
นาวาตรีพยงค์ มุกดากับชีวิตที่สร้างอนุสาวรีย์
นาวาตรีพยงค์มุกดา ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2534 และได้รับรางวัลนราธิป ประจำปี พ.ศ. 2550 ได้สิ้นลมอย่างสงบที่โรงพยาบาลรามาธิบดี เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาด้วยโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะและไตวาย รวมอายุได้ 83 ปีศพตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
คมชัด ลึก ขอนำบทสัมภาษณ์จากเซคชั่น จุดประกาย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ที่สุรเทพ นนทรี ได้เดินทางไปพูดคุยกับครูพยงค์ ที่โรงแรมริมฝั่งบางปะกง เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2545 ซึ่งมีเรื่องราวการบันทึกชีวิตที่ออกจากปากของครู ถือเป็นประวัติที่สำคัญและสมบูรณ์แบบที่สุดฉบับหนึ่ง เพราะหลังจากนั้นมาความจำของครูจะค่อนข้างเลือนรางไป
ครูซื้อที่ตรงนี้ต่อมาจากเค้าตั้งใจจะทำเป็นที่พักแล้วก็เลยทำเป็นโรงแรมด้วย ครูมาซื้อตั้งแต่ปีสองห้า 20 ปีแล้วแต่ย้ายเข้ามาอยู่ตอนโรงแรมเสร็จปีสามเอ็ด ก็อยู่เรื่อยมา ครูมันคนเกิดในเรือลอยนี่ครับก็เลยชอบแม่น้ำ ครูพยงค์มุกดา เล่าให้ฟังถึงประวัติของท่าน ว่าผูกพันกับสายน้ำมายาวนาน
ครูเกิดในเรือ(ปีขาลวันอังคาร เดือนหก แรมแปดค่ำ ตรงกับวันอังคารที่ 4 พฤษภาคม2496) หน้าบ้านผู้ใหญ่กิมแม่น้ำแม่กลอง ตำบลท่าเสา ราชบุรี แม่ครูทำเรือรับจ้างบรรทุกเสาจากแม่กลองล่องมากรุงเทพฯ (บิดาชื่อแก้วมารดาชื่อบุญ แยกทางกัน ท่านจึงอยู่ในความดูแลของแม่และพี่สาวพี่ชาย) บรรทุกเสามาจากราชบุรีล่องมาตามแม่น้ำแม่กลองมาเข้าเจ้าพระยาแถวๆ บางลำพู แล้วมาขึ้นที่ร้าน สถาพรพานิช ตรงนั้นเดี๋ยวนี้เป็นธนาคารกรุงเทพ สาขาผ่านฟ้า ต่อมาครอบครัวต้องย้ายเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ เพราะเรือของเราแตกโดนอุทกภัยใหญ่ เรือบรรทุกเสามันเป็นเรือใหญ่ๆ นะเหมือนเรือเอี้ยมจุ๊นนั่นแหละ แต่เรือเรามันจะโล่งๆ ไว้ขนไม้เสา พอน้ำเชี่ยวมากๆ เรือที่จอดก็ถูกความแรงของน้ำพัดโดนซุงที่ไหลมากับน้ำกระแทกเรือแตกเสียหายทั้งลำ พี่สาวกับแม่ช่วยกันอุ้มครูขึ้นตลิ่ง ตอนนั้นยังเด็กจำได้ว่าหนาวมากยืนร้องไห้อยู่ มองเห็นเหตุการณ์นั้นทั้งหมด แต่มันรางๆ เลือนๆ นะเพราะเราเด็กอยู่มาก
เหตุการณ์เรือแตกทำให้ครอบครัวย้ายเข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯครูได้เข้าเรียนต่อชั้นประถมปีที่ 3 จนจบประถม4 (เดิมเรียนประถม1 โรงเรียนวัดช่องลมราชบุรี ประถม 2 ที่โรงเรียนเทศบาลแล้วจึงมาจบประถม 4 ที่โรงเรียนวัดราชนัดดาในกรุงเทพฯ เมื่อ 14 มีนาคม2481 ตอนอายุ12 ปี)
