บันเทิง

78 ปี "ปอง ปรีดา"สาวฝั่งโขงไม่สิ้นมนต์ขลัง

78 ปี "ปอง ปรีดา"สาวฝั่งโขงไม่สิ้นมนต์ขลัง

05 เม.ย. 2553

ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับงาน "มุทิตาจิต 78 ปี ปอง ปรีดา" หรือ "คำปัน ผิวขำ" นักร้อง นักแต่งเพลง ชาว จ.ขอนแก่น เจ้าของผลงานเพลงอมตะชื่อก้อง "สาวฝั่งโขง" และยังได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินมรดกอีสานในปี 2551

  สำนักวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ สมาคมสื่อมวลชนจังหวัดขอนแก่น มูลนิธิน้ำ สโมสรนักเขียนภาคอีสาน ชมรมนักร้องนักดนตรีขอนแก่น สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 7 (ขอนแก่น) ได้จัดงานนี้ขึ้นที่ลานศิลปวัฒนธรรม ด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ท่ามกลางท้องฟ้าโปร่ง ดาวสวย เดือนเด่น และแฟนเพลงปอง ปรีดา ที่เดินทางมาจากทั่วสารทิศ สมกับชื่องานที่ว่า "รวมคน รวมใจ มอบให้ ปอง ปรีดา"
 
 ท่ามกลางใบหน้าที่ยิ้มแย้มของแขกเหรื่อที่มาร่วมงาน เมื่อได้ฟังเสียงของ "ปอง ปรีดา" เจ้าของเสียง "ผิวปาก" ที่หาใครเทียบยาก ที่ขนบทเพลงยอดฮิตในอดีตมาขับร้อง โดยมี บุญมา ภูเม็ง หรือ ชาตรี เสงี่ยมวงศ์ ผอ.ศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียน อ.กระนวน จ.ขอนแก่น เล่นแอคคอร์เดียนประกอบ ปราโมทย์ สัจจรักษ์ ผู้ว่าราชการ จ.ขอนแก่น เป็นประธานเปิดงาน และมีแขกผู้มีเกียรติ อาทิ  พยัต ชาญประเสริฐ รองผู้ว่าฯ ผศ.วิชัย ณีรัตนพันธุ์ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและศิษย์เก่าสัมพันธ์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กวี สุภธีระ  สมคิด สิงสง  โรจน์ คำพาที จากกฟผ. และอื่นๆ อีกกว่า 300 ชีวิต
 
 ขณะที่ฟากศิลปินอีสานก็มาร่วมงานก็ไม่น้อยหน้า ทั้งแม่ ฉวีวรรณ พันธุ หรือ ฉวีวรรณ ดำเนิน  สรเพชร ภิญโญ เจ้าของเพลง "หนุ่มนาข้าว สาวนาเกลือ” โดยมาร่วมงานร่วมบริจาคและร่วมร้องเพลงด้วย ถาวร สายทองคำ เงาเสียงของ เทพพร เพชรอุบล

  บรรยากาศในงาน เริ่มด้วยการขึ้นกล่าวแสดงมุทิตาจิตของ ผศ.วิชัย ณีรัตนพันธุ์ ต่อด้วยผู้ว่าราชการ จ.ขอนแก่น และการเปิดวีซีดีที่บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของ ปอง ปรีดา ที่เข้ากรุงเทพฯ เมื่อปี 2496 ทำสารพัดอาชีพ ไม่เว้นแม้แต่การชกมวยที่ชก 26 ครั้งแต่ไม่เคยแพ้ ด้วยฉายา "สิงห์น้อย เกตุสงคราม" และขณะที่ทำงานก็มักจะหนีงานเพื่อออกไปประกวดร้องเพลงตามงานวัดคว้ารางวัลกลับมาแทบทุกครั้ง จากนั้นเขาก็ก้าวเข้าสู่อาชีพนักร้อง โดยเพลง "สาวฝั่งโขง" ถือเป็นบทเพลงที่พลิกชีวิตของ ปอง ปรีดา โดยประวัติชีวิตและผลงานเรียบเรียงโดย ประยูร ลาแสง หรือ พระไม้ รองประธานสโมสรนักเขียนภาคอีสาน

  เมื่อถึงช่วงสำคัญของงานที่ "ปอง ปรีดา" ขึ้นเวที แต่ไม่สามารถยืนร้องเพลงได้ตลอดด้วยน้ำหนักตัวกว่า 110 กิโลกรัม และโรคเบาหวาน แต่น้ำเสียงดีไม่มีตก เปิดตัวเพลงแรกด้วยเพลง "ล่องโขงคืนเพ็ญ" ท่ามกลางเสียงปรบมือกราว พอจบเพลงแรกปองพูดปิดท้ายว่า "จบแล้วๆ บักหำ" ทำเอาฮากันตรึม

 ตามด้วยเพลงอมตะ "สาวฝั่งโขง" ต่อด้วยเพลง เทพีเชียงใหม่ สาวป่าซาง สาวอยู่บ้านใด๋ และนางในดวงใจ และยังมีเพลงที่ร้องสดๆ อย่างเพลง ”สาวเจ้าไปไส" โดยในระหว่างการร้องเพลงมีการพูดคุยถึงที่มาของเพลง สลับกับการขึ้นมอบเงินบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา รวมทั้งการเปิดประมูลแผ่นครั่ง ซึ่งมีเพียง 24 แผ่นที่ ปอง ปรีดา ได้เก็บไว้เมื่อ 53 ปีก่อน
ปิดท้าย  สมคิด สิงสง ประธานมูลนิธิคนกับควาย ขึ้นกล่าวคารวะพระคุณครูด้วยบทกวีชั้นยอด และ บทผญาคารวะของ "พระไม้" ก่อนจะสลับให้แขกรับเชิญขึ้นร้องเพลงขับกล่อมบ้าง

  รวมยอดเงินในค่ำคืนวันนั้น กว่า 100,000 บาท โดยจะมอบให้ "ปอง ปรีดา" เพื่อนำไปใช้จ่ายและเป็นค่ารักษาพยาบาลตัวเอง และ ปอง ปรีดา ยังได้มอบเงินก้นถุง เพื่อใช้เป็นเงินก้อนแรกในการก่อตั้ง "กองทุนศิลปินอีสาน" ที่เพิ่งจะก่อตัวขึ้นมา จำนวน 10,000 บาท โดยกองทุนนี้ จะเป็นกองทุนที่หารายได้เพื่อช่วยเหลือศิลปินอีสานที่เดือดร้อนและเจ็บป่วยในอนาคต

  นี่เป็นการจัดงานครั้งแรกในนามของเครือข่ายที่รวมตัวกันเฉพาะกิจ เพื่อตอบแทนคุณคนรุ่นก่อนที่สร้างสรรค์สิ่งดีงามเอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ และเป็นพลังของชาวขอนแก่นที่รักเสียงเพลงและร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้น
           มยุรี อัครบาล เรื่องและภาพ