บันเทิง

ผู้กุมบังเหียนแอนิเมชั่นจีน โดย - ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เราเห็นการเติบโตของตลาดแอนิเมชั่น และความสามารถด้านการผลิตแอนิเมชั่นของจีนแล้ว ก็อาจเกิดคำถามตามมาว่า รัฐบาลจีนที่ว่ามีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมอุปสงค์และอุปทานดังกล่าว ใช้หน่วยงานใดในการดำเนินการดังกล่าว ...

ในอดีต อุตสาหกรรมบันเทิงของจีนนับว่ามีความลี้ลับอย่างน่าพิศวงโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกิจการต่างชาติ และยังคงแฝงไว้ด้วยความลึกลับในปัจจุบัน ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากนโยบายปกป้องตลาด และกฎหมายกฎระเบียบที่รัดกุมและปิดกั้นของรัฐบาลกลางของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการกำหนดโควต้าและระยะเวลาการนำเสนอของภาพยนตร์/ละครต่างชาติในแต่ละปี/ช่วงเวลา และขั้นตอนการยื่นขอรับใบอนุญาตที่สลับซับซ้อน
ในช่วงหลายปีหลังรัฐบาลจีนหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมบันเทิงมากขึ้นโดยพิจารณาธุรกิจแอนิเมชั่นว่าเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์และกำหนดให้มีองค์กรรับผิดชอบสำคัญที่ทรงอิทธิพลจำนวน 2 หน่วยงาน อันได้แก่ กระทรวงวัฒนธรรม และสำนักงานจัดการวิทยุ ภาพยนตร์ และโทรทัศน์แห่งชาติ (State Administration of Radio, Film and Television) หรือที่รู้จักกันในนาม “SARFT”

ผู้กุมบังเหียนแอนิเมชั่นจีน โดย - ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร  รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทย

                       ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร  รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทย

