บันเทิง

นาคปรก

นาคปรก

11 มี.ค. 2553

หนังที่มีเนื้อหาข้องเกี่ยวกับพุทธศาสนา หรือนำเสนอภาพลักษณ์ของสงฆ์ ไม่ว่าจะในทางใดทางหนึ่ง มักจะก่อให้เกิดความสุ่มเสี่ยง อ่อนไหว จนทำให้มีเสียงครหาถกเถียงตามมาทุกครั้ง ตั้งแต่การนำเสนอภาพอันไม่เหมาะสม ทั้งการปรากฏของสัญลักษณ์พุทธศาสนา การนำเสนอภาพพฤติกรรมข

   ครั้งหนึ่งหนังอย่าง “แสงศตวรรษ” “โกยเถอะเกย์” “โกยเถอะโยม” ฯลฯ ก็ถูกกระแสต่อต้านจากคนในองค์กรที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา จนเรื่องแรกต้องถอยร่น ไม่อาจต่อกรยินยอมให้หนังถูกบั่นทอนส่วนหนึ่งส่วนใด ในขณะที่สองเรื่องหลัง ยินยอมพร้อมใจให้มีการตัดทอน เพิ่มคำเตือน หรือผ่านกระบวนการแก้ไขนำไปสู่การออกฉายได้ในที่สุด

 ถ้าเพียงแค่หนังตลกอย่าง “หลวงพี่เท่ง 1-2” ที่แม้จะมีตัวละครสงฆ์เป็นศูนย์กลางของเรื่อง แต่แนวคิดว่าด้วยการพยายามเชื่อมโยงและชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้าน ชุมชน และพระภิกษุ ผ่านเรื่องราวความสนุกสนาน ก็ยังไม่วายเกิดข้อพิพาทเล็กๆ น้อยๆ จนต้องมีการปรับเปลี่ยนภาพบางฉากบางส่วนก่อนหนังออกฉาย ลำพังหากแค่หนังตลก หรือหนังที่จำลองภาพชีวิตผู้บังเกิดเกล้าของคนทำหนัง ผ่านมุมมองที่มีต่อโลกและสังคมร่วมสมัย โดยไม่ได้ตั้งใจพาดพิงถึงสถาบันพุทธศาสนา ยังไม่วายถูกลิดรอนการนำเสนอภาพลักษณ์บางอย่างของสงฆ์แล้วหนังที่พุ่งประเด็นไปยังความสำคัญของศาสนา รวมทั้งมีการนำเสนอภาพอันล่อแหลม พฤติกรรมที่ไม่บังควรของภิกษุสงฆ์ นัยว่า เพื่อเป็นการท้าทายแก่นแกนแห่งศรัทธาว่า พุทธศาสนาสามารถกล่อมเกลาจิตใจผู้คนได้จริงหรือ? หนังเรื่อง “นาคปรก” จึงถูกจับตามองและตั้งคำถามถึงความเหมาะสม และเกือบจะถูกพิพากษาในทันทีว่า กำลังหมิ่นแคลน บุคคลผู้ทำหน้าที่เผยแผ่ศรัทธาความเชื่ออันมีมานานกว่าสองพันปี

 ความล่อแหลมของ “นาคปรก” เริ่มจากเรื่องราวของหัวขโมยสามคน รวมตัวกันปล้นรถขนเงินแล้วพลั้งมือฆ่าตำรวจตาย พวกมันหนีการตามล่า แอบนำเงินมาซ่อนไว้ในวัดแห่งหนึ่ง ครั้นเมื่อกลับมาอีกทีก็พบว่า บริเวณนั้นมีการสร้างโบสถ์ทับเอาไว้แล้ว หนทางเดียวจะนำเงิน 7 ล้านคืนมาได้ คือการปลอมตัวบวชเป็นพระ แล้วฉวยโอกาสช่วงปลอดคน ขุดหาเงินที่ซุกซ่อนอยู่ใต้ฐานโบสถ์

 ไม่เพียงการสร้างภาพโจรร้ายที่ซุกซ่อนมาในคราบผ้าเหลือง หนังยังเพิ่มความท้าทายขึ้นไปอีก ด้วยการเพิ่มตัวละครเข้ามาข้องเกี่ยวมากมาย ทั้งโสเภณี ตำรวจ เด็กวัด แต่ละคนเกี่ยวโยง ร้อยรัดกันด้วยสิ่งๆ เดียว นั่นคือ ‘โลภะ’ ที่สำคัญการแสดงออกถึงพฤติกรรมของโจรห่มผ้าเหลือง ที่หมิ่นเหม่ต่อศรัทธาพุทธศาสนิกชน ทั้งการพยายามร่วมหลับนอนกับสีกา การทำร้ายเพศบรรพชิตโดยไม่เกรงต่อบาป...เหล่านี้คือฉากหน้าที่ปรากฏใน “นาคปรก” ภาพที่ก้าวร้าวรุนแรง ไม่เหมาะควร ถูกนำเสนอในระดับเกินกว่ามาตรฐานหนังไทยเท่าที่เคยมีมา

 หากมองกลับมาในเบื้องลึก ประเด็นที่หนังต้องการสื่อ กลวิธีที่หนังใช้บอกเล่า ล้วนเป็นไปเพื่อปอกเปลือกความเลวของมนุษย์ สะท้อนความต่ำช้าในก้นบึ้งจิตใจผู้คนโดยมีพุทธศาสนาเป็นหลังคาโอบล้อม อลัชชีบางคนใช้เป็นเครื่องกำบังอำพรางความชั่วช้า บางคนแม้ได้อยู่ใกล้ หากไม่ได้ใช้ห่มคลุมกลับรู้สำนึก แยกแยะผิดชอบชั่วดีโดยมีเหล่าชาวบ้านผู้ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ที่ศรัทธาของพวกเขาเป็นหนึ่งในเครื่องมือขัดเกลาศีลธรรมความดีงามให้โจรบางคนสำเหนียกได้  

