บันเทิง

1 ปี เรตติ้งไทย

1 ปี เรตติ้งไทย

19 ส.ค. 2553

วันที่ 12 สิงหาคมที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบ 1 ปีเต็มของการประกาศใช้พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พุทธศักราช 2551 กฎหมายที่คนในวงการหนัง ภาครัฐ และผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมกันผลักดันมานานหลายสิบปี จากกฎหมายฉบับเดิมที่ใช้มานานกว่า 60 ปี โดยมีสาระสำคัญคือการกำหน

  เรตหนังทั้ง 7 ที่ประกาศใช้อย่างเป็นทางการตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น ส. ส่งเสริม, ท.ทั่วไป, น.13+ เหมาะกับผู้ชมอายุ 13 ปีขึ้นไป, น.15+ เหมาะกับผู้ชมอายุ 15 ปีขึ้นไป, น.18+ เหมาะกับผู้ชมอายุ 18 ปีขึ้นไป, ฉ.20- ห้ามผู้ชมอายุต่ำกว่า 20 ปีเข้าชมโดยเด็ดขาด (ตรวจบัตรประชาชน) และห้ามฉายในราชอาณาจักร ดูเหมือนว่าคนดูหนัง คนทำหนัง หรือแม้กระทั่งโรงหนัง จะยังไม่ค่อยตื่นตัวต่อตัวบทกฎหมายดังกล่าว ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา ยังมีข่าวเล็ดลอดให้ได้ยินว่ามีการตัด หรือแบนหนังออกมาให้ได้ยินบ่อยๆ หรือไม่ก็หนังบางเรื่อง จำเป็นต้องตัดฉากใดฉากหนึ่งออกเพื่อแลกกับการได้ออกฉาย หรือไม่ก็ได้เรตต่ำๆ เพื่อหวังกลุ่มคนดูในวงกว้าง รวมทั้งการถูกห้ามฉายของหนังบางเรื่อง

 คนทำหนังต่างคาดหวังถึงการจัดระบบ ‘เรตติ้ง’ เพราะนั่นหมายถึง สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อภาพยนตร์จะไม่ได้ถูกจำกัดอีกต่อไป ซึ่งก็รวมถึงเนื้อหาที่เปิดกว้างให้คนทำหนังได้คิด ได้เล่า ได้แสดงออกถึงหนทางและเรื่องราวใหม่ๆ ได้มากขึ้นกว่าเดิม

 โปรดิวเซอร์และผู้กำกับ ปรัชญา ปิ่นแก้ว เคยให้สัมภาษณ์ในรายการ ‘คม ชัด ลึก’ ทางสถานีโทรทัศน์เนชั่นแชนแนลเมื่อหลายเดือนก่อนว่า การมี ‘เรตติ้ง’ น่าจะส่งผลให้หนังไทยมีความหลากหลายมากขึ้น เรายังขาด ‘หนังการเมือง’ ‘หนังอีโรติก’

 แม้ “ผู้หญิง 5 บาป 2” ที่เข้าฉายเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จะถูกประทับเรต ฉ.20- แต่โรงหนังหลายแห่งก็ยังละเลยการตรวจบัตรประชาชน เพื่อคัดกรองผู้ชมที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ผู้ปกครองหลายคนไม่ใส่ใจต่อสัญลักษณ์เรตติ้งที่ปรากฏหน้าโรง กลับหอบลูกจูงหลานต่ำกว่าเรตที่กำหนดเข้าไปดูหนังกันหน้าตาเฉย ไม่นับรวมโรงหนังใจกลางเมืองอีกหลายแห่ง ที่ไม่ติดสัญลักษณ์เรตติ้งบนใบปิดหนังให้ทราบ แม้กระทั่งคนดูหนังอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ‘เรตติ้ง’ คืออะไร? มีไว้ทำไม? เพื่ออะไร? ฯ
    
 แม้ “ผู้หญิง 5 บาป 2” จะไม่ยอมให้ตัดฉากโป๊เปลือยออก เพื่อแลกกับการได้เรตแนะนำ (ซึ่งทั้งเรต น.13+, 15+, 18+ ไม่ได้ห้ามหรือตรวจบัตร แต่เป็นเพียงแค่แนะนำ ตักเตือนคนอายุต่ำกว่าเรตกำหนดเท่านั้น) แต่การตรวจบัตร เพื่อจำกัดเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีเข้าชม ก็ดูจะไม่ได้พิสูจน์อะไรทั้งในแง่เนื้อหาของหนัง การเข้าถึงคนดูเฉพาะกลุ่ม หรือสร้างฐานคนดูใหม่ๆ (รายได้และกระแสของหนังน้อยมาก จนแทบวัดผลอะไรไม่ได้) ถึงจะเป็นหนังไทยเรื่องแรก (ที่ออกฉายในวงกว้าง) ที่ได้เรต ฉ.20- 

