
เจาะใจกรรมการ ทำไมถึงได้ "คม ชัด ลึก อวอร์ด"?
ผ่านพ้นไปเรียบร้อย สำหรับการประกาศรางวัล คม ชัด ลึก อวอร์ด ครั้งที่ 7 ประจำปี 2552 เชื่อว่าหลายคนคงอยากรู้ว่าเหตุใด ละคร ภาพยนตร์ นักแสดง จากเรื่องใดถึงชนะใจกรรมการ ลองมาฟังความคิดเห็นจากคณะกรรมการกันเลย...
เริ่มต้นกับ ประเภทละครโทรทัศน์ ที่มีด้วยกัน 7 สาขา โดยเริ่มจากสาขา บทละครโทรทัศน์ยอดเยี่ยม คณะกรรมการยกให้ ยิ่งยศ ปัญญา จากเรื่อง "ผู้ใหญ่ลีกับนางมา" ชนะเลิศ เพราะเป็นงานเขียนบทที่ฉลาด คมคาย ประยุกต์เนื้อหาทันสมัยให้เข้ากับแก่นเรื่องดั้งเดิมได้อย่างแนบเนียน ตัวละครดูจับต้องได้ สอดแทรกแนวคิด คุณค่า ศักดิ์ศรี วิถีชีวิตชนบท และแรงบันดาลใจชั้นยอด ปลุกกระแสหวนคืนสู่วิถีสงบสุขที่อบอุ่นเรียบง่ายและยั่งยืนตามแบบเศรษฐกิจพอเพียง เป็นงานที่ดูสนุก เป็นธรรมชาติและให้คุณค่าแก่สังคมโดยไม่ตั้งใจยัดเยียด
ขณะที่สาขา นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม คณะกรรมการให้รางวัลแก่ ด.ช.ริชาร์ด เกียนี่ จากเรื่อง "ผู้ใหญ่ลีกับนางมา" เนื่องจากเป็นการแสดงที่ซื่อตรง จริงใจ สดใส ทำให้ปื๊ดเป็นตัวละครที่มีเสน่ห์ รวมทั้งสร้างสีสันให้แก่การแสดงครั้งนี้อย่างมาก ทั้งที่มีรูปลักษณ์ต่างไปจากภาพจำและบุคลิกตัวละครตามบทประพันธ์ บทสนทนาที่ฉลาดหลักแหลม ประกอบการแสดงออกที่พอดี ไม่น้อยไม่มากเกินไป ทำให้ปื๊ดเอาชนะใจทั้งมาลินีและผู้ชมได้หมดหัวใจ
สำหรับสาขา นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม ผู้ตัดสินมอบให้ "โดนัท" มนัสนันท์ พันเลิศวงศ์สกุล จากเรื่อง "ดงผู้ดี" เพราะบทนางอิจฉาตามสูตรสำเร็จละครไทยเรื่องนี้ เปิดโอกาสให้โดนัท ตีความการแสดงบุคลิกลักษณะนิสัยที่เป็นแบบแผนของตัวละคร antagonist ที่ดูตื้นเขิน ฉาบฉวย จับจด ในตอนต้นเรื่องแต่เมื่อถึงจุดพลิกผัน ตัวละครระเบิดความผิดหวังพ่ายแพ้และคลั่งแค้นวิปริตจากทัศนคติที่บิดเบือนได้อย่างน่าสนใจ จนทำให้จุดจบของตัวละครน่าสมเพชเวทนาและน่าเห็นใจพร้อมๆ กัน
สาขา นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ยกรางวัลให้แก่ "อ๊อฟ" พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง จากเรื่อง "พระจันทร์สีรุ้ง" เนื่องจากในบทกะเทยแม่พระร่างยักษ์ ทำให้ตัวละครนี้ไม่ sterotype ด้วยการแสดงที่อัดแน่นด้วยความจริงภายในตัวละคร ซึ่งสะท้อนสภาวะความเป็นแม่ที่รักลูกสุดหัวใจ จนกลบข้อด้อยทางกายภาพภายนอก ที่ยังดูขัดเขินไปได้อย่างสนิทใจ เป็นนักแสดงที่สามารถกระโจนลงไปจนทำให้ผู้ชมเห็นแต่ชีวิตตัวละคร
