บันเทิง

15 Minutes That Shook the World
หนังตลกของเกมช็อกโลก

15 Minutes That Shook the World หนังตลกของเกมช็อกโลก

20 ส.ค. 2553

ปีที่แล้วผมได้ดูหนังดีๆ เกี่ยวกับฟุตบอลเรื่องหนึ่ง

 และไปซื้อซ้ำแจกเพื่อนๆ ในเวลาต่อมาดีวีดีเรื่องนั้นคือ The Damned United ที่พูดถึง
 “ขาลง” และ “ขาขึ้น” เกี่ยวกับ ไบรอัน คลัฟ โค้ชยิ่งใหญ่ของฟอเรสต์

 ปีนี้ไม่คิดว่าจะได้ดูหนังเกี่ยวกับบอลดีๆ นัก เพราะหนังแบบนี้หายาก และทางสโมสรก็ต้องทำออกมา แต่แล้วก็มีหนังตลกฮาเกี่ยวกับลิเวอร์พูลออกมาชื่อ 15 Minutes That Shook the World

 เกี่ยวกับเบื้องหลังเกมนัดช็อกโลกที่อิสตันบูล ตุรกีปี 2005 ซึ่งโดนมิลานนำ 3-0 ก่อนกลับมาตีเสมอ 3-3 และชนะจุดโทษ ชื่อเรื่อง 15 นาทีช็อกโลกนั้น มาจากห้องพักในระหว่างพักครึ่ง ซึ่งมีการชกต่อยกันแบบฮาๆ ที่เซตขึ้นมา และก็แดกดันกันเอง แดกดันฝ่ายตรงข้าม ใครอยากรู้ต้องไปดูกันเอง แต่บอกให้เลยว่า ถ้าไม่ยึดติดว่าทีมเขาทีมเรา ดูแล้วก็หัวเราะฮาดี

 ทีนี้มีเดอะค็อปถามมาทางรายการ four four two weekend ว่าฉายา the kop นั้นมีที่มาอย่างไร ผมจะอธิบายคร่าวๆ แบบนี้

 ในยุคเริ่มแรกของการก่อตั้งสโมสรนั้น มีที่มามากกว่าแค่การยืนเชียร์บนเนินเขาและกองดินเถ้าถ่านอะไรมาก ในตอนนั้นมีชื่อเรียกที่นั่งดูของหงส์แดงว่า spion kop อันเป็นที่กล่าวขานกันมานาน

 ในปี 1906 ลิเวอร์พูลได้เป็นแชมป์ลีกครั้งที่สอง และมีจำนวนคนดูเฉลี่ย 1.8 หมื่นคนต่อเกม ซึ่งก็ไม่น้อยเลยสำหรับยุคนั้น สโมสรก็ได้มีความคิดที่จะขยายสนามเพื่อรองรับแฟนหงส์ให้มากขึ้น

 แฟนๆ ส่วนใหญ่มักจะยืนเชียร์อยู่บนเนินแอนฟิลด์ และเนิน วอลล์ตัน เบร็ค ซึ่งโอบล้อมสนามบอลหงส์ในยุคนั้น
 ช่วงปิดฤดูกาลต่อมา สโมสรลงทุนสร้างโซนระเบียงใหญ่โตบนเนินวอลล์ตัน เบร็ค เพื่อรองรับแฟนๆ ซึ่งก็ไม่ได้เป็นอะไรที่อลังการ ไม่มีหลังคา และก็มีเพียงรั้วสีขาวระหว่างกองเชียร์และสนาม แต่ก็ได้ทำให้แฟนมีมุมดีๆ ไว้คอยเชียร์บอล ซึ่งวันที่เปิดตัว (1 กันยายน  1906) ทีมลิเวอร์พูลก็เอาชนะ สโต๊ค ซิตี้ 1-0 ได้ในวันนั้น ด้วยแรงเชียร์จากแฟนๆ ที่มายืนเชียร์อยู่บนโซน Spion Kop ที่สร้างขึ้นมาใหม่ ตอนแรกมีชื่อว่า Oakfield Road Embankment สโมสรอยากได้ชื่อใหม่ที่มันน่าฟังกว่านี้

