บันเทิง

คมเคียวคมปากกา-นักสู้นิรนาม

คมเคียวคมปากกา-นักสู้นิรนาม

03 พ.ค. 2553

ช่วงวันที่ 24-25 เมษายนที่ผ่านมา ไปนั่งวงไหนก็ได้ยินเสียงร่ำลือถึงฤกษ์ร้าย ว่าวันที่ 26 เมษายน เป็นวันฤกษ์กรุงแตกบ้าง วันนเรศวรสวรรคตบ้าง ทำนองว่าจะเกิดเหตุร้ายซึ่งเดาได้ว่าอาจเป็นฤกษ์เลือดตกยางออก ปราบม็อบราชประสงค์ หรือที่ประดิดประดอยถ้อยคำว่า ขอพื้นที่

ดึกวันที่ 25 ก่อนเข้านอนจึงเปิดจอถ่ายสดจากราชประสงค์ทิ้งไว้ จอแดงพีเพิล แชนแนลแม้จะโดนปิด แต่ยังหาดูได้ตามเว็บต่างๆ ไม่ต้องเสาะหา ก็มีผู้ปรารถนาดีเมลมาแนะนำ บางเว็บดูแล้วไม่มีกลิ่นการเมืองเลย เช่นเป็นเว็บเกี่ยวกับกิจการขายนกบ้าง ขายต้นไม้บ้าง พระเครื่องบ้าง เปรียบไปก็เหมือนชุมชนออนไลน์การเมืองไปแอบนัดเจอกันแถวหลังร้านขายของเหล่านั้น 

 นี่แหละยุคม็อบอินเทอร์เน็ต ฉับไวครบครันกว่าม็อบมือถือ จึงไม่แปลกเลยที่พอมีข่าวรัฐบาลจะลุยม็อบ ผู้คนก็ถูกระดมมาตั้งท่ารับแน่นม็อบ

 พอตีสาม ตีสี่ ของเช้าวันที่ 26 เมษายน วันฤกษ์เลือดเดือดที่คาดกันว่าจะมีการลุยม็อบ ลืมตาขึ้นมาภาพที่เห็นคือชาวม็อบแดงกำลังดิ้นตามจังหวะเพลงกันอยู่หนาแน่น ไม่มีวี่แววหวาดกลัวใดเลย และกลับดูมีความมั่นใจฝ่ายตนเต็มเปี่ยม

 เพลงที่ดิ้นกันนั้นไม่เลือกว่าจะเป็นเพลงลูกทุ่ง เพลงเพื่อชีวิต ขอเพียงจังหวะมันๆ ดิ้นกันเป็นชั่วโมง คนแน่นอย่างนี้ ขืนยิงปืนโยนระเบิดเข้าไป เลือดคงท่วมถนน

 แล้วอีกวันก็ผ่านไป รัฐบาลยังไม่กล้าสลายม็อบ

 ความไม่กลัวตายนั้น เงินซื้อไม่ได้แน่นอน และคาดได้ว่า ความตายของชาวม็อบเมื่อ 10 เมษายน นั่นเองที่เป็นแรงบันดาลใจให้คนที่ยังอยู่ไม่กลัวตาย

 ในอดีต ม็อบเป็นแหล่งกำเนิดบทเพลงสะท้อนยุคสมัย คือยุคที่เกิดเพลงเพื่อชีวิต สมัย 14 ตุลาคม เป็นต้นมา ก่อนจะไปจบยุคที่ 6 ตุลาคม 2519 (คนยุคหลังมักเรียกรวมเป็น 16 ตุลา)

 กรรมกรชุมนุม ก็มีเพลงเกี่ยวกับกรรมกร พอชุมนุมขับไล่ฐานทัพอเมริกา ก็มีเพลงแบบ อเมริกันอันตราย หรือพอชาวนามาชุมนุมก็มีเพลงชีวิตชาวนา หลายเพลงยังติดหูมาจนทุกวันนี้

