
คมเคียวคมปากกา - เสน่ห์ขุนหาญ
ไม่บ่อยนักที่ได้เดินทางไปร่วมกิจกรรม "จุดประกายความใฝ่ฝัน เพาะเมล็ดพันธุ์วรรณกรรม" ของกองทุนครูสลาฯ ซึ่งเป็นรุ่นที่ 32 ณ โรงเรียนโพธิ์วงศ์ อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ
คณะนักเขียนที่ไปเยือนขุนหาญ นอกจาก สลา คุณวุฒิ ก็ยังมี ปรีดา ข้าวบ่อ, ไพวรินทร์ ขาวงาม, เสรี ทัศนศิลป์, คำร้อย คำเพราะ, ทัศนาวดี และทนง โคตรชมภู
ผมเข้าใจว่า น่าจะเป็นค่ายแรกที่มี "องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น" เป็นเจ้าภาพร่วมกับกลุ่มโรงเรียน โดย ชาญเกียรติ แก้วกัณหา นายก อบต.โพธิ์วงศ์ และทีมงาน เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ
คนสำคัญของฝ่ายปกครองขุนหาญอีกคนหนึ่ง ที่ทราบว่าเป็นผู้ผลักดันให้จัดกิจกรรมนี้คือ ณรงค์ศักดิ์ พลศักดิ์ นายอำเภอผู้มีใจรักเสียงเพลง
ตามธรรมเนียมของค่ายกองทุนครูสลาฯ ในภาคกลางคืนจะมีลูกศิษย์ครูสลา ในสังกัดแกรมมี่โกลด์ สับเปลี่ยนหมุนเวียนมาขับกล่อมน้องๆนักเรียน โดยครูสลา จะใช้วิธีโทรสอบถามว่าใครอยู่ใกล้ที่ไหน ให้แวะมาเยี่ยมเยียนชาวค่าย
ไม่ว่าจะเป็น ไมค์ ภิรมย์พร, ต่าย อรทัย, ไหมไทย ใจตะวัน, ตั๊กแตน ชลดา, เอิร์น เดอะสตาร์, รัชนก ศรีโลพันธุ์, เสถียร ทำมือ, พี สะเดิด, ดอกอ้อ ทุ่งทอง...ล้วนเคยไปค่ายกองทุนฯ มาแล้วทั้งนั้น
รอบนี้เป็นคิวของ มนต์แคน แก่นคูน ที่จะมาร้องเพลงใน อ.ขุนหาญ พอดิบพอดี และคืนนั้น เขาก็เทใจให้เด็กๆ แบบเกินร้อย ทั้งร้องทั้งลำเกือบชั่วโมง ก่อนจะร่ำลาไปแสดงต่อที่งานวัดใกล้ๆ กันนั่นเอง
นอกจาก มนต์แคน ยังมี วสุ ห้าวหาญ นักแต่งเพลงดัง พร้อมเพื่อนนักดนตรีได้เข้าร่วมในฐานะวิทยากรประจำฐานเพลง
กล่าวสำหรับนายอำเภอณรงค์ศักดิ์ ที่บอกว่าเป็นคนรักเสียงเพลงนั้น เพราะเพื่อนครูเจ้าถิ่นได้บอกว่า นายอำเภอแต่งเพลง "เสน่ห์ขุนหาญ" และจัดทำเอ็มวีเพลงแนะนำอำเภอชายแดนไทย-กัมพูชา ผมได้ชมได้ฟังแล้ว ยอมรับว่าเป็นเพลงลูกทุ่งสร้างสรรค์ที่น่าฟังอีกเพลงหนึ่ง
"หอมอวลไออุ่น โอ้เมืองขุนหาญ ลือเล่ากล่าวขาน สวยตระการ สวยงามล้ำเด่น บ้านเมืองแสนสุข ผู้คนสังคมร่มเย็น ยิ้มชื่นจริงใจได้เห็น เลิศแล้วสมเป็น ลูกพ่อหลวงหาญ"
นายอำเภอณรงค์ศักดิ์ เปิดหัวท่อนแรกด้วยภาษากวี สมกับเป็นคนชอบอ่านงานวรรณกรรมมาตั้งแต่เป็นนักศึกษา ซึ่งเพลงฝากรักฝากสถานที่ "แนวราชการนิยม" มีคนแต่งเกือบทุกตำบล ทุกจังหวัด แต่เพลง "เสน่ห์ขุนหาญ" ดูโดดเด่นกว่า ตรงที่ภาษาสวย สั้นกระชับจับใจคนฟัง อย่างท่อนแยกก็บอกเล่าผ่านบทเพลงได้ครบถ้วน
"ขุนหาญ...ตำนานหลวงพ่อตาตน เทศกาลไม้ผล มีเงาะทุเรียนหวานฉ่ำ เขมร ลาว ส่วย สร้างแปงแหล่งวัฒนธรรม งามล้ำวัดล้านขวดค่าล้ำ รินรสพระธรรมได้อย่างแยบยล"
ท่อนสุดท้ายเพลงรักถิ่นฐานจากชายแดนเขมรป่าดงในอดีต นายอำเภอนักเพลงได้เชิญชวนให้มาเที่ยวชมไว้อย่างไพเราะกินใจ
"มาเยือนไออุ่น ที่เมืองขุนหาญ เยือนเหย้าถิ่นฐาน เสน่ห์ขุนหาญ มัดใจต้องมนต์ หอมทุ่ง หอมถิ่น หอมดิน ชุ่มน้ำไม่จน มีสายน้ำใจหลั่งล้น มียิ้มให้ยลจากคนขุนหาญ"
คำว่า "หอมทุ่ง หอมถิ่น หอมดิน" ก็เป็นดั่งคำร้องในคีตลำนำเพลงเสน่ห์ขุนหาญ และมันไม่เกินเลยไปจากความจริง เพราะแผ่นดินอันอุดม ยังสมบูรณ์ไปด้วยสวนผลไม้นานาชนิด ยางยูงสูงใหญ่ และไม้เศรษฐกิจอีกนานาชนิด
วันนี้ คนขุนหาญไม่จนเงิน และไม่จนน้ำใจ ขอยืนยันว่าเป็นเช่นนั้นจริงครับ!
"บรรณวัชร"