
รู้ทันกฎหมาย - อัดเสียง ดักฟัง
ถ้าอัดแล้วให้เป็นนักร้องก็ว่าไปอย่าง แต่การถูกอัดเสียงโดยไม่ได้พร้อมใจ เป็นเรื่องที่จัดการได้ตามกฎหมาย
แม้เราจะเป็นเจ้าของเสียง แต่ก็อาจถูกจำกัดได้ ไม่ใช่จะส่งเสียงได้เรื่อยไป เช่น เข้าไปใช้สถานที่ส่วนบุคคลเมื่อไหร่ เจ้าของเขามีสิทธิวางเงื่อนไขระเบียบเอาไว้ไม่ให้ส่งเสียงดังหรือห้ามคุยกัน ก็ต้องทำตามระเบียบ
การฝ่าฝืนข้อห้าม เจ้าของก็มีสิทธิห้ามไม่ให้เราอยู่ในสถานที่นั้น และหากการส่งเสียงก่อความรำคาญเมื่อไหร่ ก็อาจได้ข้อหาทางอาญาติดไป เป็นคดีเล็กน้อยชวนให้เสียหน้าเสียหายได้ ฐานก่อความรำคาญแก่ประชาชน โดนปรับไปตามระเบียบ
คนเราก็แปลก หากไม่มีข้อห้ามหรือจำกัดอะไรก็ไม่ค่อยใส่ใจว่าได้ทำหรือไม่ทำตามนั้น แต่ครั้นถูกกำหนดเมื่อไหร่ ก็พาลรู้สึกไม่พอใจเพิดอยากจะทำหรือไม่ทำตามนั้นให้ได้ เพราะธรรมชาติคงให้อารมณ์นี้ไว้ในชื่อว่าเสรีภาพ
เสียงสามารถใช้เป็นหลักฐานได้ ไม่ว่าจะใช้เพื่อยันคนพูดหรือใช้เพื่อการอื่นใดกับใครก็ตามที พูดออกไปเมื่อไหร่ก็ต้องยอมรับในสิ่งที่พูด กฎหมายให้มีผลผูกพัน ยิ่งถ้าพูดออกไปทำให้ใครเขาเสียหาย กฎหมายก็ให้คนนั้นรับผิดชอบรับโทษไป
การพูดส่วนใหญ่พิสูจน์ยากหากไม่มีคนมาเป็นพยาน การอัดเสียงอัดเทปลงไปจึงเป็นวิธีพิสูจน์ที่ดีกว่าไม่มีอะไรเลย
อย่างที่บอกไว้ว่า เสียงของเราใครจะเอาไปไม่ได้ การอัดเสียงของคนอื่นไว้โดยไม่ได้รับความยินยอมอนุญาต หากนำไปใช้ในทางที่น่าจะเกิดความเสียหายเมื่อไหร่ก็ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายนั้นไป และอาจได้ข้อหาทางอาญาเช่นเดียวกัน เว้นแต่จะมีกฎหมายให้อำนาจเขาทำได้ ก็ต้องจำยอมให้เขาทำไป
การนำเสียงของเราไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นความผิดตามกฎหมาย เว้นแต่เราจะรู้ได้อยู่แล้วว่าจะมีการเผยแพร่ เช่น ไปให้ข่าวแก่นักข่าวเขาไว้ เขาย่อมนำออกอากาศให้ได้รู้กันทั่วไป
การให้อนุญาตจึงไม่ต้องทำเป็นทางการ แค่เพียงเขายื่นไมโครโฟนให้แล้วเราก็พูดจ้อต่อไป ก็ถือว่าได้ยอมให้เขานำไปใช้ไปอัดได้อยู่แล้ว แต่ต้องไม่ทำให้เสียหายก็แล้วกัน
นอกจากอัดเสียงแล้ว การดักฟังทางโทรศัพท์ หรือเครื่องมือสื่อสารประการใดในทำนองเดียวกันก็เป็นอีกช่องทางที่จะได้รับรู้ว่าเขาพูดอะไร ทำโดยพลการเมื่อไหร่ก็อาจได้ถึงติดคุก 5 ปี มีการปรับถึงหลักแสนบาท
แค่เพียงดักฟังก็มีความผิดไม่ต้องคิดว่าได้เผยแพร่หรือนำไปใช้ประโยชน์หรือยัง และคนไม่ได้ดักฟังแต่ได้รับรู้ข้อความนั้นมา แล้วรู้สึกว่าทนไม่ไหวอยากบอกต่อๆ ไป ก็รับความผิดไม่น้อยหน้าคนที่ดักฟังหรือส่งมา
ยังมีบรรดาที่ไม่ทำเองเพราะไม่เก่งเทคนิคด้านนี้ จึงใช้วิธีจ้างวานคนอื่นทำให้ คนแบบนี้กฎหมายสมนาคุณโทษให้เป็นสองเท่า สมฐานะคนใช้จ้างวาน
บรรดาบริษัทห้างร้านทั้งหลายที่ชอบอัดเสียงการประชุมกันไว้ หรือไปปรึกษาหารือใครแล้วใช้เทปแอบใส่กระเป๋าไว้ เพื่ออัดไปฟังทีหลัง ก็เป็นการกระทำละเมิดต่อสิทธิของเจ้าของเสียงนั้น เพื่อเป็นหลักประกันว่าไม่ได้ล้ำเส้นกฎหมาย ควรที่จะแจ้งกันก่อนอัดเสียงกันไว้เป็นดี
ทีนี้เจ้านายทั้งหลายที่ขี้ระแวงสงสัย เลยใช้วิธีอัดเสียงโทรศัพท์ที่ใช้ในที่ทำงาน ไม่ว่าจะฟังตอนนี้หรือเปิดฟังทีหลัง ย่อมทำไม่ได้ เพราะละเมิดสิทธิส่วนตัวของเขา เว้นแต่บอกเอาไว้ ลูกน้องไม่ชอบใจก็อย่าใช้โทร
สังเกตได้ว่า เวลาติดต่อหน่วยงานองค์กรบางแห่ง เขาจะแจ้งว่าจะมีการอัดเสียงการสนทนา เพื่อมิให้เป็นการละเมิดผิดกฎหมาย หากไม่เต็มใจก็ไม่ต้องพูดด้วย เท่านั้นเอง
"ศรัณยา ไชยสุต"