เราเคยรับจ้างผู้ใหญ่กิมบรรทุกเสาจากราชบุรีมาส่งที่ร้านสถาพรพานิชซึ่งเป็นร้านของภรรยาผู้ใหญ่กิม เราก็เลยได้อาศัยพักอยู่ที่นั่นก่อน แม่กับพี่มาช่วยเขาแบกเสาเป็นรายได้จนแม่แยกมาค้าขายที่แผงหน้าวัดราชนัดดา แต่ก็ยังไปๆ มาๆ ที่ร้านสถาพรรับจ้างทำนั่นนี่อยู่ ครูก็เรียนที่วัดนั้นจนจบ ป.4 ตอนที่เรียนก็พายเรือขายขนมกับพี่สาว พี่พายเรือท้ายครูเป็นคนพายหัวเรือก็ร้องขายไปเรื่อยในคลองผดุงกรุงเกษมจนถึงเจ้าพระยา ขายขนมหวาน ทองหยิบทองหยอด ไปรับเขามาขาย รับจากตรอกข้าวโพดนางเลิ้ง แล้วก็เปลี่ยนมาหาบขายจนกระทั่งเรียนจบ ก็มาหาบข้าวโพดคั่วที่เป็นตู้กระจกขาย ทำอะไรก็ได้ที่ทำให้เรามีรายได้ มีชีวิตอยู่ได้จนกระทั่งแม่กับพี่สาวมาจับทางก่อสร้าง รับผูกเหล็กอะไรอย่างนี้ มีงานที่ราชดำเนินครูก็ไปหาบปูนรู้สึกจะได้วันละ 50 สตางค์ตอนนั้นเงินมีค่านะ ทำอยู่นานเป็นระยะยาว อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อนุสาวรีย์หลักสี่นี่ครูก็สร้าง ไปแบกปูนนะ (หัวเราะอย่างสนุกสนานกับเรื่องที่เล่าให้ฟัง) จนไปสร้างที่บางเขนตรงอนุสาวรีย์ปราบขบถไปสร้างโรงพัก ที่นั่นครูไม่สบายมาก คือ น้ำที่บริโภคไม่สะอาดเป็นน้ำกร่อย จึงทำให้เป็นนิ่วเรื้อรังมาจนทุกวันนี้ ครูเหลือไตข้างเดียวนะ
เมื่อตรวจพบจึงเข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ยังไม่ทันหายดีช่วงนั้นมีการเรียกร้องดินแดนสี่จังหวัดและเกิดสงครามซ้ำเข้าอีก พี่ชายถูกส่งตัวไปรบทางเสียมราฐ พระตะบอง ทำให้ทางโรงพยาบาลต้องให้คนไข้กลับไปรักษาตัวที่บ้าน เพื่อใช้โรงพยาบาลรองรับเหล่าทหารที่บาดเจ็บ ตัวท่านก็ต้องออกจากโรงพยาบาลทั้งๆ ที่แผลที่หน้าท้องยังไม่หาย
เพื่อเป็นการลดภาระให้แม่และพี่สาวครูต้องทำทุกอย่างเพื่อปากท้องสภาวะจากสงครามทำให้ครูต้องไปคุ้ยหาสิ่งของตามซากอาคารและทำงานกับหน่วยป้องกันภัยทางอากาศที่ท่าเตียน ทำได้ไม่นานก็หมดงาน ครูจึงต้องไปเป็นลูกจ้างโรงฆ่าหมูที่หัวลำโพงและย้ายไปเป็นยามที่โรงงานเนื้อสัตว์พระโขนง
งานยามเป็นงานกลางคืนทำให้ครูได้ฟังเพลงปลุกใจจากกรมโฆษณาการ และก็เพลงเพราะๆ ที่จริงครูก็ชอบร้องเพลงมาตั้งแต่เด็กนักเรียนแล้ว ชอบร้องเพลงจากละครจันทโรภาส ของพรานบูรพ์ เพลงจากหนังจากละครของกรมศิลปากร ของหลวงวิจิตรวาทการ และเพลงที่จำมาจากแผ่นเสียง ต.เง็กชวนร้องจนลูกเจ้าของบ้าน (ร้านสถาพรพานิช) เรียกครูให้มาร้องเพลงให้ฟังบ่อยๆ ก็ได้สตางค์เล็กๆ น้อยๆ มาเป็นค่าขนม
