บันเทิง

ชี้ข้อสอบปรนัยต้นเหตุการศึกษาไทยตกต่ำ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ชี้ข้อสอบปรนัยต้นเหตุการศึกษาไทยตกต่ำ ประธานวิชาคณิตศาสตร์ สอวน.ระบุชัดข้อสอบปรนัยต้นเหตุผลสัมฤทธิ์การศึกษาเด็กไทยตกต่ำ ชี้ครูไทยมุ่งสอนเพื่อไปสอบแข่งขัน มากกว่าสอนให้เด็กมีความรู้ สอบไม่ผ่านก็เลื่อนชั้นได้ เด็กจึงไม่ตั้งใจเรียน

ศ.ดร.ณรงค์ ปั้นนิ่ม อาจารย์สาขาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ประธานคณะกรรมการผู้ดูแลวิชาคณิตศาสตร์ มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการ และพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน. ) เปิดเผยว่า ข้อมูลที่สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) นำมาเปิดเผยว่าเด็กไทยได้คะแนนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยนานาชาติ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนทั้ง 2 วิชายังต่ำกว่าช่วงปี 2542-2546 ว่าเป็นเรื่องจริง และเป็นปัญหาที่หมักหมมอยู่ในระบบการเรียนการสอนในสังคมไทยมานาน เนื่องมาจากครูไทยใช้ระบบข้อสอบปรนัยมาวัดผลเด็ก เพราะเป็นข้อสอบที่ไม่ได้พัฒนาระบบคิด การใช้เหตุผล ทำลายเด็กไทยอย่างมาก บางคนทำข้อสอบโดยไม่ต้องอ่านคำถามใช้วิธีสุ่มเดาก็สามารถสอบผ่านได้ สังคมการศึกษาไทยบริโภคข้อสอบปรนัยมาตั้งแต่ปี 2516 ถึงตอนนี้เป็นเวลาถึง 35 ปีแล้วที่วงจรข้อสอบปรนัยได้ทำลายเด็กไทย โดยที่ครูไทยยังไม่รู้ตัว ศ.ดร.ณรงค์ กล่าวว่าที่สำคัญเมื่อมาเรียนในระดับมหาวิทยาลัยมาเจอข้อสอบอัตนัยหรือข้อสอบที่ให้คิดวิเคราะห์จึงมีปัญหา เด็กไทยทุกคนเป็นเด็กที่ทำข้อสอบได้ แต่ไม่มีความรู้ เข้าสู่การทำงานก็ไร้คุณภาพทำงานไม่ได้ จะเห็นว่าผลพวงที่ใช้ข้อสอบปรนัยกับเด็กนั้นมันทำลายเด็กอย่างมาก ประเทศที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง จะไม่ใช้ข้อสอบปรนัย ศ.ดร.ณรงค์ ระบุด้วยว่าระบบการเรียนที่ไม่ให้มีการซ้ำชั้นนั้นก็ทำลายเด็ก ทำให้ไม่มีความตั้งใจในการเรียน บางคนได้เกรดเฉลี่ย 0 มาซ่อมก็สามารถผ่านไปได้ เด็กจึงไม่มีความตั้งใจในการเรียน เพราะคิดว่าสอบไม่ผ่านก็มาซ่อมได้ ซึ่งแตกต่างจากการเรียนในสมัยก่อนมาก มีการซ้ำชั้นจึงตั้งใจกว่าเด็กปัจจุบันนี้ แม้ว่าจะมีเด็กเก่งไปแข่งขันระดับนานาชาติไม่ว่าจะเป็นคณิตศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ก็คว้ารางวัลต่างๆ มามากมาย แต่เพียงกลุ่มน้อย ส่วนใหญ่อยู่ในระดับที่แย่มาก และยังน่าเป็นห่วง "การที่ สสวท.ตั้งเป้าว่าจะมีแผนพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ให้เด็กไทยมีคะแนนสูงขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้า สสวท.ต้องปรับกระบวนการคิด การพัฒนาตำราต่างๆ ให้ครูมีความรู้ มีทักษะ มีวิธีการในการไปสอนคณิตศาสตร์ หากครูยังสอนแบบปรนัย ซึ่งไม่อาจจะวัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาได้ เมื่อเด็กต้องไปวัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่วัดกันด้วยความรู้ ความเข้าใจ เหตุผลเด็กไทยจึงทำไม่ได้และผลสัมฤทธิ์อยู่ในเกณฑ์ต่ำ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