บันเทิง

คมเคียวคมปากกา - ครูเอ๋ยครูเพลง!

คมเคียวคมปากกา - ครูเอ๋ยครูเพลง!

20 ม.ค. 2553

เมื่อคืนวันเสาร์นั่งดูเทปบันทึกภาพการจัดงาน "วันกตัญญูครูเพลง" ทางช่องเอ็นบีที ซึ่งเป็นการริเริ่มของสมาคมนักแต่งเพลงแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม

  สองหัวเรี่ยวหัวแรงหลักคือ จิตรกร บัวเนียม นายกสมาคมนักแต่งเพลงฯ กับนักร้องอาวุโส สดใส รุ่งโพธิ์ทอง สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และเป็นว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ปทุมธานี

 ธีระ สลักเพชร รมว.วัฒนธรรม จึงเปิดไฟเขียวเต็มที่ และให้เกียรติขึ้นเวทีศูนย์วัฒนธรรม มอบโล่เกียรติคุณแก่ "นักแต่งเพลงอาวุโส" ทั้งลูกกรุง-ลูกทุ่ง

 พอเอ่ยชื่องานวันกตัญญูครูเพลง ชาวบ้านร้านถิ่นต่างยกมือสนับสนุน เนื่องจากคนไทยปลูกฝังเรื่องความกตัญญูรู้บุญคุณกันมาตั้งแต่เด็กๆ และผู้จัดตั้งใจให้ตรงกับ "วันครู" ก็ถือว่าลงตัวพอดิบพอดี

 ภาพกิจกรรมต่างๆ ดูขรึมขลังดีตามประสาพิธีกรรมราชการ แต่เสียนิดเดียวตอนที่มอบรางวัลแก่ครูเพลง น่าจะมีใครกระซิบบอกรัฐมนตรีธีระ ให้เดินลงไปมอบรางวัลที่ด้านล่าง ไม่ควรให้ครูเพลงแก่ๆ ยักแย่ยักยันขึ้นบันไดไปรับโล่ตรงกลางเวที

 ผมเห็นคนสามสี่คนหามหิ้วครูเพลงอาวุโสขึ้นเวทีอย่างทุลักทุเล ก็อดสงสารคนแก่ไม่ได้ ทำไมมันจะต้องลำบากลำบนกันปานนี้?

 หากคืนนั้น มีการจัดให้ครูเพลงนั่งแถวหน้า เว้นที่ให้รัฐมนตรีธีระ เดินลงไปมอบโล่และก้มกราบครูเพลง รับรองว่าจะได้คะแนนใจจากจากชาวลูกทุ่งไปอีกเยอะ!  

 ผมไม่แน่ใจว่า กิจกรรมวันกตัญญูครูเพลงจะมีครั้งต่อไปในปีหน้าอีกหรือเปล่า? หรือว่าพ้นสมัยรัฐมนตรีธีระ ก็จบสิ้นกันไป เหมือนหลายๆ โครงการของกระทรวงวัฒนธรรมที่ผ่านมา

 จริงๆ แล้ว กระทรวงวัฒนธรรมควรทำนโยบายส่งเสริมศิลปินพื้นบ้านให้มากกว่านี้ ดีกว่าปล่อยให้เลขานุการรัฐมนตรี ไปจัดรายการมวยชิงแชมป์โลกถ่ายทอดทีวี หาเสียงหาคะแนนล่วงหน้า ดูแล้วมันไม่เห็นจะเกี่ยวข้องกับนโยบายกระทรวงแต่อย่างใด

 จะว่าไปแล้ว การเชิดชูบูชาครูเพลงก็มีกิจกรรมทำกันในกลุ่มคนลูกทุ่งอยู่บ่อยๆ แต่ทำใครทำมันเสียมากกว่า

 ครูเพลงบางคนพูดว่า นักร้องรุ่นหลังไม่รู้จักบุญคุณครูเพลง เพราะการแต่งเพลงในยุคนี้ มันเป็นเรื่องกระบวนการผลิตเพลงแบบใหม่ ไม่ต้องอาศัยนักแต่งเพลงเหมือนในอดีต

 พูดแบบนี้มันก็ถูก แต่ไม่ถูกทั้งหมด เพราะค่ายเพลงใหญ่ๆ ยังต้องพึ่งพามันสมองนักแต่งเพลงอยู่ เพียงแต่สังคมธุรกิจในปัจจุบัน มันทำให้ความสัมพันธ์ของคนในวงการลูกทุ่ง ชัดเจนขึ้นในเรื่องผลประโยชน์

 นักร้องก็มีคนจัดการ นักแต่งเพลงก็มีคนดูแล ระบบอุปถัมภ์ในอดีต จึงค่อยๆ หายไป แต่ใช่ว่าความสัมพันธ์ระหว่างนักร้องกับนักแต่งเพลงจะหมดไปเสียทีเดียว

 ถ้านักแต่งเพลงวางตัวดี มีความเมตตา มีความเอื้ออาทร ย่อมเป็นที่เคารพของลูกศิษย์ โดยไม่ต้องเรียกร้องหาความกตัญญูจากใคร?

 ครูเพลงรุ่นใหม่หลายคน มีลูกศิษย์ลูกหาเต็มบ้านเต็มเมือง ผิดกับครูเพลงรุ่นเก่าบางคน พอเอ่ยชื่อขึ้นมา ลูกศิษย์ก็เมินหน้าหนีแล้ว

 สังคมไทย พ.ศ.ก่อน เป็น "โครงสร้างสังคมอุปถัมภ์" ตั้งแต่ล่างสุดยันบนสุด บางโอกาสความกตัญญูก็เป็นดั่ง "กรงขังลูกศิษย์" หรือเป็นเครื่องมือทำลายลูกศิษย์ในภายหลัง

 จึงเป็นที่มาของนิยายลูกทุ่งเรื่องแล้วเรื่องเล่า อย่างที่พูดกันในวงเหล้า ถ้าไม่อยากมีปัญหา ครูเพลงต้องเอาศิษย์สาวเป็นเมียเสียตั้งแต่ยังไม่ดัง เพราะปล่อยให้ดัง มันจะเอาไม่อยู่ (ฮา)

 นักร้องสาวจำนวนไม่น้อย จึงแสดงความกตัญญูครูเพลงด้วยการพลีกายเป็นนางบำเรอ และกว่าจะได้อิสรภาพ ต้องแลกอะไรต่อมิอะไรมากมาย

 เมื่อสังคมเปลี่ยน วงการลูกทุ่งย่อมปรับตัวไปตามสภาพ ระบบธุรกิจเข้ามาแทนที่ระบบอุปถัมภ์ ความสัมพันธ์แบบน้ำเน่า ก็ค่อยๆ หมดไป

 ความกตัญญูยังดำรงอยู่ และขอให้เป็นความระลึกนึกถึงอันเกิดจากความเคารพซึ่งกันและกัน ทั้งครูและลูกศิษย์

 มิใช่ครูเพลงเฝ้าแต่คิด ลูกศิษย์ติดหนี้ไปชั่วชีวิต ไม่เคยส่องกระจกมองดูตัวเองว่า มีคุณค่าแก่การบูชากราบไหว้หรือไม่?

"บรรณวัชร"