
คมเคียวคมปากกา - ลูกเทวดา และภาษาขแมร์วันละคำสองคำ
เขียนต้นฉบับวันอังคารที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๓ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือนหก
ครับ...ต่อด้วยเรื่อง “ลูกเทวดา” ของ สนุ๊ก สิงห์มาตร หรือ “สดัจค็อนแม” ของ คง มีชัย แต่ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจเรื่องภาษาสักเล็กน้อย คราวก่อนผมเขียน “ค็อน” แทนคำ “ของ” แต่ถูกแก้ไขเป็น “เคิล” หรือ “เคิน” ซึ่งคิดว่าน่าจะไม่ใช่ เพราะถ้าออกเสียงสระเอิน จะไปตรงกับความหมายว่า “เห็น” เช่น เคินติวดา > เห็นเทวดา ในคาราโอเกะเพลงนี้ก็เขียน “ค็อน” ผมจึงเลือกใช้คำนี้ แม้ใน "คม ชัด ลึก" จะเคยปรากฏคำ “เคิล” หรือ “เคิน” มาก่อน แต่เมื่อใช้พื้นฐานทางภาษาเท่าที่ตัวเองพอมีอยู่ จึงตัดสินใจใช้ “ค็อน”
อย่างไรก็ตาม ผมติดต่อ ไศล ภูลี้ ผู้รอบรู้ภาษานี้ยังไม่ได้ แต่มีเพื่อน อาจารย์สันธนะ ประสงค์สุข แห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ อดีตเขาเคยไปเป็นพนักงานธนาคารอยู่ในกัมพูชา เขาว่ามาดังนี้
“อันว่า “ค็อน” บ้านผมออกเสียง “ค็อน” แน่นอนครับ ส่วนบ้านอื่นไม่รู้ คงเป็นภาษาเขมรโบราณ แต่ผมยังหาต้นตอไม่เจอ เพราะเป็นภาษาพูด ในแผ่นเพลงก็คงเขียนตามภาษาพูด ปัจจุบันยังมีใช้อยู่ นอกจากเขมรสุรินทร์แล้ว ทางภาคเหนือกัมพูชา เช่น พระวิหาร เสียมเรียบ พระตะบอง อุดรมีชัย ฯลฯ ก็ใช้พูดกันอยู่ เช่น อันนี้ของใคร > นิ๊ห์ - ค็อน - ร - ณา หรือ ของฉัน > ค็อน - ขญม ถ้าภาษาทางการจะใช้คำว่า “โรเบ๊าะส์” ที่แปลว่า “ของ” เช่น อันนี้ของใคร > นิ๊ห์ - โรเบ๊าะส์ - ร - ณา หรือ ของฉัน > โรเบ๊าะส์ - ขญม และไม่น่าจะมาจาก “ของ” ในภาษาไทย แต่ว่าออกเสียงใกล้กัน “ค็อน” ใส่ไม้ไต่คู้ลงไปด้วย เพราะออกเสียงสั้น ส่วนที่สะกดเป็นอย่างอื่น ออกเสียงเป็นอย่างอื่น ก็มีความหมายเป็นอย่างอื่นไป...ชื่อเพลงนี้แปลง่ายๆ ว่า “เทวดาของแม่” หรือ “ลูกเทวดา” หรือ “เจ้านายของแม่” หรือ “ลูกบังเกิดเกล้า” ก็ได้ หรือจะแปลให้งดงามกว่านี้ก็ได้ ในอนาคตเป็นคำหนึ่งที่จะบรรจุไว้ใน “พจนานุกรมภาษาขแมรฺเลอ” แน่ๆ ครับ ท่านอื่นจะว่าอย่างไร ผมก็อยากรู้เหมือนกัน...”