เมื่อครูมีโอกาสไปดูดนตรีที่โอเดียนก็ยิ่งเพิ่มความชอบในเสียงเพลงมากขึ้น จึงลองแต่งเพลงแบบลองผิดลองถูก อย่างคนไม่มีความรู้แต่มีหัวใจที่อยากทำ
ตอนนั้นครูไปดูดนตรีที่โรงหนังโอเดียนมีหนังฉายสลับกับวงดนตรีทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์บ้าง สุนทราภรณ์บ้าง ไปดูก็ชอบเพลงของสถาพร มุกดาประกรณ์ เพลงพวก คนผิดคนอาภัพ อะไรอย่างนั้น ก็อยากจะแต่งเพลง เพราะประทับจับใจกับเพลงที่ว่านี่ ดูเขาบนเวทีก็ชอบ กลับมานั่งคิดทำนอง เขียนเนื้อนั่งนับจังหวะ เขามีห้องมีหับ(ดนตรี) อะไรเราก็ไม่รู้ นั่งเคาะเอาให้ได้ 16 เหมือนเพลงคนผิดคนอาภัพเพลงที่ครูแต่งชื่อเพลง ชายรูปชั่ว ถือเป็นเพลงแรกที่แต่งเพราะเรารูปไม่หล่อเรารูปชั่ว ผู้หญิงเขาจึงไม่รัก แต่เรามาลงท่อนสุดท้ายว่า ถึงผู้หญิงในโลกนี้ไม่รักเรา แต่ยังมีแม่ที่รักเรา นี่คือความคิดแบบอินโนเซนต์แบบเด็กๆ น่ะ ที่จริงมันต่างกันความรักระหว่างเพศกับความรักของแม่ลูก มันคนละอย่างกันจะเอามาเปรียบเทียบกันไม่ได้ แต่ที่เขียนในตอนนั้นยังเป็นกึ่งเด็กกึ่งผู้ใหญ่ มาลงท้ายที่ ...ความระกำมาทำให้ฉันสูบความฝันทำฉันให้ลืมนึกถึงแม่ หากโลกจะไม่เหลียวแล ยังมีแม่ปกปักแผ่ความรักมา เหมือนดั่งช่วยซับรับน้ำตา โอ้คุณแม่จ๋าไม่ลืม ครูมาลงเอาดื้อๆแบบนั้นแหละตอนนั้น แต่มันก็ดี คำว่าแม่ มันเป็นคำประทับใจ คนฟังก็ชอบไม่ได้ว่าอะไร แต่เรามารู้ตอนโตว่า ที่แต่งไปนั้นคนละเรื่องกัน (หัวเราะ)
เมื่อแต่งเพลงชายรูปชั่ว เสร็จประมาณอายุ 15 กว่าๆเพลงนี้เหมือนเป็นการจุดประกายพลิกผันอาชีพยาม ครูนำเพลงไปร้องประกวดสลับหน้าม่านละคร โดยแข่งกับมืออาชีพทั้งๆ ที่ครูอายุเพิ่ง 16 ปี
ครูแพ้ได้ที่ 4 ครูก็ไม่ได้งานก็กลับมาเป็นยามเหมือนเดิมที่พระโขนงจนคนมาบอกว่าเพลง ชายรูปชั่ว ที่ครูแต่ง มีคนเอาไปร้อง (จำรัสวิภาตะวัต นักร้องรุ่นเด็กของคณะ) คนชอบกันมากเราก็นึกว่าจะเอาอย่างไรดี ก็เลยไปพูดกับนายห้าง คุณประสาน ตันสกุล (บิดาอดิศัย ล่ำซำ) นายห้างจึงรับเข้าทำงานที่นั่นเราได้ร้องเพลงหน้าม่านกับแต่งเพลงด้วย ตอนนั้นพี่ศรีนวล แก้วบัวสาย เป็นพระเอกละครที่ร้องเพลงไทยเดิมเพราะมาก จึงเกิดความฝังใจและเกิดพลังที่จะแต่งเพลงที่เหมาะกับเสียงพี่ศรีนวล เพื่อใช้ร้องในเรื่อง เป่าแก้ว และเพลงที่แต่งนี้ นำทำนองไทยเดิมซึ่งครูบุญยงค์ บุญยัง เกตุคง เล่นให้ฟังมาใช้ สอดใส่ลูกเล่นเข้าไปอีกกับคำร้องที่งดงาม
