บันเทิง

คมเคียวคมปากกา-ครูคือใคร

คมเคียวคมปากกา-ครูคือใคร

22 ม.ค. 2553

เขียนต้นฉบับวันอังคารที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๕๓ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือนสาม

 แบบว่าไม่ได้เป็นครู  แต่ชีวิตมักวนเวียนใกล้ชิดกับครูและนักเรียน  ทั้งด้วยภาระหน้าที่และความรักชอบทางนี้  อาจเป็นเพราะวาสนาเก่าแก่  หรือความฝันอยากเป็นครูในวัยเด็กก็เป็นได้ 

 ถึงเดือนมกราคม  นอกจากมีวันเด็กให้ได้พาลูกไปเที่ยว  ยังมีวันครูให้ไหว้ครู  หรือแต่งกลอนรำลึกพระคุณครู  (ส่วนที่ภรรยาผมเป็นครูนั้น  เป็นอีกสถานะหนึ่งครับ  ๕๕๕)

 ปลายปีที่แล้ว  มีโอกาสติดตามครูและนักเรียน โรงเรียนบ้านไผ่ ข.ก. ๕  ชั้น ม. ๖/๑๒  ออกไปทำกิจกรรมบำเพ็ญสาธารณประโยชน์  ที่ โรงเรียนบ้านนาเสียวโคกสว่าง  อ. เปือยน้อย  จ. ขอนแก่น ได้สัมผัสบรรยากาศนักเรียนพี่ๆ ในเมือง  ไปดูแลนักเรียนน้องๆ ในชนบท  เหมือนการออกค่าย  อะไรประมาณนั้น  ทั้งปัดกวาดลาน  จัดเก็บข้าวของในห้องพัสดุ  เลี้ยงข้าว  เลี้ยงขนม  เล่นเกม  ร้องเพลง  ฝึกสอน  ปลูกต้นไม้  มอบทุนสนับสนุนกิจกรรมการศึกษา

 โรงเรียนนี้เป็นระดับประถมต้น  มีนักเรียนประมาณ ๕๐ คน  มีครู ๔ คน  ถือเป็นโรงเรียนบ้านนอกโดยแท้  ทั้งที่อยู่ไม่ห่างจากตัวเมืองเปือยน้อยสักไหร่  แต่ถนนหนทางกลับเป็นหลุมเป็นบ่อ  ทุรกันดารเหมือนภาพอดีตของอีสานเมื่อ ๓๐ ปีก่อนโน้น  ไม่รู้เจ้าหน้าที่บ้านเมือง  หรือนัก (เล่น) การเมืองเรืองอำนาจเงินตราทั้งหลาย  ท่านเคยผ่านไปเห็นตำตาตำใจบ้างหรือเปล่า

 ถ้ามีหนัง “ครูบ้านนอก” ภาคต่อๆ ไป  ลองไปดู โรงเรียนบ้านนาเสียวโคกสว่าง บ้างนะครับ  ผมเห็นโรงเรียนซึ่งมีครู ๔ คนแล้ว  รู้สึกเหงาวังเวงน่าดู  แถมด้านหนึ่งติดทุ่งนาอีกต่างหาก  ถามครูที่ไปด้วยกัน  ให้มาสอนที่นี่เอาไหม  เขาบอกไม่เอา  ถ้าเป็นตอนจบครูใหม่ๆ เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน  ก็อาจอยู่เป็นครูบ้านนอกได้จนชินกับความเหงาไปเอง  แต่นี่ติดเป็นครูเมืองไปแล้ว      

 อาจเป็นเช่นนั้นได้  ได้คุยกับครูท่านหนึ่ง  บอกสอนที่นี่ตั้งแต่จบครูใหม่ๆ เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน  อยู่จนผูกพันกับโรงเรียน  นักเรียน  และชาวบ้าน  น่านับถือในความเป็นครูของท่านจริงๆ

 ผมเป็นคนชอบซอกแซกอ่านถ้อยอ่านความ  ไปพบบทกวีเขียนใส่กระดานติดไว้ข้างฝาห้องเรียน  อ่านแล้วชอบใจ  คมคาย  ได้ความ  แต่ไม่ระบุชื่อผู้แต่ง  อาจเป็นกวีท่านใดท่านหนึ่งในอดีต  หรือเป็นครูท่านหนึ่งท่านนั้นเอง  ที่อาจเป็นอดีตนักศึกษามีอุดมการณ์แก่กล้า

 “ครูคือเทียนทองส่องสว่าง ท่ามกลางความมืดมัวหม่น
ครูคือปูชนียบุคคล  ปวงชนซาบซึ้งศรัทธา
ครูจึงไม่ใช่ลูกจ้าง  อำพรางสั่งสอนบังหน้า
เบื้องหลังเป็นทาสเงินตรา  ไขว่คว้าอำนาจลาภยศ
ครูจึงเป็นวีรบุรุษ   สับประยุทธ์ความชั่วทั้งหมด
ครองใจครองธรรมงามงด ปรากฏแก่ตน คนเป็นครู”

 อ่านแล้วอึ้งเลย  นำมาฝากจากโรงเรียนบ้านนอกครับ  ใครผู้แต่งก็ตาม  ผมขอคารวะ
 ทีนี้เกิดคำถาม  บทกวีนี้แต่งขึ้นก่อนหรือหลังบทกวีของ เนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์
 “ใครคือครู  ครูคือใคร  ในวันนี้   ใช่อยู่ที่  ปริญญา  มหาศาล
 ใช่อยู่ที่  เรียกว่า  ครูอาจารย์ ใช่อยู่นาน  สอนนาน  ในโรงเรียน
 ครูคือผู้  ชี้นำ  ทางความคิด ให้รู้ถูก  รู้ผิด  คิดอ่านเขียน
 ให้รู้ทุกข์  รู้ยาก  รู้พากเพียร ให้รู้เปลี่ยน  แปลงสู้  รู้สร้างงาน
 ครูคือผู้  ยกระดับ  วิญญาณมนุษย์ ให้สูงสุด  กว่าสัตว์  เดรัจฉาน
 ครูคือผู้  สั่งสม  อุดมการณ์ มีดวงมาน  เพื่อมวลชน  ใช่ตนเอง
 ครูจึงเป็น  นักสร้าง  ผู้ใหญ่ยิ่ง สร้างคนจริง  สร้างคนกล้า  สร้างคนเก่ง
 สร้างคนให้ ได้เป็นตัว ของตัวเอง ขอมอบเพลง  นี้มา  บูชาครู”

 ครับ  ฝากอ่าน  ฝากสืบทอดบทกวี “ครูคือใคร” ทั้งสองชิ้นด้วย  เผื่อได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกันอีกสำหรับผู้นิยมบทกวี  ว่างๆ ผมจะกลับไปที่โรงเรียนนี้  เพื่อสืบถามจากครูท่านนั้นอีกครั้ง

 ว่าด้วยครู  คิดถึงเรื่องครูอีกหลายครู  ยุคที่นักเรียนอาจยอกย้อนเฆี่ยนตีครูนั้น  เราย่อมอาจพบทั้งครูที่ทำให้ตื้นตัน  และครูที่ทำให้ตีบตัน...ศุกร์หน้าขอว่ากันเรื่อง “ครูคือใคร” ต่อครับ!

 ไพวรินทร์ ขาวงาม