นั่นนะสิครับ ท่านอื่นจะว่าอย่างไร ผมก็อยากรู้เหมือนกัน งานนี้ถ้า ไศล ภูลี้ ได้อ่าน จะสื่อสารถึงผมสักหน่อยก็ดี เพื่อช่วยกันเกลี่ยๆ เกลาๆ ความเข้าใจร่วมกัน ในการสะกดเขียนสะกดอ่านต่อไป
อาจารย์สันธนะเพิ่มคำแปลมาให้อีกคำคือ “เจ้านายของแม่” ก็ฟังดูดีอีกแบบ เพราะในความเป็นจริง หลายพ่อหลายแม่ก็เรียกหลายลูกว่า “เจ้านาย” อยู่แล้ว เรื่องพรรค์นี้มันเป็นไปได้ทั้งนั้น ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นจากสาเหตุไหน บางคนว่าเพราะการศึกษาที่มิได้ซึมซับเข้าถึงชีวิตจิตใจผู้คนอย่างแท้จริง สักแต่ว่าเรียนๆ กันไปให้จบ ได้วุฒิการศึกษา แต่ภายในจิตใจเปล่ากลวง พ่อแม่ที่ใฝ่ฝันให้ลูกเป็นเจ้าคนนายคน ไม่ต้องทำไร่ทำนาเลี้ยงวัวเลี้ยงควายให้ลำบากเหมือนตน ก็ได้ “เจ้าคนนายคน” เป็นของตนจนได้
ยังไม่ต้องพูดถึงสังคมเมือง ทุกวันนี้ลองดูสังคมชนบท แทบทุกหมู่บ้านจะมีพวก “ลูกเทวดา” กันทั้งนั้น ทั้งลูกหญิงลูกชาย ลูกหญิงก็อาจปล่อยเนื้อปล่อยตัวในวัยเรียน เอาแต่เที่ยวเตร่ เอาแต่แบมือขอเงิน ไม่ช่วยงานพ่อแม่ ลูกชายก็อย่างที่ว่า ติดเหล้า ติดยา ติดเพื่อน ติดสาว เที่ยวและแบมือเก่งเช่นกัน ผมเคยไปร่วมพิธีแต่งงานบ่าวสาวคู่หนึ่ง เจ้าบ่าวเจ้าสาวยังเรียนไม่จบ พอได้เสียกันแล้วพ่อแม่ฝ่ายหญิงก็บังคับแต่ง พ่อแม่ฝ่ายชายก็ต้องแต่งให้ แต่งกันเอิกเกริกในหมู่บ้าน ก่อนจะกลับไปเรียนต่อ โดยไม่รู้ว่าครูบาอาจารย์จะรู้หรือเปล่า? หรือแต่งงานกันตามพิธีแล้ว จะครองรักครองเรือนกันตลอดรอดฝั่งหรือเปล่า?
หลาย “ลูกเทวดา” กลายเป็นคนเปล่ากลวง คนไร้แก่นสาร หรือคนไร้ค่าของชุมชน ใช้ชีวิตไปวันๆ แบบไม่เห็นคุณค่าชีวิต เจ้าอารมณ์ เอาแต่ใจ แตะต้องไม่ได้ เวลามีเรื่องทะเลาะเบาะแว้ง ก็แก้แค้นกันแบบไม่กลัวตาย ไม่เห็นแก่ตัวเอง ไม่เห็นแก่พ่อแม่ ไม่เห็นแก่ผู้อื่น จะเห็นได้ว่ามีข่าวน่าเศร้าเกิดขึ้นบ่อยๆ ประเภทขว้างระเบิดหน้าเวทีหมอลำตายเจ็บนับสิบ ทั้งที่สาเหตุก็แค่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ของตัวเอง
นี่สะท้อนความล้มเหลวของอะไร? ครอบครัว? สังคม? การศึกษา? การเมือง?
ที่น่ากลัวยิ่งกว่านั้นก็คือ คนประเภทนี้พร้อมจะตกเป็นเหยื่อหรือเครื่องมือของฝ่ายไหนก็ได้ โดยเฉพาะผู้มีอำนาจมีเงินจ้างวาน จะให้ไปตีหัวหมาด่าแม่ควายก็ได้ถ้าได้เงิน ว่ากันว่า - สถานการณ์บ้านเมืองวันนี้ หลายคนไร้ค่าได้พลิกตัวเองเป็นคนดูเหมือนมีค่าขึ้นมา เมื่อเขาเชื่อหรือถูกทำให้เชื่อว่าตัวเองมีอุดมการณ์ประชาธิปไตย ได้เข้ากรุงเทพฯ ไปไล่รัฐบาลแล้วมันเท่ มีกินมีใช้ มีความหวังเงินแสนเงินล้านในอนาคต เพราะเขาดูโทรทัศน์บางช่อง ฟังวิทยุชุมชนบางคลื่น เขาเชื่อว่ารัฐบาลนี้เป็นโจร อดีตรัฐบาลเป็นพระเอกถูกรังแก นั่นนะสิ...แล้วผู้อำนวยความสะดวกให้พวกเขาฮึกเหิมถึงเพียงนั้น...คือใคร?
คนเหล่านี้ตื่นตัวทางการเมืองเองหรือ? มีอุดมการณ์ทางประชาธิปไตยเองหรือ?...เปล่าหรอก!
"ไพวรินทร์ ขาวงาม"