บันเทิง

 เฉินหลงสารพัดแมนแจ๊คกี้ ชานภาคการ์ตูนฮีโร่

เฉินหลงสารพัดแมนแจ๊คกี้ ชานภาคการ์ตูนฮีโร่

22 ม.ค. 2553

ระหว่างคำถามที่ว่า เฉินหลงอายุมากขึ้นจนเล่นแอ็กชั่นแบบเดิมไม่ไหว กับ แฟนหนังของเขามีอายุมากขึ้นและเลิกราในการติดตามผลงานของเฉินหลงไปนั้น ผมคิดว่า น้ำหนักหลักเป็นอย่างหลังมากกว่ามุมแรก และมันทำให้นักแสดงที่ดีที่สุดเกี่ยวกับการโชว์ศิลปะการต่อสู้ของเอเชีย

ต้องเปลี่ยนทิศทางในการทำหนังไป จับกลุ่มคนดูใหม่ๆ ที่อายุน้อยลง (เพราะแฟนของเขายุค ไอ้หนุ่มพันมือเอย ไอ้หนุ่มหมัดเมาเอย มาจนถึงยุค “วิ่งสู้ฟัด” นั้น แต่งงานมีครอบครัว และไม่ค่อยออกจากบ้าน ติดตามหนังของเขาตลอดเวลาแล้ว)

ผมชอบเฉินหลงมากครับ หนังของเขาแม้พล็อตจะไม่ค่อยสำคัญ กระทั่งซ้ำกันไปมา แต่เฉินหลงสามารถเอาการแสดงตัวเอง เอาความสามารถเทคนิคต่างๆ ใส่ลงในฉากต่างๆ อย่างกลมกลืน ไม่กระโดดออกมาแบบ จา พนม หรือ จีจ้า ที่ถูกเหน็บแนมว่า น่าจะจัดงานโชว์การต่อสู้บนเวทีที่อิมแพ็คพูดง่ายๆ คือ จา พนม กับ จีจ้า เป็น exhibitionist การต่อสู้ มากกว่า actor สิ่งที่ทำให้เฉินหลงโดดเด่นกว่าบรู๊ซ ลี เจ๊ต ลี และ โทนี่ จา ของเราก็คือ การเล่นกับการแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า และเสี่ยงกับความตายจริงๆ เหล่านี้คืออดีตไปแล้ว และหนังของเฉินหลง ต้องหากลุ่มคนดูใหม่ๆ ที่อายุเด็กขึ้น

หนังของเขาที่ตั้งชื่อไทยเกี่ยวกับ word ที่ติดตัวเขามาอย่าง “วิ่งโขยงฟัด” เป็นการบอกคนดูถึงเรื่องเก่าก่อน (เหมือนถ้าเป็น จูเลีย โรเบิร์ต ก็คืออะไรที่เกี่ยวกับบานๆ ฉ่ำๆ ซึ่งมาจากหนังขายฝันอย่าง ผู้หญิงบานฉ่ำ) วิ่งโขยงฟัดไม่ได้มีอะไรที่เหมือนชื่อเรื่องเลย และน่าจะตั้งชื่อว่า “จะวิ่งสู้ฟัด แต่ถูกเด็กฟัด” (ฮา) มากกว่า

พล็อตอันเจือจางและทำซ้ำถูกเล่าอีกครั้งให้เฉินหลงต้องกลับไปช่วยสถานการณ์บางอย่างที่มันจะทำลายโลกทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่เขาอยากรีไทร์เพราะหลงรักสาวใหญ่ข้างบ้านที่มีลูกแล้วถึงสามคนและภารกิจของแจ๊คกี้ ชานในเรื่องนี้ก็คือ การต่อสู้กับเหล่าตัวร้ายนั้น ไม่น่าปวดหัวเท่ากับสงครามของเด็กๆ ในบ้านผู้หญิง เพราะการเอาชนะใจเด็กที่ปฏิเสธพ่อใหม่นั้น ยากกว่ากระโดดเตะๆ ถีบๆ ผู้ร้ายให้สลบ (ผมคิดว่า การที่เฉินหลง ไม่เคยจัดการตัวร้ายในหนัง ด้วยวิธีการที่ดูโหดเหี้ยมนั้น ทำให้เขาเป็นที่รักของคนดู มุกนี้ อุลตร้าแมนเคยใช้มาก่อนในยุค 70s)

