"หมอพรทิพย์" ชี้ ตำรวจใช้ภาพพลาดคดี "แตงโม" ถ้าโดนใบพัดเรือจริง ทำแบบนี้ได้
กลายเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมทั้งประเทศ หลังจากที่ตำรวจได้แถลงสรุปสำนวนคดี "แตงโม" ซึ่งล่าสุด แพทย์หญิงคุณหญิง "พรทิพย์ โรจนสุนันท์" หรือ "หมอพรทิพย์" สมาชิกวุฒิสภา (สว.) และอดีตผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ก็ได้ออกมาพูดถึงประเด็นนี้!!
จากกรณีที่เมื่อวานนี้ (28 เมษายน 65) ทาง พล.ต.ท.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 พร้อมคณะ ได้มีการตั้งโต๊ะแถลงกรณีภาพที่นำเสนอในวันแถลงข่าวคดี "แตงโม" เมื่อวันที่ (26 เมษายน 65) ที่ผ่านมา โดยชี้แจงว่า "บาดแผลขนาดใหญ่บริเวณขาขวาเกิดจากใบพัดเรือ ซึ่งได้ยกกรณีตัวอย่างโดยมีการอ้างอิงและเปรียบเทียบกับคดีในต่างประเทศที่ระบุว่ามีผู้เคราะห์ร้ายถูกใบพัดเรือชนิดเดียวกันปั่นขา"
แต่ในขณะที่หลายคนได้ตั้งข้อสังเกตว่า "สรุปแล้วข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เนื่องจากสำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าผู้เคราะห์ร้ายที่เป็นนักศึกษาสาววัย 21 ปี เคยได้รับบาดแผลดังกล่าวจากงานสังสรรค์ ตั้งแต่ปี 2019 โดยถูกของมีคมกรีดที่ขาขวา ซึ่งไม่ได้มีการกล่าวถึงใบพัดเรือแต่อย่างใด"
โดยทางตำรวจได้มีการชี้แจงประเด็นที่หลายคนสงสัยต่อว่า "ภาพที่นำมาอธิบายลักษณะบาดแผลเป็นรูปเว้าโค้ง โดยตำรวจได้ใช้คำว่าบาดแผลเว้าโค้งที่มีลักษณะเดียวกันในวันแถลงสรุปคดี เนื่องจากมีข้อจำกัดทางกฎหมายที่ไม่สามารถนำบาดแผลจากศพมานำเสนอได้ โดยแผลหลังการเย็บ จะมีรูปโค้งเว้าเป็นอักษรตัวเอส (S) ภาพบาดแผลนั้น สามารถค้นหาได้ด้วยคำว่า Propeller Wound ซึ่งมีทั้งบาดแผลในคนและสัตว์โดยตำรวจได้ศึกษางานวิจัยของต่างประเทศ ในเรื่องคนที่ถูกใบพัดเรือฟันในลักษณะต่างๆ ยืนยันว่าตำรวจไม่สามารถบิดเบือนข้อเท็จจริงได้ในโลกที่ผู้คนสามารถค้นหาข้อมูลต่างๆ ได้เช่นปัจจุบัน จึงต้องขออภัยประชาชนที่นำภาพซึ่งไม่ได้ระบุแหล่งที่มาอย่างครบถ้วน จนทำให้เกิดความเข้าใจที่กำกวมและมีข้อสงสัย ยืนยันไม่กระทบคดี"
ล่าสุด "หมอพรทิพย์" ได้ออกมาเปิดใจผ่านทางรายการ "ทุบโต๊ะข่าว" ถึงประเด็นเรื่องบาดแผลขนาดใหญ่บนขาของ "แตงโม" ที่ตำรวจแถลงว่า "เป็นแผลที่เกิดจาก ใบพัดเรือ เพราะรอยแผลสอดคล้องกับใบพัดเรือ" ว่า "ความจริงมันเหมือนกับ ต้องมั่นเลยนะว่ามันคมจริง ซึ่งมันแยกได้นะคะ คือถ้าโดนของไม่คมมาก บางทีมันจะมี เขาจะเรียกว่า Grid เนื้อเยื่อมาเป็นตัวเชื่อม จากนั้นต้องไปทดลองด้วยใบพัด คือให้ใบพัดสับไปในสภาพเหมือนกันนะ ไม่ใช่ว่าสภาพไม่เหมือนกัน หมูกับคนไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้าสภาพเหมือนกัน แล้วดูว่าแผลเหมือนกันมั้ย เขาเรียกว่าเป็นการจำลอง แต่อย่างพึ่งเชื่อ ต้องทำซ้ำหลายๆหน อันนี้คือหลักการทางวิทยาศาสตร์
เคสนี้เป็นการสรุป เราก็เลยไม่รู้ว่าเขาทำซ้ำกี่หน แต่ถามว่าจะตรวจได้มั้ยค่อนข้างยากหน่อย เพราะว่าเลือดเป็นสารละลาย ก็จะละลาย แต่ว่าอย่าไปหมดหวัง เพราะว่าบางทีถ้าฟาดไปโดนเนื้อ ตัวชิ้นเนื้ออาจจะติด ในส่วนนี้เองอาจจะมีชิ้นเนื้อติดที่ใบพัดแล้วสามารถมาพิสูจน์ และตรวจหา ดีเอ็นเอ (DNA) ได้"
ขอบคุณรายการ ทุบโต๊ะข่าว