 “เจ้านกกระจอก” เป็นหนังไทยอีกเรื่องที่ได้เรต ฉ.20- และก็น่าจะพิสูจน์อะไรบางอย่างได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะในเชิงเนื้อหาสาระ เพราะฉากล่อแหลมฉากเดียวในหนัง แม้จะเกิดขึ้นด้วยบริบทในเชิงกายภาพ แต่ผู้ชมต้องมีวุฒิภาวะพอสมควร แม้หนังจะเข้าฉายแบบจำกัดโรง (เอสเอฟ เอ็มโพเรี่ยม แห่งเดียว) แต่ฐานของผู้ชมเฉพาะกลุ่มก็น่าจะชัดเจนมากขึ้น มองเห็นทิศทางของหนังอิสระ รวมไปถึงกระแสของหนังทางเลือกมากขึ้นด้วยเช่นกัน

 การมาถึงของ “น้ำตาลแดง” หนังอีโรติกที่มีกำหนดเข้าฉายปลายเดือนนี้ หนังซึ่งประกาศตัวแต่แรกว่าจะไม่ยอมตัดทอนฉากใดฉากหนึ่งออกไปเพื่อให้เสียอรรถรสแม้แต่น้อย (แม้ต้องแลกกับการได้เรตสูงๆ ก็ตาม) ถ้าหนังออกฉาย และคนดู รวมถึงโรงหนังต่างปฏิบัติตามข้อกำหนดกฎหมายที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ภาพยนตร์ ฉบับใหม่อย่างเคร่งครัด กระแสและเสียงตอบรับ ทั้งรายได้และคำวิจารณ์ก็น่าจะพอมองเห็นผลลัพธ์จากการจัด ‘เรตติ้ง’ รวมถึงที่ทางของหนังไทยหลังประกาศใช้ พ.ร.บ.ภาพยนตร์มากขึ้น นอกจากเต็มไปด้วยความเงียบงัน เสียงก่นด่าให้หลัง ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา

 ไม่ว่าจะเป็นความท้าทาย หรือความกล้าที่จะขยับหาที่ทางใหม่ๆ หรือแค่การตลาดเชิงรุกจากเจ้าของหนัง “น้ำตาลแดง” (แต่ถือเป็นการลองตลาดใหม่ๆ มากกว่า เพราะ “น้ำตาลแดง” เป็นงานรวมหนังสั้นแนวอีโรติก 6 เรื่อง แต่ลองเชิงด้วยการนำออกฉายก่อน 3 เรื่อง ซึ่งการรอคอยผลลัพธ์ ก่อนจะปล่อยอีก 3 เรื่องที่เหลือคือการทดลองการทำตลาดแบบนี้อย่างแน่นอน) แต่ก็เรียกได้ว่าหนัง ‘อีโรติก’ ได้ขยับขยายที่ทาง กล้าเล่น กล้าเล่า และกล้าแสดงออกมากขึ้น เหลือแต่คนดูที่อาจจะกระมิดกระเมี้ยนค่อยๆ (หรือไม่ก็ปฏิเสธ) ออกมาซื้อตั๋วดู แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการมีหนังอีโรติกเพิ่มขึ้น ก็ไม่ได้หมายความว่าสังคมไทยเสื่อมทรามลงมากขึ้น (เพราะทุกวันนี้ สิ่งยั่วยวนให้เกิดอาชญากรรมทางเพศ สามารถพบเห็นได้แทบจะทุกสื่ออยู่แล้ว) การเพิ่มจำนวนของหนังอีโรติกน่าจะเป็นบทท้าทายการจัดระบบ ‘เรตติ้ง’ ผลของการบังคับใช้ การปฏิบัติตามของผู้เกี่ยวข้องทั้งโรงหนังและคนดู และอาจจะรวมถึงความหลากหลายของหนังที่มากขึ้นด้วยก็ได้

 แต่ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้หมายความว่า การต่อสู้เพื่อเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดของคนทำหนัง สิทธิของโอกาสในการรับรู้ของคนดูหนัง ยังไม่สูญเปล่าไปซะทีเดียว

"ณัฐพงษ์ โอฆะพนม"