บันเทิง

หนังจอกว้าง : องค์บาก 3

หนังจอกว้าง : องค์บาก 3

20 พ.ค. 2553

การเดินทางของหนังเรื่องหนึ่ง รวมทั้งคนทำหนังคนหนึ่งที่ขยับเท้าก้าวย่างจากบทบาทของนักแสดงมาสู่ตำแหน่งผู้กำกับ (รวมทั้งควบหน้าที่เขียนบท, โปรดิวเซอร์ และแสดงนำเอง) ของ "จา" พนม ยีรัมย์ ที่ดูเหมือนว่าจะสืบเท้า ก้าวไปอย่างนุ่มนวล ละเมียดละไม

 เป็นการออกเดินอย่างดีวันดีคืน ประหนึ่งว่าเขาเริ่มจะเข้าใจ "ศาสตร์" และ "ศิลป์" ของงานภาพยนตร์มากขึ้นทุกขณะ โดยเฉพาะ “องค์บาก 3” นั้น ถือว่าขยับเข้าไปใกล้กับคำว่า "ศิลปะภาพยนตร์" ในอีกขั้นหนึ่ง ไม่ได้เป็นคำกล่าวที่เกินเลยแต่อย่างใดนะครับ และกรุณาอย่าแบ่งแยกว่า "หนังอาร์ต" หรือ "หนังที่ให้คุณค่าในเชิงศิลปะ" ต้องเป็นหนังดูยาก หนังที่แสดงนัยทางความคิดของคนทำลงไปอย่างสุดโต่ง หรือหนังสะท้อนมุมมองที่มีต่อสังคม ความเชื่อ ตลอดจนทัศนคติต่อเรื่องราวรอบตัวประดามี หรือแม้กระทั่งหนังที่เต็มไปด้วยลีลา ของการเล่าเรื่องอย่างช่ำชอง แทรกสอดประเด็นหรือแนวคิดของผู้กำกับลงไปอย่างแนบเนียน เปี่ยมไปด้วยชั้นเชิง เพราะคำว่า "ศิลปะภาพยนตร์" ณ ที่นี้ คือหนังที่คนทำนั้นตั้งใจ ให้คุณค่ากับชิ้นงาน ประหนึ่งว่ากำลังประดิดประดอยงานศิลปะ ด้วยความประณีต พิถีพิถัน ผนวกรวมเข้ากับการผสมผสานงานศิลปะหลายๆ แขนงเข้าไว้ด้วยกันอย่างสอดคล้อง กลมกลืน โดยไม่จำกัดว่าหนังเรื่องนั้นๆ อยู่ในแนวทางใด...แล้ว "จา" พนม ทำกับหนัง “องค์บาก 3” ของเขาได้ขนาดนั้นเชียวหรือ?...