 และนั่นน่าจะเป็นยุคสมัยพิเศษ ที่การชุมนุมทางการเมืองทำให้เกิดบทเพลง เกิดเทศกาลขายหนังสือพ็อกเกตบุ๊ก เพราะบานประตูแห่งเสรีภาพเปิดออก ผู้คนย่อมใฝ่รู้ อยากอ่าน อยากคิดค้น อยากขับขานบทเพลงใหม่ๆ ที่สามารถถ่ายเทอารมณ์ความรู้สึกของตนได้เต็มเปี่ยมกว่าเพลงที่เคยมีอยู่

 เพลงดีๆ วงดนตรีใหม่ๆ กวีและนักเขียนชื่อใหม่ๆ จึงพากันมาแจ้งเกิดเป็นทิวแถวในช่วงปี 2516 ถึง 2519

 ต่างจากการชุมนุมทางการเมืองในยุคหลัง ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมของเสื้อเหลือง เสื้อแดง ที่ชุมนุมกันมายืดเยื้อ มีพักบ้าง รวมแล้วก็หลายปีดีดัก แต่ไม่มีเพลงที่ติดหูติดปากคนได้

 สมัยม็อบเสื้อเหลือง หนักไปทางใช้บริการวงดนตรีเพื่อชีวิตมาเรียกแขก ทั้งวงหน้าเก่า หน้าใหม่ แม้จะมีเพลงแร็พด่าทักษิณบ้าง ก็ไม่ถึงกับดังระเบิด  มาสมัยม็อบเสื้อแดง ฝ่ายนี้หนักไปทางนักร้องลูกทุ่ง ทั้งหน้าเก่าใหม่ แถมแกนนำยังมีเพลงประจำตัวซึ่งสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นผลงานการแต่งของแกนนำอย่าง อดิศร เพียงเกษ และวิสา คัญทัพ เนื้อหาส่วนใหญ่นอกจากแนะนำตัวคนร้องแล้ว ก็ว่าด้วยเรื่องคิดถึงทักษิณเป็นหลัก (เผื่อเอาใช้หาเสียงเลือกตั้งเที่ยวหน้าได้ด้วย)

 ในคลิปวิดีโอ “ใครฆ่าประชาชน เมื่อ 10 เมษา” ที่ฝ่ายเสื้อแดงทำออกมา มีเพลงประกอบสะดุดหูอยู่เพลงหนึ่ง ชื่อเพลง นักสู้ธุลีดิน ผลงานของ จิ้น กรรมาชน ลีลาเพลงขรึมๆ สู้ๆ หนักแน่น เข้ากันกับภาพคลิป จิ้น แต่งเพลงนี้ไว้ตั้งแต่ 23 มีนาคม ปี 2552  จิ้นแต่งเองแบบศิลปินเสรีชน ไม่มีใครมาวานหรือจ้างให้แต่ง ถือเพลงมา ขึ้นร้องบนเวที แล้วกลับไปเปิดร้านขายยาตามปกติ

 “แผ่นดินร่ำร้องระงม  ผู้คนทับถมสะอื้น ผ่านวันและคืน ลบเลือนจางหาย 
 ไหม้มอดเป็นเถ้าธุลี คนกล้ากว่านี้มีไหม ถึงวันที่สุดท้าย พร้อมตายเคียงกัน 
 หากคนหยัดยืนทะนง ตั้งหลักปักธงไม่หวั่น อย่ายอมแพ้มัน เท่านั้นก็พอ
 นี่คือความจริงที่เป็น เหนื่อยยากลำเค็ญไม่ท้อ ใช้เลือดเท่าไหร่หนอ ล้างสังคมทราม
 ข้างหน้าอนาคตงดงาม แม้ไฟลุกลามจะแผดเผา พรุ่งนี้เปรียบชีวิตของเรา คล้ายเป็นดังเงา หนึ่งเถ้าธุลี
 เกียรติภูมิอยู่กลางสนาม นักสู้นิรนามไม่สิ้น ผองธุลีดิน...จักพลิกชะตา”
 นี่คือเพลงจริง สะท้อนภาพคนจริง ในท่ามกลางคำโกหกที่เต็มเกลื่อนจอโทรทัศน์

วัฒน์ วรรลยางกูร