หากดู “วิ่งสู้ฟัด” แบบสังเกตอยู่บ้าง เราจะพบว่าตัวละครต่างๆ ในหนังเรื่องนี้ มีแคแรกเตอร์แบบการ์ตูนในหนังทีวีและหนังสือ ตั้งแต่ทรงผม เสื้อผ้าและการเคลื่อนไหว(movement) เฉินหลงทำถูกแล้ว เพราะต้องตอบโจทย์ของตัวเอง เนื่องเพราะวิ่งสู้ฟัด กลายเป็นหนังจับกลุ่มเด็กๆ เราจึงเห็นเฉินหลงอยู่กับเด็กๆ มากกว่าอยู่กับผู้ร้าย เราจึงเห็นแจ๊คกี้ ชาน เล่นกับอาวุธ โชว์อาวุธไฮเทค เหมือนที่ซูเปอร์ฮีโร่จากหนังสือการ์ตูนและทีวีชอบทำ

จะแบทแมน ซูเปอร์แมน สไปเดอร์แมน หรือฮีโร่สารพัดนาม (และสารพัดแมน) เฉินหลงของเอเชีย หยิบยืมเอาแคแรกเตอร์มาแสดงได้หมด สิ่งที่บอกคนดูได้มากว่า เขาต้องการหาคนดูที่เด็กลง เพราะกลุ่มเก่าคงไม่ดูกันนัก ก็คือ การตัดต่อของหนัง ที่เหมือนหนังการ์ตูน และการใช้มุกแบบหนังการ์ตูน (โปสเตอร์หนังเรื่องนี้ ลอกมาจากหนังฮีโร่เด็กๆ เรื่องหนึ่ง

เหมือนที่หนังไทย “วิ่งสู่ฝัน” ก็ไปลอกหนังฝรั่งมาเหมือนกัน คือไม่ได้คิดอะไรเลย)

สำหรับแนวทางของวิ่งโขยงฟัดนั้น ข้อดีสำหรับคนดูอายุน้อยๆ ก็คือ อาจจะได้ผู้ชมที่ชอบเขาจากคนดูใหม่ๆ แต่ข้อเสียคือ ในแฟนประจำของเขา อาจจะรู้สึกไม่อะไรกับหนังเรื่องนี้ เพราะแม้แต่ผมเองก็นั่งดูและนิ่งอยู่นาน (ราวกับถูกของ - ฮา)ถ้าจะมีอะไรที่ทำให้ผมรู้สึกขำอยู่บ้าง สิ่งนั้นก็คือเรื่องที่เหมือนกันกับผู้ชมอื่นๆ กล่าวคือ การพากย์ไทยในหนัง และมันมาจากเด็กผู้หญิงที่ตัวเล็กที่สุด ไม่ใช่มาจากการพากย์ของเฉินหลง

“วิ่งโขยงฟัด” อาจเป็นหนังที่เด็กที่สุดในบรรดาภาพยนตร์ของเขา ด้วยเหตุผลทางการตลาด และเป็นหนังที่มีอุปกรณ์และฉากไฮเทคเช่นกัน ตามขนบและครรลองของหนังการ์ตูนฮีโร่ทั้งหลายและไม่ว่าเขาจะทำอย่างไร ทำแบบหนังไหน ดีไม่ดี น่าดูไม่น่าดูความดีเก่าๆ บุญเก่าที่มีมาจะไม่มีใครบ่นว่าหรือด่าทอเฉินหลง

เพราะแจ๊คกี้ ชาน แปลได้ว่า เป็นฮีโร่ทั้งในจอ และนอกโรงภาพยนตร์

นันทขว้าง สิรสุนทร
[email protected]