 ถ้าเราลดอคติของหนังบู๊ หนังที่เต็มไปด้วยภาพความรุนแรงของการต่อสู้ เลือดสาด ไหลนองไปทั่วผืนเฟรม เราจะเห็นความพยายามของคนทำหนัง “องค์บาก 3” แทรกซึมอยู่ตลอดแทบทุกฉาก ทุกคัท ทุกองก์ เริ่มตั้งแต่ "บท" แม้พล็อตจะเก่าคร่ำคร่า อันว่าด้วยการเฝ้าฝึกฝนวิชาการต่อสู้ด้วยความเพียรเพื่อตามล่าคิดบัญชีแค้นศัตรูคู่อาฆาต ซึ่งถือเป็นโครงเรื่องที่เล่ากันมาไม่รู้กี่ร้อยกี่พันครั้ง เต็มไปด้วยความซ้ำซาก หาได้มีความแปลกใหม่ แตกต่างไปจาก 30 กว่าปีก่อนในยุครุ่งเรืองของหนังจีนกำลังภายในภายใต้เครื่องหมายการค้า "ชอว์ บราเดอร์" ไม่ แต่ทว่าวิธีหรือลีลาการเล่าพล็อตเก่าๆ แบบนี้ "จา" และ พันนา ฤทธิไกร ผู้ร่วมเขียนบท-กำกับและออกแบบฉากการต่อสู้ กลับพยายามหาแง่งามใหม่ๆ ที่เป็นมุมมองดีๆ เข้ามาสอดแทรกเพื่อเป็นสาระให้แก่หนัง ทั้งเรื่องของแนวคิดทางพุทธศาสนา เรื่องของ จิต และสมาธิ แม้หลายคนอาจจะมองว่าปรัชญาเหล่านี้ หนังเล่าเพียงผิวผ่านไปอย่าง "ตื้นเขิน" ก็ตาม แต่ความพยายามประดิษฐ์คำพูดคมๆ ผ่านบทสนทนาในหนัง ถือเป็นความตั้งใจของคนทำหนังที่น่าปรบมือให้ ทั้งๆ ที่ตลอดชีวิตที่ผ่านมา พวกเขาทำแต่หนังตีต่อย หยิบดาบ คว้ามีด จ่อปืนห้ำหั่นกันเลือดสาดเพื่อความสะใจมากกว่าที่จะมาบอกเล่าถึงการละวาง การทำจิตให้ว่างเพื่อเข้าถึงสมาธิอันนำไปสู่ปัญญา

 ไม่เพียงแค่บทหนังที่รู้จักให้ความสำคัญ มีแก่น ตั้งแกนเป็นธงนำให้ตัวละครเดินทางไปสู่จุดหมายแล้ว "จา" และ "พันนา" ยังรู้จักใช้ชั้นเชิงการเล่าเรื่องบางอย่าง ที่เล่นกับความซับซ้อนเพื่อนำไปสู่ฉากแอนตี้ไคลแมกซ์ ที่ทำให้คนดูช็อกในฉากก่อนหน้า แล้วกลับมาเล่นกับธีมบางอย่างที่หนังผูกปมไว้ เพื่อเอาใจคนดูอีกครั้งในฉากจบ ถือเป็นเสน่ห์ของ “องค์บาก 3” ที่ทำให้หนังดูสนุก ชวนติดตาม ไม่รู้สึกอึดอัดเพราะถูกยัดเยียดฉากการต่อสู้เข้ามามากมายเกินจำเป็นเหมือนในภาคที่แล้ว หากแต่ทุกฉากการต่อสู้ในบทสุดท้ายของหนังไตรภาคชุดนี้ วางน้ำหนักเอาไว้ได้อย่างพอเหมาะพอเจาะ รับใช้เนื้อหาในหนัง และต้องการแสดงให้เห็นศิลปะการต่อสู้ที่ผ่านการออกแบบมาอย่างดีเท่าที่มันควรจะเป็น

 บทที่เข้าท่าเข้าที งานสร้างที่ดูพิถีพิถัน บวกกับการแสดงที่มีพัฒนาการอย่างมากของ "จา" (ซึ่งน่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง เพราะมันมาจาก "บท" ที่เขาเขียนขึ้นเอง) บทสนทนาที่มากกว่าแค่ตะโกน "ช้างกูอยู่ไหน" ในหนัง "ต้มยำกุ้ง" หรือตะโกนขู่คู่ต่อสู้ด้วยความอาฆาตในภาคก่อน เราได้ยินประโยคสนทนายาวๆ ระหว่างอาจารย์กับศิษย์ ที่แฝงไปด้วยคติธรรม เห็นการแสดงอารมณ์ (ที่ก็ไม่ได้มีมากมาย แต่ก็จัดว่า มากกว่าหนังทุกเรื่องที่ "จา" เคยแสดง) เห็นความประณีตของการจัดองค์ประกอบภาพ ที่หลอมรวมระหว่างงานกำกับภาพและกำกับศิลป์เอาไว้ได้อย่างลงตัว (งานด้านภาพที่สื่อความหมายดีมากๆ คือฉากพระอาจารย์ "บัว" กล่าวให้สติ "เทียน" อยู่บนหน้าผา)

