
คมเคียวคมปากกา - ดาว (น์) มีไว้เบิ่ง (ผ่อน)
เขียนต้นฉบับวันจันทร์ที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๓ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือนห้า
ผ่านวันที่เขาเรียก “เสาร์ห้า” มาแล้ว ท่ามกลางวิตกจริตต่างๆ นานาที่มิอาจหลีกเลี่ยง แม้หลายคนพยายามทำใจให้สงบเย็นเป็นประโยชน์ แต่หลายคนก็ยิ่งพยายามทั้งมโนกรรม วจีกรรม และกายกรรม เพื่อเร่งเร้าให้คนสงบมิอาจสงบได้ น้ำลาย และน้ำเลือด เลอะเทอะเปรอะเปื้อนแผ่นดินด้วยเจตนาน่าอันขยะแขยง ดูเหมือนเลือดประชาชนหยดลงดินแล้วหลายหยด มากกว่า “หากแม้นว่ามีเลือดแม้แต่หยดเดียวของประชาชนหยดลงสู่ผืนแผ่นดิน...” ตามที่คนบางกลุ่มประกาศเรื่อง “คนต้องเท่ากัน” เสียอีก?
แล้วไงล่ะ?...จะทำอย่างไรต่อไปล่ะ?...หรือต้องสะอิดสะเอียนขยะแขยงกับเลือดเน่าเท่าเทียมกัน ที่สุดแล้ว การเรียกร้องสิทธิเสรีภาพตัวเองด้วยการละเมิดสิทธิเสรีภาพผู้อื่น กระทั่งข่มขู่คุกคามผู้อื่นนั้น ไม่ว่าฝ่ายใดชนะฝ่ายใดแพ้ ปัญหาก็ไม่มีทางยุติลงง่ายๆ วิบากกรรมแค้นต้องชำระจะยืดเยื้อยิ่ง
ชอบเลยชอบ เกลียดเลยเกลียด ความยุติธรรมจึงเทไปเทมาตามคลื่นอารมณ์ จะว่าไปแล้ว คนที่เลือกและสนับสนุนฝ่ายรัฐบาลปัจจุบันก็คือประชาชน คนที่เลือกและสนับสนุนฝ่ายค้านปัจจุบันก็คือประชาชน จำนวนน่าจะมากน้อยใกล้เคียงกัน ถ้ามองข้ามพรรคการเมืองฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไปก็จะพบแต่ประชาชนทั้งนั้น ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการเลือกของตัวเอง ไม่ว่าฝ่ายไหนได้เป็นรัฐบาล ย่อมมีหน้าที่ดูแลประชาชนทุกฝ่าย ไม่ใช่จะดูแลและขอบคุณเฉพาะผู้ที่สนับสนุนตนเท่านั้น ประชาชนเหนือใต้ออกตกมีสิทธิ์ชอบพรรคหนึ่งและไม่ชอบพรรคหนึ่ง แต่นักการเมืองไม่มีสิทธิ์ทอดทิ้งคนที่ไม่เลือกตน ถ้าหากพวกเขารักประชาชนจริงอย่างที่ชอบกล่าวอ้าง
นั่นแหละ ที่น่ากลัวก็คือ แม้คนเรามีสิทธิ์ชอบ มีสิทธิ์เกลียด แต่ถ้าชอบเกินชอบ เกลียดเกินเกลียด กระทั่งลุ่มหลงมัวเมาฝ่ายตน พูดเท็จใส่ร้ายป้ายสีฝ่ายอื่น ย่อมนำไปสู่ความเข้าใจผิดคิดร้ายต่อกัน กระทั่งถึงขั้นเกิดความรุนแรงได้ คำพูดจายุยงผลักประชาชนออกเป็นฝ่ายตรงข้ามกันตามวาทกรรมของนักเล่นการเมือง จึงสะท้อนมโนกรรม วจีกรรม และมโนกรรมของคนเหล่านั้น คำว่า “ประชาชน” ยิ่งใหญ่ กว้างใหญ่ และศักดิ์สิทธิ์ เกินกว่าที่นักการเมืองคับแคบต่ำตื้นบางคนจะเหมารวมเอาตามใจได้ทั้งหมด
ยามนี้ ผมไม่ได้สะอิดสะเอียนแต่เพียง “น้ำเลือด” จนกินข้าวไม่ลง ยังขยะแขยง “น้ำลาย” ของพวกนักโต้วาทีรับจ้างรบด้วยขี้ปาก ทั้งไม่ค่อยแน่ใจนักว่าเขามี “ประชาชนทั้งประเทศ” อยู่ในหัวสมองหรือไม่?