 “นาคปรก” จัดเป็นหนังที่ตีแผ่ด้านมืดของมนุษย์มากกว่าที่จะใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือกล่อมเกลาจิตใจมนุษย์อย่างตรงไปตรงมา ความโดดเด่นอีกอย่างอยู่ที่ชั้นเชิงการเล่าเรื่องในรูปแบบหนัง ‘ฟิล์มนัวร์’ ซึ่งแทบไม่เคยปรากฏมาก่อนในห้วงเวลาหลายสิบปีนับจากหนังอย่าง “กะโหลกบางตายช้า กะโหลกหนาตายก่อน” (2534)

 ตั้งแต่การสร้างบรรยากาศขมุกขมัว ใต้แผ่นฟ้าอึมครึมด้วยสายฝนพรำเกือบตลอดเวลา วัดป่าล้อมสถานที่สำคัญของเรื่องราวอันเขียวครึ้มด้วยแมกไม้ โทนสีโลว์คีย์ ที่สะท้อนถึงความมืดดำในใจผู้คน (แม้แต่จีวรของโจรปล้นผ้าเหลืองก็มีสีหมองคล้ำกว่าพระรูปอื่น)

 หลากหลายตัวละครล้วนมีมิติแห่งความเป็นมนุษย์ปุถุชน แม้บางคนจะเป็นโจรบาปหยาบช้าโดยกมลสันดาน แต่ในขณะเดียวกันโจรบางคนที่ย่ำเดินไปในทางผิดก็เพราะต้องการหาเงินไปรักษาแม่ ภิกษุบางรูปที่ดูสมณะน่าเลื่อมใส หากแต่พฤติกรรมบางขณะก็ชวนดูให้น่าสงสัยเคลือบแคลง มือกฎหมายบางคนตัวตนที่แท้จริงก็เลวทรามไม่ด้อยไปกว่าอาชญากรร้าย ทุกตัวละครต่างมีด้านดีด้านร้าย มีทั้งความมืด ความสว่างในจิตใจ

 หลายคนมีพื้นฐานแห่งความดีแต่ก็มีความโลภเข้าครอบงำ กลายเป็นตัวละครสีเทา ไม่ดำจัด ขาวจัด ที่ล้วนสร้างความคลุมเครือชวนฉงน แต่ที่สำคัญแนวคิดทางพุทธที่แทรกไว้ก็ถือเป็นบทสรุปอันงดงามให้แก่หนังที่ไม่ว่าใครก็ตามก่อกรรมใด ย่อมได้รับผลกรรมนั้นตามหลักธรรมของพระพุทธองค์ ซึ่งก็คือตรรกะ ที่เกิดขึ้นตามวิถีแห่งธรรมชาตินั่นเอง

 พุทธศาสนา ในหนังอาจมองเป็นแค่สัญลักษณ์ ที่ชักนำตัวละครมาเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันและนำไปสู่บทสรุปตามผลกรรมที่เกิดขึ้น ความท้าทายที่หนังสร้างขึ้น แม้จะลงเอยด้วยการเป็นคำถามต่อสังคมเมื่อหนังเข้าฉาย หลายเสียงอาจจะตะโกนถามถึงความเหมาะควร แต่หากเราเปิดใจยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นในสังคมว่าเราอยู่ในโลกแห่งการเอาตัวรอด มีคนชั่ว-ดีอยู่รายล้อมที่พร้อมเอารัดเอาเปรียบหากเราเพลี่ยงพล้ำ คำตอบหนึ่งในหนังที่บอกกับเราอยู่เสมอก็คือ ไม่ว่ามนุษย์จะเป็นอย่างไร คำสอนในพุทธศาสนายังมั่นคง ไม่คลอนแคลน แปรเปลี่ยนไปตามจิตใจผู้คนที่อาสาเข้ามาเป็นผู้สืบทอดที่บางคนอาจยังตัดกิเลสไม่ขาด

 เวลากว่า 3 ปี ที่ “นาคปรก” เฝ้ารอ เพื่อจะได้เข้าฉายโดยไม่ถูกตัดทอน เมื่อถูกจัดประเภทของหนังให้เหมาะสมกับอายุผู้ชม ตามพ.ร.บ.ภาพยนตร์ฉบับ 2551 แม้สุดท้ายจะถูกบังคับให้ขึ้นข้อความเตือนในบางช่วงบางตอนของหนังอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ทำให้เสียอรรถรสแต่อย่างใด และไม่ว่าเนื้อหาหรือการนำเสนอของ “นาคปรก” จะล่อแหลมต่อศีลธรรมแค่ไหน แต่ความตั้งใจสาวไส้ความต่ำทรามของมนุษย์ออกมาให้ได้รู้สึกฉุกคิดกันบ้าง ถือเป็นความพยายามที่น่านับถือ เป็นหนังไทยที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งในรอบหลายปีครับ

ชื่อเรื่อง : นาคปรก
ผู้เขียนบท : ภวัต พนังคศิริ, ณัฐ นวลแพง, โกเศส ชฤทธิ์พร, พีระภัทร ชูตระกูล, โยธิน สวัสดิ์เรือง
ผู้กำกับ : ภวัต พนังคศิริ
นักแสดง : เรย์ แมคโดนัลด์, สมชาย เข็มกลัด, ปิติศักดิ์ เยาวนานนท์, ทราย เจริญปุระ, สะอาด เปี่ยมพงษ์สานต์
เรตติ้ง : น.18+ ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้ชมที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป
วันที่เข้าฉาย : 18 มีนาคม 2553