ขณะที่สาขา นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ตกเป็นของ "ป๊อก" ปิยธิดา วรมุสิก จากเรื่อง "เมียหลวง" เพราะฝ่าแรงขับเคี่ยว จากคะแนนสูสีของผู้ได้รับเสนอชื่อเข้าชิงแบบหืดขึ้นคอ ด้วยความเห็น ว่าป๊อกประคองระดับการแสดงข้นเข้มเต็มไปด้วยความขัดแย้งทางอารมณ์ ที่ต้องเก็บซ่อนกับการแสดงออกเพื่อรักษาภาพลักษณ์ได้ละมุนตา มีมิติอารมณ์ที่ซับซ้อน ทำให้บทบาท ดร.วิกานดา ทั้งอึดอัดน่าเห็นใจ เป็นผู้หญิงแกร่งที่อ่อนโยน และมีวุฒิภาวะสูง อย่างที่ตัวละครควรจะเป็น
ในส่วนสาขา ผู้กำกับละครยอดเยี่ยม คือ "อ๊อฟ" พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง จากเรื่อง "ดงผู้ดี" อ๊อฟสามารถเอาชนะคณะกรรมการไปอย่างฉิวเฉียด ด้วยความเห็นร่วมกัน ว่าพงษ์พัฒน์ใช้ความสามารถในงานกำกับอย่างพิถีพิถัน ไม่ว่าจะเป็นการคัดเลือกนักแสดง การตีความ ดูแลภาพรวมองค์ประกอบศิลป์ จนทำให้ดงผู้ดีที่มีเรื่องราวดาดๆ ซ้ำซาก ชูประเด็นเรื่องได้เด่นชัด และกลายเป็นผลงานที่ละเมียดละไมเปี่ยมด้วยรสนิยม
ปิดท้ายที่สาขา ละครโทรทัศน์ยอดเยี่ยม ทางคณะกรรมการยกให้ ละครเรื่อง "ผู้ใหญ่ลีกับนางมา" ด้วยมติเอกฉันท์ ว่าเป็นงานคุณภาพที่ผสานทั้งบันเทิงสาระและความคิดสร้างสรรค์สังคมได้อย่างลงตัวทุกด้าน เป็นตัวอย่างผลงานละครน้ำดีที่นำเสนออย่างชาญฉลาด ให้ข้อคิด ทัศนคติ และแรงบันดาลใจดีๆ แก่ผู้ชมอย่างมีรสนิยม ด้วยโทนละครที่สว่างสดใส ปราศจากพิษภัย เหมาะจะดูได้ทุกกลุ่ม เพศ วัย นับเป็นแนวทางละครชั้นดีที่เนื้อหารักษาสมดุลของความบันเทิงและแง่คิดเชิงอุดมคติได้อย่างมีพลัง
มาถึงความเห็นจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กับการตัดสินรางวัลใน ประเภทภาพยนตร์ กันบ้าง โดยเริ่มแรกกับ สาขา บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม กับภาพยนตร์เรื่อง นางไม้ เขียนบทโดย เป็นเอก รัตนเรือง คณะกรรมการให้ความเห็นว่าเป็นบทที่เห็นตัวละครมีพัฒนาการ มีความลึก มีการเปรียบเทียบน่าสนใจ เอาเรื่องไสยศาสตร์มาใช้ประโยชน์กับเหตุการณ์ดราม่าของตัวละคร
ด้านสาขา นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม ปีนี้ได้แก่ เรย์ แมคโดนัลด์ จากภาพยนตร์เรื่อง หนีตามกาลิเลโอ คณะกรรมการบอก ว่าดูแล้วรู้สึกชอบ แม้บทนี้ค่อนข้างล่องลอย ไม่มีที่มาที่ไป อยู่ๆ ก็ปรากฏตัว เมื่อถึงเวลาหายไป ก็หายไปจากตัวเรื่อง ความที่บทไม่เอื้อ แต่เราสามารถถ่ายทอดตัวละครมีเสน่ห์ ดูมีพลังอันลึกลับบางอย่าง และความมีเสน่ห์หรือความลึกลับ ทำให้ผลที่เกิดขึ้นกับตัวละคร ที่เกี่ยวข้องกับบทของเรย์ ดูมีพลังมากขึ้น