 ไม่ว่าจะด้วยความสำนึกในถิ่นเกิด จ.สุรินทร์ ที่มีสัตว์คู่บ้านคู่เมืองคือ "ช้าง" และตัวเขาเองก็เคยเป็น "เด็กเลี้ยงช้าง" มาก่อน หนังแทบทุกเรื่องของ "จา" พนม จึงมีช้างเป็นตัวละครสำคัญปรากฏอยู่เสมอ ตั้งแต่ “ต้มยำกุ้ง” ที่ออกเดินทางตามหาช้างไกลถึงออสเตรเลีย หรือฉากไฮไลท์สำคัญใน “องค์บาก 2” ที่ "จา" เสี่ยงตายวิ่งไล่ไปบนหลังโขลงช้าง จนมาถึงภาคสามที่ลงทุนโหนงาช้างแล้วหมุนรอบตัว 360 องศา เพื่อเตะต่อยศัตรู (ไม่นับการที่ "จา" ตั้งชื่อบริษัทตัวเองว่า "ไอยรา ภาพยนตร์") และไม่ว่าคนกับช้างคู่นี้จะถูกโฉลกกันสักแค่ไหน หรือ "ช้าง" จะนำโชคให้ "จา" อยู่เสมอๆ หรือไม่ แต่พัฒนาการของคนทำหนังไทยคนหนึ่ง ที่ผันตัวเองจากนักแสดง มาสู่ผู้กำกับ ทั้งรับหน้าที่เขียนบทเอง ควบคุมงานสร้างเอง และสามารถสร้างสรรค์ผลงานออกมาได้ค่อนข้างดีขนาดนี้ (ทั้งๆ ที่มีประสบการณ์กับการรับบทนำในหนังเพียงไม่กี่เรื่อง และสามารถหันไปเอาดีทางการแสดงอย่างเดียวก็น่าจะรุ่งกว่าด้วยซ้ำ) "จา" พนม ยีรัมย์ ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ความมุ่งมั่นตั้งใจของคนคนหนึ่งนั้น สุดท้ายก็นำพาซึ่งความสำเร็จมาเป็นขวัญและกำลังใจให้คนทำงานต่อไป

 เราได้แต่รอคอยว่า หลัง "จา" ปิดตำนาน “องค์บาก” ลงไปแล้ว เขาจะสำแดงศิลปะการต่อสู้ใหม่ๆ แบบไหนมาให้เราได้ยลกันอีก หลังจากท่วงท่า "ทุ่ม ทับ จับ หัก" ใน “ต้มยำกุ้ง” งานรวมมิตรศิลปะการต่อสู้จากหลายสัญชาติใน “องค์บาก 2” และลีลาร่ายรำโขนปนการออกหมัดที่เรียกว่า ‘นาฏยุทธ์’ ในภาคที่ 3 แต่เชื่อแน่ว่า "จา" พนม จะยังคงเป็นขวัญใจคนไทยไปอีกนาน ตราบเท่าที่เขายังทุ่มเททำงานในสิ่งที่ตัวเองรัก และคนดูที่เขารักมีความสุขต่อไป

ชื่อเรื่อง  : องค์บาก 3
ผู้เขียนบท - กำกับ  : พนม ยีรัมย์, พันนา ฤทธิไกร
นักแสดง  : พนม ยีรัมย์, พริมรตา เดชอุดม, ศรัณยู วงษ์กระจ่าง, นิรุตติ์ ศิริจรรยา, หม่ำ จ๊กมก
เรตภาพยนตร์  : น.18+ ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้ชมที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป
วันที่เข้าฉาย  : 5 พฤษภาคมู้จากหลายสัญชาติใน "ไหนมาให้เราได้ยลกันอีก 2553

 ณัฐพงษ์ โอฆะพนม