เพลงดังกล่าวคือ เพลง นกขมิ้น ที่ทำให้ครูเป็นที่ยอมรับในคณะละครมากขึ้น ศรีนวล แก้วบัวสาย ขับร้องเป็นคนแรก ได้รับความนิยมมาก และเมื่อนำมาบันทึกเสียง โดยธานินทร์ อินทรเทพ ทำให้ครูในฐานะผู้ประพันธ์กับธานินทร์ผู้ขับร้อง ได้รับรางวัลพระราชทานรางวัลแผ่นเสียงทองคำในปี 2509 อันเป็นจุดเริ่มต้นจนครูได้รับการกล่าวขานในวงการว่าเป็นศิลปินผู้สร้างศิลปิน
ชีวิตและผลงานเด่นครูพยงค์ มุกดา
เมื่อพ้นชีวิตจากคณะละครนิยมไทยครูพยงค์ มุกดา เดินทางไปกับละครเร่ตามต่างจังหวัด และไปร่วมงานกับวงดนตรีบางกอกชะชะช่า ของ เสน่ห์ โกมารชุน กระทั่ง อุไรวรรณ คล้ายบรรเลง นักร้องวงดุริยางค์กองทัพเรือ มาชวนไปเป็นนักแต่งเพลงกองดุริยางค์ทหารเรือวงดุริยางค์กองทัพบก โดยการสนับสนุนของครูจำปา เล้มสำราญ ต่อมาจึงก่อตั้งวงดนตรีเป็นของตัวเองชื่อ วง พยงค์ มุกดา ซึ่งได้รับพระราชทานชื่อว่า "วงมุกดาพันธ์"
ครูมีผลงานเพลงออกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2485 จนถึงปัจจุบันมีมากกว่า 1,000 เพลง ครูเคยเป็นทั้งนักร้อง นักแสดง นักจัดรายการวิทยุ เคยแสดงภาพยนตร์ เช่นเรื่อง เสน่ห์บางกอก ไซอิ๋ว ช่วงอยู่วงดุริยางค์กองทัพเรือ เป็นผู้ประพันธ์เพลงมาร์ช เช่น "สหมาร์ชราชนาวี", "มาร์ชสามัคคีสี่เหล่า", เนวี่บลู
ครูพยงค์ มุกดา มีผลงานทั้งเพลงลูกทุ่ง ลูกกรุง ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทานจากเพลง "นกขมิ้น" (ธานินทร์อินทรเทพ) "ช่อทิพย์รวงทอง" (สมยศทัศนพันธ์) "นางรอง" และ"รักใครไม่เท่าน้อง" (ทูลทองใจ) "ลูกนอกกฎหมาย" (ศรีสอางค์ตรีเนตร) "รอพี่กลับเมืองเหนือ" (พรทิพย์ภาบูรณกิจบำรุง) "เด็ดดอกรัก" (ชรินทร์นันทนาคร) และ"ฝั่งหัวใจ" (บุษยารังสี)
ปี2532 ครูพยงค์ ได้รับรางวัลพระราชทานในงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย 2 รางวัลจากเพลง "สาวสวนแตง" (สุรพลสมบัติเจริญ) และ"ล่องใต้" (ชัยชนะบุญนะโชติ) และในปีพ.ศ. 2534 ได้รับรางวัลพระราชทาน3 รางวัลจากเพลง "ยอยศพระลอ" (ชินกรไกรลาศ) "น้ำตาสาวตก" (ศรีสอางค์ตรีเนตร) และ"ลูกทุ่งเสียงทอง" (เพชรพนมรุ้ง)
ปี2534 พยงค์ มุกดา ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ประพันธ์เพลงไทยสากล-เพลงลูกทุ่ง) นอกจากนี้ลูกศิษย์ของท่านถึง 2 คนก็ได้รับเชิดชูเป็นศิลปินแห่งชาติ เช่นกัน คือ ชัยชนะ บุญนะโชติ (พ.ศ. 2541) และชินกร ไกรลาศ (พ.ศ. 2542)
และในปีพ.ศ. 2551 ครูพยงค์ มุกดา ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินอาวุโส รางวัลนราธิปประจำปี พ.ศ. 2550