
"สามเณรี" คืออะไร? เจาะลึกสถานะทางธรรม "เจนี่ เทียนโพธิ์สุวรรณ์"
"สามเณรี" คืออะไร? เจาะลึกสถานะทางธรรม "เจนี่ เทียนโพธิ์สุวรรณ์" ปลงผมบวชตัดสินใจละทางโลกเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์
กลายเป็นข่าวที่สร้างความปิติและสงสัยไปพร้อมๆ กัน เมื่อนางเอกสาวชื่อดัง "เจนี่ เทียนโพธิ์สุวรรณ์" ตัดสินใจละทางโลกเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ บวชเป็น "สามเณรี" ณ ศรีวรญาลัย จังหวัดสระบุรี เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2568 พร้อมรับฉายาทางธรรมว่า "ธัมมกัลยาณี" ซึ่งแปลว่า "ผู้มีความงดงามทางธรรม" ท่ามกลางความปลื้มปีติของครอบครัวและเพื่อนพ้อง หลายคนอาจคุ้นเคยกับคำว่า "สามเณร" ที่หมายถึงนักบวชชายอายุน้อยในพระพุทธศาสนา แต่สำหรับ "สามเณรี" นั้นอาจยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายนัก โดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีข้อจำกัดบางประการเกี่ยวกับการบวชภิกษุณี แต่การบวชสามเณรีนั้นแตกต่างออกไป และเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับสตรีผู้ตั้งใจจะปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง
"สามเณรี" คืออะไร?
สามเณรี คือ นักบวชหญิงในพระพุทธศาสนาที่มีสถานะต่ำกว่าภิกษุณี เปรียบได้กับสามเณรที่เป็นนักบวชชาย ผู้ที่จะบวชเป็นสามเณรีได้นั้น จะต้องเป็นสตรีที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป และต้องได้รับอนุญาตจากบิดามารดา หรือหากมีสามีแล้วก็ต้องได้รับอนุญาตจากสามีด้วย นอกจากนี้ การบวชสามเณรีจำเป็นต้องมีภิกษุณีเป็นพระอุปัชฌาย์ที่ถูกต้องตามพระวินัย ซึ่งต้องเป็นภิกษุณีที่มีพรรษา 12 ขึ้นไป และได้รับแต่งตั้งจากภิกษุณีสงฆ์แล้ว
หัวใจสำคัญของการเป็นสามเณรีคือการ รักษาศีล 10 ประการ อย่างเคร่งครัด
- เว้นจากการฆ่าสัตว์
- เว้นจากการลักทรัพย์
- เว้นจากการประพฤติล่วงพรหมจรรย์ (ไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องเพศ)
- เว้นจากการพูดเท็จ
- เว้นจากการดื่มสุราเมรัย
- เว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล (ตั้งแต่เที่ยงวันไปจนถึงรุ่งเช้าของอีกวัน)
- เว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และการดูการเล่นที่เป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์
- เว้นจากการทัดทรงตกแต่งประดับประดาร่างกายด้วยดอกไม้ ของหอม เครื่องทา เครื่องย้อมผัดผิว
- เว้นจากการนั่งนอนบนที่นอนสูงใหญ่
- เว้นจากการรับเงินและทอง
การบวชเป็นสามเณรีจึงเป็นก้าวแรกของการปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังสำหรับสตรีผู้ที่ต้องการศึกษาและเจริญรอยตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งแตกต่างจากการบวชชีหรือชีพราหมณ์ที่มุ่งเน้นการรักษาศีล 8 หรือศีล 5 ในขณะที่เป็นอุบาสิกา การตัดสินใจบวชของ "สามเณรีธัมมกัลยาณี" หรือ "เจนี่ เทียนโพธิ์สุวรรณ์" ในครั้งนี้ จึงถือเป็นการเปิดมุมมองใหม่ๆ ให้กับสังคมไทยได้รู้จักและเข้าใจถึงสถานะของ "สามเณรี" ในพระพุทธศาสนามากยิ่งขึ้น และเป็นแรงบันดาลใจให้หลายคนหันมาสนใจและศึกษาธรรมะตามแนวทางที่ตนเองศรัทธาอีกด้วย