สาขา นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม ผู้ได้รับรางวัลดังกล่าว คือ ศันสนีย์ วัฒนานุกูล จากภาพยนตร์ ความจำสั้น แต่รักฉันยาว ถือว่าเป็นคนที่เล่นได้อย่างมีเสน่ห์ ทำให้รู้สึกผูกพันกับตัวละคร และทำให้ตัวละครมีความน่าเชื่อถือ
สำหรับสาขา นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ตกเป็นของ ปรเมศร์ น้อยอ่ำ จากภาพยนตร์ สามชุก ซึ่งปรเมศร์สามารถทำให้คนดู สัมผัสได้ถึงความห่วงใยของครูที่มีต่อลูกศิษย์ จากการแสดงอันเข้าถึงของตัวละครของปรเมศร์ เล่นได้เป็นธรรมชาติ อันที่จริงตัวบทสามารถแสดงออกอย่างฟูมฟาย หรือเกินกว่าเหตุได้ แต่การถ่ายทอดของปรเมศร์ สามารถทำให้มองเห็นความมีอยู่จริงของตัวละคร
ส่วน “คริส” ศิริน หอวัง จากภาพยนตร์ รถไฟฟ้ามาหานะเธอ ผู้คว้ารางวัล นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ไปครอง ก็ด้วยเหตุผลที่ทุกคนน่าจะเห็นด้วย ว่าคริสแสดงออกมาได้อย่างมีชีวิตชีวามาก ยิ่งเล่นก็ยิ่งสร้างความผูกพันให้ตัวละคร บทที่คริสได้รับถือว่าเป็นบทส่ง ยิ่งเปิดโอกาสให้คริสเล่นได้หลากหลายอารมณ์ ทั้งหญิงสาวที่หาแฟนไม่ได้ โหยหาคนรัก สามารถนำเสนอความหมายเหล่านี้ให้คนดูได้มองเห็นชัดเจนมากขึ้น
ด้าน เป็นเอก รัตนเรือง ยังคงครองใจคณะกรรมการ จนคว้ารางวัล ผู้กำกับยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์ นางไม้ ความโดดเด่นของหนังเรื่องนางไม้ คือใช้ประโยชน์จากหนังสยองขวัญ เหนือธรรมชาติ มาเป็นช่องทางในการถ่ายทอดตัวละครได้ดีมาก มีวิธีอันพิเศษ ซึ่งผิดแผกจากขนบธรรมเนียมทั่วไป ในการทำให้คนดูรับรู้ความสัมพันธ์ของตัวละคร ซึ่งเป็นความสร้างสรรค์ผิดแผกแตกต่างจากหนังปกติทั่วไป
ปิดท้ายด้วยรางวัล ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้คว้ารางวัลจากปีนี้ไปครอง คือ พลเมืองจูหลิง ที่คณะกรรมการต่างลงมติเป็นเอกฉันท์ ว่าเป็นหนังสารคดีโดยไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ มานิต ศรีวานิชภูมิ และสมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ที่พาผู้ชมไปรับรู้และสัมผัสกับอีกด้านหนึ่งของปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยผ่านเหตุการณ์สะเทือนขวัญของครูจูหลิง ปงกันมูล ผู้ซึ่งถูกกลุ่มผู้ไม่หวังดีกลุ้มรุมทำร้าย จนต้องนอนในสภาพโคม่าไม่ได้สติเป็นเวลานานแรมเดือน ก่อนที่จะเสียชีวิตในเวลาต่อมา แม้ว่ารูปแบบการนำเสนอ-จะเรียกไม่ได้เต็มปากเต็มคำว่าเป็นกลาง แต่กระนั้น ตัวหนังก็ช่วยให้ผู้ชมที่เป็นคนนอกอย่างเราๆ ท่านๆ-ได้แลเห็นปัญหาที่สั่งสม หมักหมม และซุกซ่อนอยู่ ณ ดินแดนแห่งนี้อย่างเป็นรูปธรรม