กระทรวงวัฒนธรรมจีนมิใช่หน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่สนับสนุนส่งเสริมอุตสาหกรรมแอนิเมชั่นเป็นการเฉพาะ แต่ก็มิใช่องค์กรเชิงสัญลักษณ์ที่อยู่เฉยๆ บนหอคอยงาช้าง 
ในส่วนหนึ่ง กระทรวงวัฒนธรรมต้องกำกับแอนิเมชั่นเพื่อให้มั่นใจว่าชิ้นงานที่นำเสนอสู่สาธารณชนจะไม่กระทบต่อวัฒนธรรมอันดีของจีน 
ขณะเดียวกันในช่วงทศวรรษที่ผ่านมารัฐบาลจีนได้เพิ่มความสำคัญกับอุตสาหกรรมวัฒนธรรม ทำให้กระทรวงวัฒนธรรมมีบทบาทหน้าที่กว้างขวางขึ้นมากและดำเนินกิจกรรมและโครงการที่เกี่ยวข้องอยู่อย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต
ขณะที่ SARFT มีหน้าที่ครอบคลุมทั้งในเชิงนโยบายและปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ โทรทัศน์และวิทยุทั้งระบบ เรียกว่าถือทั้งกระบี่และเงินไว้อย่างเบ็ดเสร็จในองค์กรเดียว
SARFT มีกระบองอยู่ในมือ รับผิดชอบเรื่องการเซ็นเซอร์เนื้อหาและคุณภาพของแอนิเมชั่นที่จะนำออกเผยแพร่ในจีน ว่าง่าย ๆ แอนิเมชั่นต่างชาติเรื่องใดจะได้รับอนุญาตให้ฉายหรือถูกแบนก็ขึ้นอยู่กับอำนาจการตัดสินใจขององค์กรนี้เป็นสำคัญ
จากข้อมูลใน Blue Book on Animation พบว่า ในช่วงต้นของยุคนี้ จีนมีสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนคณะ/สาขาด้านแอนิเมชั่นอยู่ถึงราว 1,380 แห่ง ซึ่งประเมินว่ามีนักศึกษาในด้านนี้อยู่ประมาณ 200,000 คน และจบการศึกษาถึง 50,000 คนต่อปี
กิจการด้านแอนิเมชั่นจีนมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 4,600 บริษัท และครบวงจรมากขึ้น ส่งผลให้ชิ้นงานแอนิเมชั่นจีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ
จีนผลิตผลงานได้ปีละหลายสิบเรื่อง ขณะที่คุณภาพของชิ้นงานแอนิเมชั่นเหล่านั้นก็ไต่สู่มาตรฐานโลกมากขึ้นทุกขณะ ผลงานแอนิเมชั่นจีนอย่าง Pleasant Goat และ Boonie Bears: To the Rescue แสดงถึงความเป็นมืออาชีพในวงการ ทำให้แอนิเมชั่นจีนมีสัดส่วนรายได้ในตลาดภาพยนตร์จีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
นอกจากตลาดในประเทศแล้ว แอนิเมชั่นจีนที่มีคุณภาพยังถูกผลักดันเข้าสู่เวทีระหว่างประเทศ ภายใต้การสนับสนุนของ SARFT อาทิ การเข้าร่วมงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์
ขณะที่สตูดิโอจีนบางส่วนก็ขยายความร่วมมือด้านการผลิตกับต่างประเทศ Dragon Nest เป็นหนึ่งในตัวอย่างแอนิเมชั่นแรกๆ ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างจีนและ Hollywood ซึ่งทำให้ผลงานของจีนถูกเผยแพร่และทำเงินในตลาดต่างประเทศมากขึ้น
ผลงานของจีนบางส่วนก็ว่าจ้างงานช่วงต่อไปยังต่างประเทศ โดยไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศพันธมิตรสำคัญที่จีนให้ความสนใจ
ขณะเดียวกัน รัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่สำนักพิมพ์ สตูดิโอภาพยนตร์ ผู้จัดจำหน่าย และโรงภาพยนตร์ รวมไปถึงคณะศิลปิน โรงละคร หนังสือพิมพ์ และวารสาร ถูกพลิกโฉมเป็นกิจการที่แสวงหากำไร โดยกิจการของรัฐหลายร้อยรายได้ปรับเปลี่ยนไปอยู่ในรูปแบบของบริษัทจำกัด และเข้าสู่โลกธุรกิจอย่างเต็มตัวในเวลาต่อมา
แต่สตูดิโอและกิจการที่เกี่ยวข้องก็ต้องเผชิญกับแรงกดดันใหม่ครั้งใหญ่ การเข้ามาของอินเตอร์เน็ตทำให้เกิดช่องทางใหม่ขนาดใหญ่ในการเข้าสู่ตลาดจีน สตูดิโอจีนต่างต้องเผชิญกับกดดันจากการแข่งขันของแอนิเมชั่นต่างชาติ 
ยังดีที่ในอีกด้านหนึ่ง การเข้ามาของโลกดิจิตัล และการพัฒนาของซอฟท์แวร์ที่เกี่ยวข้องก็เป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้คุณภาพของผลงานและกระแสความนิยมในแอนิเมชั่นเพิ่มขึ้น ซึ่งนำไปสู่โอกาสทางธุรกิจในอีกหลายด้าน
ขณะเดียวกัน การเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกก็ทำให้จีนต้องเปิดตลาดตามพันธะสัญญาที่ให้ไว้ กำแพงเหล็กที่กีดกันการกระโดดเข้ามาของแอนิเมชั่นต่างชาติถูกปรับให้ต่ำลง ทั้งนี้ รัฐบาลจีนยังคงเก็บเอาการขออนุญาตเผยแพร่การ์ตูนและหนังสือการ์ตูนจาก SARFT ซึ่งมีขั้นตอนที่ซับซ้อนยิ่งไว้เป็นไม้ตาย

 

เห็นรัฐบาลจีนส่งเสริมการพัฒนาขีดความสามารถของกิจการแอนิเมชั่นท้องถิ่นแล้ว ก็ไม่น่าแปลกใจที่เราเห็นแอนิเมชั่นจีนขยับอันดับขึ้นสู่เวทีโลกจนเป้าหมายการเป็นแชมป์อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมแล้ว
ถึงเวลาหรือยังที่ไทยจะเดินตามรอยเท้าจีน เพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศด้านแอนิเมชั่น ...

 

โปรลาซาด้า

ผู้กุมบังเหียนแอนิเมชั่นจีน โดย - ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร  รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทย

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