 Spioenkop มีที่มาจากชื่อภูเขาในแอฟริกาใต้ ที่เป็นจุดที่มีการต่อสู้ในสงครามชื่อว่า สงครามโบเออร์ครั้งที่ 2 ซึ่งเกิดขึ้นระหว่าง 11 ตุลาคม 1899-31 พฤษภาคม 1902 เป็นการต่อสู้กันระหว่างราชอาณาจักรอังกฤษ กับ พวกโบเออร์ ซึ่งเป็นชาวเยอรมันและฮอลแลนด์ ที่มาตั้งรกรากอยู่ก่อนแล้ว

 มันเป็นการต่อสู้ที่ดุเดือดมากและยาวนานมากๆ ในปี 1900 ทหารฝ่ายอังกฤษนั้นเสียชีวิตถึง 300 นาย และส่วนใหญ่นั้นเป็นทหารเกณฑ์จากฝั่งเมอร์ซีย์ไซด์เกือบทั้งหมด

 Ernest Edwards ซึ่งเป็นนักข่าวกีฬาจากถิ่นหงส์แดง ได้แนะนำให้เปลี่ยนชื่อโซนที่สร้างใหม่ให้เป็น Spion Kop เพื่อเป็นการคารวะและเคารพผู้ที่เสียชีวิตในสงครามครั้งนั้น

 หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 และการเป็นแชมป์ลีกอย่างต่อเนื่องของลิเวอร์พูลในยุคต่อมา Anfield นั้นมีผู้ชมเฉลี่ยถึง 5 หมื่นคนต่อเกม ในปี 1928 The Kop นั้นก็ถูกปรับปรุง และได้กลายเป็นโซนพื้นที่ยืนที่ใหญ่ที่สุดของเกาะอังกฤษของยุค ซึ่งรองรับแฟนๆ ได้ถึง 2.8 หมื่นชีวิต

 และที่สำคัญมีหลังคาและกำแพงข้างหลังโอบล้อมโดยทั่ว และเก็บเสียงดีมากๆ ทำให้การเชียร์ของเหล่าแฟนหงส์ก้องกังวานไปทั่วสนาม

 ในปีต่อๆ มาจนถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 The Kop และเสียงเชียร์ของเหล่าแฟนๆ ก็โด่งดังมากขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง มีผู้ชายหนึ่งคนได้เข้ามาชมการแข่งขันของทีมลิเวอร์พูลที่ Anfield ช่วงปี 1950 และเขาก็ประทับใจกับเสียงเชียร์ของแฟนๆ จนแทบจะไม่ได้สนใจเกมที่เล่นอยู่บนสนามเลยแม้แต่น้อย

 เขาได้กล่าวว่า “หากมีโอกาสได้เล่นให้กองเชียร์ที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้ คงจะดีไม่น้อย” ผู้ชายคนนั้นก็คือ Bill Shankly นั่นเอง และไม่นานต่อมา นักเตะชาวสกอตก็สมหวังตามที่เขาปรารถนา เขาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของทีมหงส์แดงและกองเชียร์ รวมถึง The Kop ที่โด่งดังขึ้นเรื่อยๆ

 ในปี 1994 เนิน The Kop ก็ถูกปิดลงอย่างถาวร ซึ่งเกมสุดท้ายนั้นเป็นการแข่งขันที่หงส์แดงพ่ายนอริช 0-1
แต่เหล่านักเตะกลับรู้สึกเสียดายแทนแฟนๆ ที่ต้องเห็นโซนระเบียงในตำนานถูกปิดลง ซึ่ง Ian Rush ก็ได้ออกมากล่าวหลังการแข่งขันว่า “แฟนๆ หงส์ทำหน้าที่ได้อย่างสุดยอด แต่พวกเราเองที่ไม่ได้พยายามอย่างเต็มที่” ในปัจจุบันโซนนั้นได้เปลี่ยนเป็นส่วนหนึ่งของอัฒจันทร์ขนาดใหญ่ มีที่นั่งรองรับผู้ชมถึง 1.2 หมื่นคนและก็ยังเป็นที่เล่าขานมาโดยตลอด แม้กระทั่งเหล่าแฟนๆ ของทีมอื่นที่มีโอกาสมาเยือนสนามแห่งนี้ ก็รู้สึกทึ่งกับสปิริตของแฟนๆ หงส์และความยิ่งใหญ่ของ The Kop ที่ไม่น้อยหน้าไปกว่าสยามยักษ์ใหญ่อย่าง Nou Camp หรือ Bernabeu เลย

 และนี่คือต้นทางที่มาของ The Kop นั่นเอง

"นันทขว้าง สิรสุนทร"