
เพลงไทยที่ต้องฟังก่อนตาย - ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ คนเขียนเพลงบรรเลงชีวิต พ.ศ. 2530
ในยุคที่เพลงสากลเต็มหน้าปัดวิทยุไทย เพลงไทยมาตรฐานสากลก็มีให้ฟังเพิ่มมากขึ้น จากอัลบั้ม แดนศิวิไลซ์ สังกัด ไนท์สปอต ปี พ.ศ. 2528 กระแทกหูคนฟังเพลง อย่างจัง ถูกพูดถึงในเวลาต่อมายาวนานถึง 25 ปีต่อมา งานชิ้นแรกนับเป็นการสร้างงานที่น่าทึ่ง
สองปีต่อมาอัลบั้ม “คนเขียนเพลง บรรเลงชีวิต” 2530 ได้ทำหน้าที่ค้นหาความแตกต่างให้แก่วงการเพลงไทยอีกครั้ง ความคิดรวบยอดของอัลบั้ม (Concept Album) ที่มีเนื้อหา ทำนอง และดนตรีไปในทางเดียวกัน ตั้งแต่ต้นจนจบ ดั่งเรื่องราวดำเนินไปตามจินตนาการและจุดประสงค์ของผู้สร้างงาน การตั้งต้นของความคิด สะกดใจให้ฉุกคิดเมื่อได้ฟัง แตกต่างจาก่เพลงป๊อปฟังง่ายติดหู หรือโฟล์กซองเนื้อร้องหมกมุ่นกับความรักอย่างสิ้นเชิง บางเพลงเน้นแนวคิดทางสังคม บางเพลงมุ่งแนวคิดที่ท้าทายของจิตใจ การมีอยู่และเป็นไปของสังคม นั่นเป็นเรื่องราวที่ไม่ค่อยได้พบในเพลงไทยของเราโดยเฉพาะยุคนั้น ท้าทายประสบการณ์ของพักฟังเพลงยิ่งนัก
อัลบั้มชุดที่สองนี้ ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ หอบแนวคิดและเพลงที่แต่งทั้งหมดไปเจอกับพ่อมดคีย์บอร์ด และเทคโนโลยี อย่าง พงษ์พรหม สนิทวงศ์ ณ.อยุธยา มือ คีย์บอร์ด นักแต่งเพลงและนักร้องนำของ วงตาวัน ร่ายเวทมนตร์ผ่านซินธิไซเซอร์ ให้แผดซ่าน ส่งผลให้แนวคิดของอัลบั้มและแนวดนตรี ร็อกก้าวหน้า (Progressive Rock) เปล่งประกายสีสัน ชัดเจนทุกเพลงในอัลบั้ม ทีมนักดนตรี สตูดิโอใช้นักดนตรีจาก วงตาวัน มาสนับสนุนทั้งหมด พงษ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เป็นผู้เรียบเรียงเสียงประสานและร่วมโปรดิวซ์ กิตติพันธ์ ปุณกะบุตร กีตาร์, มรุธา รัตนสัมพันธ์ เบส, ชัยวัฒน์ จุฬาพันธ์ กีตาร์, วงศกร รัศมิทัต กลอง, แขกรับเชิญ สุภัทรา อินทรภักดี คลาสสิก กีตาร์ และสุจิตรา อินทรภักดี กับ นันทิดา กาญจนวัฒน์ ร้องประสาน, ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ ยังรับหน้าที่ โปรดิวเซอร์เอง บันทึกเสียงกัน ที่ สตูดิโอ คาราบาว (Center Stage) มิถุนายน-กันยายน 2530
ไม่มีข้อมูลในเชิงยอดขายและการตอบรับอย่างเป็นทางการ แต่คงพอคาดเดาได้บรรยากาศจากรอบ ๆ ตัวว่า เบาบางในเชิงกระแสคนหมู่มาก แต่ก็บอกได้ว่ารุนแรง เร้าใจ และได้รับการยกย่องมหาศาล จากนักฟังเพลงกลุ่มน้อยยกให้เป็นอัลบั้มที่ต้องฟังก่อนตาย
2-3 ปี กับการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วของวงการเพลงในช่วงเวลานั้น พ.ศ. 2529-2532 ความสำเร็จต้นแบบอย่างอัสนี- วสันต์ ไมโคร นูโว จากแกรมมี่ ยอดขายคาสเซ็ท ล้านตลับ เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของทุกอัลบั้มที่แตะยอดนี้ได้อย่างชัดเจน วงการเพลงไทยยุคกลาง เฟื่องฟู ต่ำกว่า 4 แสนตลับถือว่าสอบตก
ช่วงเว้นว่างหลังงานชุดที่ 2 กลั่นกรองความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งปะปนไปพร้อมกับความสับสน ระหว่างแนวคิดที่เป็นของตัวเองอย่างสุดขั้วกับการเปิดรับความคิดเห็นของทีมงานผลิต และต้นสังสัดใหม่ถูกวิเคราะห์ว่า ทำอย่างไรจะให้งานขายได้มากขึ้นกว่างานทุกชุดที่ผ่านมา
ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ มีอัลบั้ม กดปุ่ม พ.ศ. 2532 ผลคือ การเดินตามสูตรความสำเร็จที่เพิ่งถูกค้นพบใหม่ในช่วงนั้น เนื้อหา ดนตรี วิธีการร้อง ต้องเป็นแบบที่ถูกจัดแจงไว้กับต้นแบบ พบได้อย่างชัดเจนตั้งแต่เพลง ทำใจลำบาก สโลว์ร็อกมาตรฐานไทย แต่ยังแอบเปรย ว่าคราวนี้ทำใจลำบาก ถึงจะทำใจลำบากแต่ก็ต้องทำ และทำแล้วก็สำเร็จในแง่การรับรู้เพิ่มมากขึ้น และน่าจะเป็นครั้งแรกๆ ที่นักดนตรีอาชีพนำไปเล่นตามผับ เป็นครั้งแรก สำหรับเพลงของ ธเนศ เอง ส่วนในแง่มุมอื่นๆ ก็เป็นเรื่องขาดการบิดไปบิดมา ระหว่าง ศิลปะกับพาณิชย์ สุดท้ายไม่เห็นน้ำเห็นเนื้อทั้งสองอย่าง และนั่นก็น่าจะเป็นประสบการณ์อีกอย่างที่เกิดขึ้น ในฐานะศิลปิน และทั้งหมดทั้งมวลนั้นนำไปสู่ความคิดที่กลั่นกรองมากขึ้น เข้าใจลึกซึ้งการสร้างความสมดุลระหว่าง ขายกับศิลปะ
งานชุดที่ 4 ซึ่งเป็นชุดสุดท้ายของ ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ เพลงนำอัลบั้มและชื่ออัลบั้มก็ถึงอกถึงใจพระคุณซะแล้ว ร็อกกระทบไม้ พ.ศ. 2535 ได้ร่วมงานกับ อนุวัฒน์ (ธนวัฒน์) สืบสุวรรณ และทีมดนตรีหลักของค่ายสมัยนั้น ทั้ง โสฬส ปุญกะบุตร, ชาตรี คงสุวรรณ, กฤษ โชคทิพย์พัฒนา, สมชาย ขำเลิศกุล, อภิชัย เย็นพูนสุข, ชุมพล สุปัญโญ, สมชาย กฤษณะเศรณี ถูกระดมมาเป็นนักแต่งเพลงทั้งอัลบั้ม โดยธเนศยังคงดูแลคอนเซ็ปต์อัลบั้มอยู่เหมือนเดิม
โดยรวมงานดนตรีในอัลบั้มนี้ลงตัวในแง่ป๊อปร็อกที่ได้มาตรฐานเลยทีเดียว หลายเพลงถูกเปิดออกอากาศทางวิทยุและได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ดูจากแนวแล้วในแง่ยอดขายน่าจะไปได้ดี แต่สุดท้ายก็ยังไม่ดีพอในเชิงที่ธุรกิจคาดหวังไว้ แต่คนฟังส่วนใหญ่พอใจ
ร็อกกระทบไม้ ผสมกลมกลืนในความเป็นไทยกับสากลได้อย่างเหมาะสม เป็นความเหมาะสมที่เราเลือกผสมเอง เหมาะสมของคนไทยเองในแง่วิถีชีวิต และวัฒนธรรม
ซ้ำเติม อีกหน่อยเธอคงเข้าใจ ควงคู่กันไปไกลกว่าเพลงช้าทุกเพลงที่เคยทำได้ เข้าถึงคนหมู่มากอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
อย่าคิดนาน ไม่ตายก็โตเลย สักวา ว่ากันคนละอย่าง เพลงสำหรับคนฟังกลุ่มที่ชอบเพลงแนวคิดผู้ใหญ่ ขึ้นมาอีกนิด ขณะที่ รักน้องคนเดียว ป๊อปสุดๆ ได้รับการฟังซ้ำแล้วซ้ำอีก
ความพยายามในการทำงานทุกครั้ง อาจรวมไปถึง การทดลองนำเสนอแนวทางที่ต่างออกไป ดูได้จาก 4 อัลบั้มที่ผ่านมา มีถูกใจมาก ถูกใจน้อย ลดหลั่นกันไปตามรสนิยมคนฟังที่ต่างกันแต่นับว่าเส้นทางของดนตรีและเนื้อหาที่ถูกปรับปรุง เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์และสังคมอย่างที่มันต้องเป็นไป สะท้อนความเป็นศิลปินที่มีความกล้าในการนำเสนองานต่อสาธารณชนได้เป็นอย่างดี และทุกครั้งที่ได้หยิบงานเก่ามาฟังอีกครั้ง ความตั้งใจ และคุณภาพยังทำให้เกิดความสุขได้ ไม่เสื่อมคลาย
วัย 52 เต็ม ของธเนศ วรากุลนุเคราะห์ ในเดือนกันยายน (2553) ที่จะถึง ธเนศ อาจมีความพยายามนำเสนองานที่ต่างออกไปจากงานที่เคยทำอยู่ นอกเหนือไปจากการจัดรายการวิทยุ นักแสดงละครเวที ศิลปิน เจ้าของค่ายเพลงก็ได้ ต้องตามดูกันต่อไปว่า จะเป็นงานด้านไหน ขอคาระวะให้แก่ผู้ชายคนนี้อีกครั้ง ณ ที่นี้ กับ ธเนศ วรากุลนุเคราะห์
ชาตินี้ ยังไงก็ฟังเพลงทั่วไป ได้ไม่หมด
ขอเลือกเพลงโปรด ฟังก่อนตาย ดีกว่า
" โชคชัย เจี่ยเจริญ"
[email protected] <mailto:[email protected]>