บันเทิง

คมเคียวคมปากกา - ตามรอยสุนทรภู่

คมเคียวคมปากกา - ตามรอยสุนทรภู่

09 ก.ค. 2553

เขียนต้นฉบับวันอังคารที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๕๓ แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๘

 ศุกร์ที่แล้ว ได้เล่าเรื่องการไปพบครูและนักเรียนเนื่องใน วันสุนทรภู่ แล้วลงท้ายด้วยกลอน “ยี่สิบหก  มิถุนา  เวียนมาถึง” แบบไม่เต็มบท ยิ่งพอมีการขยับวรรคตอน ทำให้กลอนแต่ละวรรคชนหัวชนหางกัน อาจอ่านยากสักหน่อย ศุกร์นี้ขอนำมาฝากอ่านอีกครั้งแบบเต็มๆ
“ยี่สิบหก  มิถุนา  เวียนมาถึง”
คำกลอนซึ่ง  เหมือนจะเชย  เคยจำได้
วรรคหนึ่งนั้น  พลันนึกหน้า  ว่าเป็นใคร
ตำนานไทย  ตำนานนั้น  ตำนานกวี
นักกวี  คืออะไร  ในอักษร
นักกลอน  คืออะไร  ในศักดิ์ศรี
สัมผัสนอก  สัมผัสใน  ในวิธี
สองร้อยปี  กลอนแปดต่าง  กลอนประตู
นานสองร้อย  กว่าปีโน้น  ใครคนนั้น
เยี่ยงนักฝัน  เยี่ยงนักจริง  ยิ่งนักสู้
เราเพิ่งเกิด  เหตุไฉน  ได้เรียนรู้
“สุนทรภู่  ครูกลอน  อักษรไทย”
“สุนทรภู่  ครูกลอน  อักษรศิลป์”
คำได้ยิน  เหมือนจะเชย  เคยจำได้
ยิ่งจดจำ  ยิ่งจริงจัง  ยิ่งฝังใจ
คนรุ่นใหม่  จึงสะท้อน  กลอนโบราณ
“ในเก่า  มีใหม่...ในใหม่   มีเก่า”
คนรุ่นแล้ว  รุ่นเล่า  ยังสืบสาน
กวีโลก  กวีไทย  ในตำนาน
กวีเมือง  กวีบ้าน  ตำนานกลอน
ครูกลอน  คืออะไร  ในศักดิ์ศรี
ครูกวี  คืออะไร  ในอักษร
โลกธรรม  นามธรรม  คำสะท้อน
ศรีสุนทร  “สุนทรภู่”  ครูชีวิต!

 ครับ ในเครื่องหมายคำพูดนั้น ดูจะเป็นคำกลอนเชยๆ ทั่วไปที่เราคุ้นเคย คือพอใครจะแต่งกลอน วันสุนทรภู่ ก็ต้อง “ยี่สิบหก  มิถุนา  เวียนมาถึง”  ไว้ก่อน หรือ “สุนทรภู่  ครุกลอน  อักษรไทย” บ้าง  “สุนทรภู่  ครูกลอน  อักษรศิลป์” บ้าง ถ้าปีใหม่ก็ต้อง “ในวาระ  ดิถี  ขึ้นปีใหม่”  อะไรแบบนั้น ในที่นี้ก็เลยลองนำมาวางไว้  แล้วแต่งกลอนต่อพอประมาณ  อยากรักษาเสน่ห์ความเชยเหล่านั้นไว้แบบไทยๆ แม้ในความเป็นจริงร่วมสมัยแล้ว เราสามารถแต่งกลอน วันสุนทรภู่ โดยไม่ต้องเริ่มต้นด้วยมุมมองแบบนั้นก็ได้ อาจเปิดมุมมองใหม่ “ฉันเดินเข้าห้องสมุด พบท่านสุนทรภู่  จึงสนทนาธรรมกับท่าน ไม่เห็นท่านเมาเหล้าเลย” อะไรทำนองนั้น

 สมัยนี้ เด็กหัวก้าวหน้าออกถมไป บางคนถึงกับทะลึ่ง “สุนทรภู่  ครูกวี  ขี่สแมช  แบงค์ วงแคลช  ขี่มีโอ  โก้นักหนา  เสก โลโซ  ขี่วีโก้  โก้ตามมา  ส่วนตัวข้า  ปั่นรถถีบ  ไปจีบเธอ”    

 หลายปีก่อน ชอบเพลงอยู่เพลงหนึ่ง หลายคนคงชอบและจำได้ นั่นคือ “ตามรอยสุนทรภู่” ของ วงเพาเวอร์แบนด์ จำวงดนตรีนี้ได้ ก็เพราะเพลงดีๆ เพลงนี้

 วันนี้...แค่ “คลิก”  ก็ได้ฟังอีกครั้งทันใจ  ฟังแล้วก็อดจะครึ้มๆ ไม่ได้...ลองฟังดูเถอะครับ!

" ไพวรินทร์ ขาวงาม"