
กวนเพลงให้น้ำใส - การกลับมาของ หน่อไม้
วันดีคืนดี สมเกียรติ ศิริวนิชสุนทร ส่งผลงานบันทึกเสียงชุดใหม่ของเขามาถึงโต๊ะทำงาน !
งานชุดนี้มีชื่อภาษาอังกฤษว่า เดอะ เมอร์รี แองเจิล โอปุส ทู ส่วนภาคภาษาไทยมีชื่อเรียกขานตัวเองว่า วงหน่อไม้
สำหรับมิตรรักแฟนเพลงที่เป็นนักเลงเครื่องเสียง อาจคุ้นเคยกับชื่อวงๆ นี้ มาบ้าง (ซึ่งมีความเกี่ยวข้องไม่ทางตรงก็ทางอ้อมกับวงดนตรีไทยร่วมสมัย กอไผ่) เพราะเมื่อราว 2-3 ปีที่ผ่านมา มีความพยายามของคนกลุ่มหนึ่งที่จะจัดทำผลงานบันทึกเสียงเพลงไทย(เดิม) ให้มีคุณภาพเสียงในระดับ “ออดิโอไฟล์” หรือในระดับที่ใกล้เคียงกับเสียงจริงๆ ตามธรรมชาติ
“หน่อไม้” เป็นชื่อเรียกขานในเวลานั้น โดย สมเกียรติ มีผลงานการบรรเลงของวงหน่อไม้ออกมาแล้ว 2 ชุด ส่วนชุดนี้เป็นชุดที่ 3 ก็จริง แต่อยู่ภายในชื่อ “เดอะ เมอร์รี แองเจิล โอปุส ทู” โดยเจ้าตัวตั้งใจว่าจะทำออกมาอีกสัก 4-5 ชุด โดยจะเลือกเอาเพลงไทยเดิมที่คุ้นหูมาบรรเลงและบันทึกเสียงใหม่
นับเป็นการเปิดศักราชเพลงไทย(เดิม) ด้วยคุณภาพเสียงที่มีมิติของความลึก อิ่ม และแน่น หลังจากที่งานเพลงบันทึกเสียงชั้นครูโดยส่วนมาก แม้จะบรรเลงดีเลิศเพียงใด แต่มักจะมาตกม้าตายในท้ายที่สุด เพราะหยิบมาฟังเอาความเพลิดเพลิน ก็จะเจอแต่เสียงผลิตซ้ำแบบ “แบน บี้ บาง” ทั้งนั้น
นอกเหนือจากการรุกล้ำของวัฒนธรรมต่างถิ่น นี่อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนไทยฟังเพลงไทย เสียงไทยน้อยลงอย่างน่าใจหาย เพราะวัตถุดิบที่เราบันทึกกันมาก่อนหน้านี้ มีคุณภาพเสียงไม่ดีเท่าที่ควร
การกลับมาของวง หน่อไม้ ในครั้งนี้ สมาชิกหลักของวงที่รวมตัวกันเล่นดนตรีในวาระพิเศษ ประกอบด้วย ชัยภัค ภัทรจินดา-ซอด้ว , ถวิล สุขสมโภชน์-ซออู้, ณรงค์ เขียนทองกุล-จะเข้, ประสาร วงศ์วิโรจน์รักษ์-ขลุ่ยลิบ และ สมเกียรติ ศิริวนิชสุนทร ในตำแหน่งขลุ่ยเพียงออและโปรดิวเซอร์ โดยมีนักดนตรีท่านอื่นๆ คือ สุวิทย์ สาฤกษ์-ขิม, บรรหา ปาโล-กลองแขก, ชายชาญ ครูเส็น-กลองแขก และ บุญส่ง ธรรมวานิช-ฉิ่ง
นอกจากนี้แล้ว ยังมีการทดลองนำเครื่องดนตรีตะวันตกมาผสมในวงอีกด้วย โดยมี โกวิทย์ ขันธศิริ-ไวโอลิน และ อมร พุทธานุ-แอคคอร์เดียน เป็นแขกรับเชิญ โดย 3 ใน 7 เพลง ที่ทำให้ต้องมีการ “ปรับจูน” การบรรเลงเสียงใหม่ คือ ทยอยญวน, ลาวเสี่ยงเทียน และ เขมรลออองค์ โดยหน้าที่ในการแกะทำนอง (transcription) จากเพลงไทยให้เป็นโน้ตสากล เป็นของ ชัยภัค ภัทรจินดา ผู้เป็นเสมือนบุคคลสองโลก คือมีความรู้ความเข้าใจทั้งในศาสตร์ดนตรีไทยและดนตรีตะวันตก
ส่งผลให้ “ทำนอง” ในการบรรเลงของ 3 เพลงข้างต้นเคลื่อนไหวไปบน “สเกลเมเจอร์” ซึ่งเหลื่อมจากเดิม และให้ความโปร่งกว่าการบรรเลงบน “สเกลไทย” ไม่เพียงเท่านั้น ในแง่ของการประสมวง ทำให้ต้องนำเครื่องไทยบางเครื่องออกไปโดยปริยาย เช่น จะเข้ เป็นต้น มิฉะนั้น จะไม่สามารถบรรเลงให้สัมพันธ์กันได้
สมเกียรติ บันทึกไว้บนปกซีดีถึง “วงเครื่องสายผสม” ที่เขาทดลองหยิบมานำเสนอซ้ำในครานี้ว่า “ในสมัยรัชกาลที่ 6 นี้มีการติดต่อค้าขายและสัมพันธไมตรีอันดีกับต่างชาติ วัฒนธรรมทางด้านภาษาและการดนตรีจึงเข้ามามีอิทธิพลต่อสังคมไทย ศิลปินไทยจึงนำเอาเครื่องดนตรีต่างชาติเข้ามาผสมกับเครื่องดนตรีไทยเป็นวงบรรเลงขึ้นใหม่และจัดระเบียบวิธีการเล่นให้เป็นแบบวิถีไทยๆ ได้อย่างดีเยี่ยม”
เพลงอื่นๆ อีก 4 เพลง ประกอบด้วย แขกโหม่ง, ลาวกระทบไม้, นางครวญ และ ม่านมงคล เป็นการบรรเลงในสำเนียงไทยๆ ที่มีความไพเราะเพราะพริ้ง เพราะนักดนตรีแต่ละคนมีความสันทัดจัดเจน และล้วนแต่เป็นระดับอาจารย์ของวงการทั้งสิ้น
นี่คือการกลับมาของ “หน่อไม้” อีกความเคลื่อนไหวหนึ่งที่กระตุ้นให้เราหันมาสัมผัสวิถีทางแบบดั้งเดิม หลังจากที่ห่างหายไปกับเพลงตะวันตก เกาหลี และญี่ปุ่นมาหลายเพลา
"อนันต์ ลือประดิษฐ์"
ชื่อศิลปิน : หน่อไม้ ผลงาน : เดอะ เมอร์รี แองเจิล โอปุส ทู
สังกัด/จัดจำหน่าย : แคน / วีเอส กรุ๊ป โทร.0-2373-9405, 08-9794-4232, 08-9176-5881
ความยาว : 7 แทร็ก 51.01 นาที
ภาพรวม : อัลบั้มเพลงไทยบรรเลง ในแบบวงเครื่องสายผสม
ตัวเพลง : 9
การบรรเลงดนตรี : 8
การเรียบเรียงดนตรี : 8
การบันทึกเสียง : 9
ความเห็นสุดท้าย : อุดหนุนไว้ให้มี “เสียงไทย” อยู่ในบ้านของคุณ