไซพอนเล่าให้ฟังว่า บางเวลาก็คิดท้อแท้กับโชคชะตา แต่เมื่อปี 2544 สำนักพิมพ์แห่งรัฐ ได้ลงทุนจัดพิมพ์บทเพลงดังของเขา โดยใช้ชื่อหนังสือว่า "เพลงม่วน" ก็ทำให้ตัวเองรู้สึกตื้นตันใจที่รัฐบาลในระบอบใหม่ยังเห็นคุณค่าในผลงานของเขา

 หลังจากทราบข่าวการจากไปของครูเพลงลาว สลา คุณวุฒิ กล่าวว่า รู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้งที่วงการเพลงลาวต้องสูญเสียบุคลากรที่ทรงคุณค่า และตนไม่ได้ไปเมืองลาวบ่อยครั้งนัก แต่การได้ไปกราบครูไซพอนในปีนั้น ไม่คิดว่าจะเป็นการไปคารวะศิลปินสามัญชนที่ยิ่งใหญ่เป็นครั้งสุดท้าย

 อนึ่งตลอดวันที่ 19-20 สิงหาคม ทีวีเอกชนช่อง "ลาวสตาร์" ในรายการ "อมตะเพลงลาว" และ "สบาย สบายสไตล์เพลงลาว" ได้เปิดเพลงของครูไซพอน เพื่อร่วมไว้อาลัยและรำลึกถึงความยิ่งใหญ่เป็นครั้งสุดท้าย ก่อนร่วมส่งดวงวิญญาณศิลปินมหาชน ณ เมรุวัดธาตุฝุ่น นครหลวงเวียงจันทน์

 "เมียเอ๋ยเมียข้า หากชาติหน้ามี คืนมาเป็นเมียที่ดี เป็นราณีผัวนี้ครั้งใหม่ ผัวจะถนอม ลูกน้อยของเฮาขึ้นใหญ่ แล้วบวชแทนคุณขวัญใจ ที่ลาลับไปจากในโลกา.."

 เสียงเพลงสิ้นใจเมีย กังวานก้องอีกครั้ง ในงานวันฌาปนกิจศพครูไซพอน สินทะลาด เมื่อบ่ายโมง วันเสาร์ที่ 21 สิงหาคม 2553