ครับ “ดาวมีไว้บ่น” เอ๊ย...ขอโทษ “ดาวมีไว้เบิ่ง” ที่จริงว่าจะเล่าเรื่องสบายๆ ตามภารกิจด้านศิลปวัฒนธรรมของตัวเอง หมู่นี้มีครูและนักเรียนเชิญให้ไปร่วมกิจกรรมอ่านเขียนเรียนคิดอยู่บ่อยๆ ผมไม่ค่อยขัด ถ้าอยู่ในรัศมีที่สะดวก ถือว่าตัวเองไม่ถนัดดาบหอกกระบอกปืนหรือเล่นลิ้นทางการเมืองกับใคร ก็เลือกให้จิตสำนึกเรื่องชีวิต เรื่องเพลง เรื่องกลอน แก่เยาวชนที่เขาจะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า
แต่ก็อย่างว่า ไปงานอย่างนี้ แม้ไม่พูดคุยเรื่องการเมือง แต่ก็อดจะเงี่ยหูฟังการบ่นเรื่องการเมืองไม่ได้ หลายคนเฉยๆ กลางๆ หลายคนเอียงข้างฝ่ายหนึ่ง หลายคนเกลียดฝ่ายหนึ่ง หลายคนบอกการโกงบ้านโกงเมืองเป็นต้นตอปัญหาทั้งหมด หลายคนว่าการเข้าสู่วงจรการเมืองจำเป็นต้องโกง นักการเมืองไม่ผิด รัฐธรรมนูญผิด...นานาทรรศนะจากบุคคลหลายระดับชั้น บางครั้งผมก็เงียบ ทั้งที่คันปากยิบๆ (๕๕๕)
บ่นยาวไปสักหน่อย ขออภัย กลับมาที่อะไรคือคำที่จั่วหัวเรื่องไว้ “ดาว (น์) มีไว้เบิ่ง (ผ่อน)”
ต้องยอมรับว่าเพลง “ดาวมีไว้เบิ่ง” หรือ “อยากผูกคอตายใต้ต้นมะเขือขื่น” ของ ไหมไทย ใจตะวัน ที่แต่งโดย วสุ ห้าวหาญ กำลังมาแรงสุดๆ ได้ยินร้องกันสนั่นสนุกทั้งเด็ก ทั้งหนุ่ม ทั้งแก่ พ.ศ.นี้ ไหมไทยน่าจะตระเวนเหนือใต้ออกตกได้แบบเสียงดีสีไม่ตก
วันก่อน ผมไปร่วมงาน “ดนตรีสร้างสุข” ที่ริมน้ำพอง ขอนแก่น ตามคำเชิญของ คำร้อย คำเพราะ แห่ง เครือข่ายดนตรีสร้างสุข ภาคอีสาน ผู้ขยันจัดกิจกรรม “สร้างเสริมสุขภาวะต่อเด็ก เยาวชน ครอบครัว ชุมชน และสังคม ที่ต่อเนื่องยั่งยืน...” ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ถือว่าไม่มัวรอแต่ฝ่ายการเมือง หากลงมือทำด้วยกำลังจิตใจใฝ่ดี ด้วยตระหนักว่าสังคมกำลังเผชิญกับปัญหารอบด้าน เยาวชนขาดความรักความอบอุ่น นำไปสู่อารมณ์ก้าวร้าวรุนแรงไร้เหตุผล
มีหลายนักเขียนนักดนตรีไปช่วยงานนี้ อาทิ บุญมา ภูเม็ง นิด ลายสือ ไฝ สันติภาพ พรชัย แสนยะมูล สายชล สิงห์สุวรรณ ทนง โคตรชมภู ตอนผมกำลังพูดคุยเรื่อง “บทกวีในเสียงเพลง” และยกตัวอย่างเพลง “ดาวมีไว้เบิ่ง” นั้น ไอ้หนุ่ม “หลอด” อำพล รักษ์มณี สมาชิกค่ายผู้พิการสายตา แต่ปฏิภาณเป็นเยี่ยม ตะโกนบอกผมว่า “ดาวน์มีไว้ผ่อน” (วสุรู้หรือเปล่า?)
แม่นแล้วบักหลอดเอ๋ย...ศุกร์หน้าจะเล่าเรื่องเขาอีก เขาแต่งเพลงชมสาวเสนอผมด้วยครับ!
"ไพวรินทร์ ขาวงาม"