บันเทิง

ทำไม "หนุ่ม ภูไท" ไม่ได้ศิลปินแห่งชาติ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

มือพิณขั้นเทพจากไป ลูกศิษย์ "หนุ่ม ภูไท" ยังกังขา เหตุใดไม่ได้ศิลปินแห่งชาติ คอลัมน์... คมเคียวคมปากกา โดย... บรรณวัชร

++
สิ้นมือพิณถิ่นภูไท สิ้นนักเรียบเรียงดนตรี "แบบหนุ่ม ภูไท" ที่ยึดครองใจคนฟังเพลงมายาวนาน กว่า 15 ปี 
    

50 ปีที่แล้ว บ้านกุดหว้า อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ มีคณะรำวง “ดอกฟ้าภูไท” มีชื่อเสียงโด่งดัง นางรำสาวภูไทสวยทุกคน กองเชียร์เสียงดี และนักดนตรีฝีมือเยี่ยม 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง...  "หนุ่ม ภูไท" ปรมาจารย์แห่งเสียงพิณ เสียชีวิตแล้ว

 

รำวงดอกฟ้าภูไท เป็นจุดเริ่มต้นของมือพิณ ที่กลายเป็นนักเรียบเรียงดนตรีแถวหน้าของเมืองไทยคือ “หนุ่ม ภูไท” และ “บุญทอง โพสุภา” ซึ่งทั้งสองได้จากโลกนี้ไปสู่สรวงสวรรค์ เป็นมือพิณในภพใหม่อันไกลโพ้น
    

ผลงานการเรียบเรียงดนตรีของ "หนุ่ม ภูไท" หรือ เรวัฒน์ สายันเกณะ นั้นมีมากมาย ทั้งแนวเพลงลูกทุ่ง, ลูกทุ่งอีสาน และหมอลำ
    

ยกตัวอย่างผลงานการเรียบเรียงแนวเพลงลูกทุ่ง อาทิ “หนุ่มนาข้าว สาวนาเกลือ”, "สั่งนาง" ,เพลงดังในอดีตชุดของหยาด นภาลัย ,สายัณห์-ยอดรัก ชุด "บัวตูมบัวบาน" และอื่นๆ 
    

ทำไม \"หนุ่ม ภูไท\" ไม่ได้ศิลปินแห่งชาติ

 

สายหมอลำก็มากมายเช่นกัน "น้ำตาหล่นบนที่นอน" ,"โบว์รักสีดำ" ,“ตามใจแม่เถิดน้อง” , “พลังรัก” ฯลฯ สรุปว่า ช่วงปี 2525-2540 บนปกเทปเพลง-หมอลำ จะต้องเขียนว่า “ดนตรีโดย หนุ่ม ภูไท” ตัวโตๆ การันตีความดังของเขา
    

เกียรติประวัติและเกียรติยศของหนุ่ม ภูไท ได้รับรางวัลกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่ง ในเพลงหนุ่มนาข้าว สาวนาเกลือ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามราชกุมารี, ได้รับรางวัลพระราชทานพระพิฆเนศทองคำ สาขาเรียบเรียงเสียงประสานเพลงลูกทุ่งยอดนิยม ในเพลงสั่งนาง และได้รับการเชิดชูเกียรติเป็น ศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้าน พิณ) ประจำปี 2550 จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น นอกจากนี้ ยังได้รับรางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติจากสถาบันหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชนอีกหลายแห่ง
    

หลังการเสียชีวิตสุดยอดนักดนตรีพื้นบ้านและนักเรียบเรียงดนตรีสายลูกทุ่ง-หมอลำ มีหลายคนถามว่า ระหว่างที่ “หนุ่ม ภูไท” มีชีวิตอยู่ ไยจึงไม่ได้รับการยกย่องเป็น “ศิลปินแห่งชาติ” 
    

เรื่องนี้ “สัญญาลักษณ์ ดอนศรี” นักแต่งเพลงลูกทุ่งชื่อดัง ได้ให้คำตอบไว้ในเฟซบุ๊คส่วนตัวว่า “ ทำไม "หนุ่ม ภูไท" ไม่ได้เป็นศิลปินแห่งชาติ ทั้งที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ทั้งคุณภาพ และปริมาณ ในสาขาดนตรี ความอาวุโสก็พร้อม”
    

สัญญาลักษณ์ ร่ายยาวถึงกระบวนการสรรหาศิลปินแห่งชาติว่า “ศิลปินแห่งชาติ ไม่ได้ดูจากผลงาน แล้วแต่งตั้งให้เป็น แต่ดูจาก "เอกสารทางวิชาการ ผลงาน" ที่บุคคลยื่นเสนอต่อสำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติ(สวช.) สวช.จะมีคณะกรรมการกลั่นกรอง ใครได้ ใครตีตก ไม่ต่างอะไรกับการประเมินผลงาน ยกระดับวิทยะฐานะ ตำแหน่งของข้าราชการทั่วไป”
    

นั่นหมายความว่า ศิลปินคนใดอยากเป็นศิลปินแห่งชาติ ต้องมีคนทำ “เอกสารทางวิชาการ” แล้วเสนอขึ้นไป “บางคนผลงานไม่เท่าไหร่ แต่ Backup ดี ก็ได้เป็นศิลปินแห่งชาติแบบงงกันทั้งประเทศ”
    

นอกจากนี้ สัญญาลักษณ์ยังสะท้อนภาพ “ความเหลื่อมล้ำ” และ “ระบบอุปถัมภ์” ในหน่วยงานด้านวัฒนธรรมของภาครัฐ
    

“ที่น่าแปลก ศิลปินแห่งชาติแทบทุกแขนง โดยเฉพาะสาขาดนตรี ศิลปะ การแสดง คนที่ได้จะเป็นคนภาคอื่น จำพวกเพลงลำตัด เพลงฉ่อย เพลงอีแซว หนังตะลุง โนราห์ โขน ละคร พวกลูกทุ่ง หมอลำ จะได้ที ก็ตอนแก่หงำเหงือก รับเงินเดือนศิลปินแห่งชาติ ไม่ถึงปี  ก็คลานกลับบ้านเก่า เช่นมหาปราชญ์เพลงอีสาน "ครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา" เป็นต้น”
    

รางวัลศิลปินแห่งชาติ ในทัศนะของนักเพลงรุ่นใหม่อย่างสัญญาลักษณ์ ดอนศรี ยังมีจุดอ่อนด้านกระบวนการคัดสรร ที่มีเรื่องวัฒนธรรมอุปถัมภ์ ครอบงำกลุ่มบุคคลในภาครัฐ 
    

ไม่น่าแปลกใจหรอกว่า มือพิณขั้นบรมครู นักเรียบเรียงดนตรีขั้นเทพ จึงตกสำรวจกรณีศิลปินแห่งชาติ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