
"ปอ-ยุ้ย-น้ำผึ้ง"รับรางวัลผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น
"ปอ"ทฤษฎี "ยุ้ย"จีระนันท์"น้ำผึ้ง"ณัฐริกา นำทีมรับรางวัลผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นจากอภิสิทธิ์ ด้านนายกฯชี้ภาษาอินเทอร์เน็ตต้นเหตุทำลายภาษาไทย วอนทุกฝ่ายช่วยอนุรักษ์ และใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง แนะนักแสดงเป็นแบบอย่างที่ดีในการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องแก่เยาวชน
เมื่อวันที่ 5 มี.ค. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานมอบรางวัลราชบัณฑิตยสถานสรรเสริญแก่ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ปี 2552 ประกอบด้วย นักแสดงละครผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ได้แก่ นายทฤษฎี สหวงษ์ น.ส.จีรนันท์ มะโนแจ่ม นายวิชญ จารุจินดา และ น.ส.ณัฐริกา ธรรมปรีดานันท์
นอกจากนี้ ยังได้มอบรางวัลให้แก่เด็กและเยาวชนผู้ใช้ภาษาดีเด่น และ โรงเรียนที่ให้การสนับสนุนนักเรียนในกาใช้ภาษาไทยดีเด่น โดย นายอภิสิทธิ์ กล่าวปาฐถาพิเศษ ตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันหลายฝ่ายมีความวิตกห่วงใยถึงการใช้ภาษาไทย ซึ่งได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย ทั้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี โลกาภิวัฒน์ ที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ภาษาไทยไม่ถูกต้อง ทั้งการพูด การอ่าน การใช้ภาษาเขียนไม่ตรงหลักไวยกรณ์ การใช้คำฟุ่มเฟือย การใช้คำไม่ตรงกับความหมายที่ต้องการสื่อสาร การออกเสียงไม่ถูกต้อง ทั้งเสียงวรรณยุกต์ และหลักเกณฑ์การอ่าน โดยจะเกิดความเสียหายในแง่ของการสืบทอดวัฒนธรรมที่สำคัญของของชาติ ซึ่งปัญหานี้ยิ่งมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะวงการสื่อสารมวลชน เราพบว่า มีการใช้ภาษาไทยไม่ถูกต้อง ก็เป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้ผู้ชม ผู้ฟัง รับสื่อเหล่านั้นแบบผิดๆ ไปด้วย
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ภาษาไทยที่สนทนาใช้ทางอินเทอร์เน็ต มีศัพท์เทคนิค ที่มุ่งเน้นความรวดเร็ว ฉับไว ก็ทำให้เกิดปัญหาการใช้ภาษาไทยไม่ถูกต้อง และจะเป็นการการทำลายทักษะทางด้านการเรียบเรียงถ้อยคำ การเขียนประโยคต่างๆ ที่สำคัญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแสดงความห่วงใย ในการใช้ภาษาของคนไทย โดยมีพระราชประสงค์ให้คนไทยทุกคนตระหนักในหน้าที่ ช่วยกันธำรงรักษาไทยให้ถูกต้อง ดังนั้นตนจึงอยากเชิญชวนทุกฝ่ายให้มีความตระหนักในคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย สนองพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยร่วมใจกันใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง ไม่ทำลายภาษาไทย และชักชวนให้ผู้อื่นใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง ถือว่าการดำเนินการเช่นนี้เป็นการรักษา อนุรักษ์วัฒนธรรมของชาติ และมีส่วนสำคัญให้ประเทศชาติ มีความมั่นคง มีเอกลักษณ์ หากมีการร่วมมือร่วมใจร่วมใจรักษาภาษาไทยไว้ ให้ยั่งยืนแล้ว ถือเป็นการรักษาความมั่นคง และความเป็นเอกภาพของชาติด้วย
“ผมอยากฝากราชบัณฑิตยสถานว่า การทำงานในด้านนี้นับวันจะมีความท้าทายมากยิ่งขึ้น การทำงานต้องมีการดำเนินโครงการในเชิงรุกเพิ่มขึ้น พร้อมกับการสัมผัสกับสภาพปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับการใช้ภาษาของคนไทย โดยการทำงานจะต้องคำนึงถึงความหลากหลาทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะภาษาถิ่นด้วย เพราะในแต่ละชุมชน ที่มีภาษาถิ่น ก็มีปัญหาการใช้ภาษาไทย ภาษากลางแตกต่างกันไป จึงจะต้องมีการติดตามศึกษาอย่างลึกซึ้งเพื่อเสริมสร้างทักษะให้คนไทยสามารถใช้ภาษาไทย และภาษาถิ่นควบคู่กันไป นอกจากนี้ ขอให้นักแสดง ควรเป็นแบบอย่างในการใช้ภาษาไทย ที่ถูกต้องและปฏิบัติตัวเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เด็กและเยาวชนด้วย” นายกรัฐมนตรี กล่าว