บันเทิง

อาร์สยามตั้งเป้าเหมาดาวน์โหลดเชื่อเพื่อชีวิตยังมีลูกทุ่งช่วยดัน

อาร์สยามตั้งเป้าเหมาดาวน์โหลดเชื่อเพื่อชีวิตยังมีลูกทุ่งช่วยดัน

07 ม.ค. 2553

ที่ผ่านมา บริษัท อาร์สยาม จำกัด ในเครือบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ถือว่าเป็นอีกบริษัทหนึ่งที่มีรายได้มาจากการดาวน์โหลดเพลง ซึ่งการทำธุรกิจเพลงในปีเสือนี้ ค่ายนี้จะมีทิศทางอย่างไร ทีมข่าว ”คม ชัด ลึก” ประชิดตัวขอสัมภาษณ์ ศุภชัย นิลวรรณ หัวขบวนของอาร์สยาม

 “นโยบายของอาร์สยาม คือ ความบันเทิงครบวงจร เราเริ่มมาตั้งแต่ปี 2551 พอมาปี 2552 เราก็ทำมาตลอดหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการทำทีวีดาวเทียม เรื่องแนวเพลงต่างๆ ที่ปรับเปลี่ยนไปบ้างตามกระแสตลาด ธุรกิจดิจิทัล การออกผลงานเพลงที่เป็นซิงเกิ้ล เรื่องลิขสิทธิ์หรือการทำกิจกรรมร่วมกับสินค้าอื่นๆ การขยายสายงาน เรามาสะดุดในช่วง 2 ไตรมาสแรกที่มีเรื่องการเมือง ทำให้เศรษฐกิจชะงักไปนิดแต่ก็ได้ตามเป้าประมาณ 95% อย่างทีวีดาวเทียมของเรามีการตอบรับที่ดีมาก ดูจากยอดการดาวน์โหลดของเราเพิ่มขึ้นเกิน 100% ซึ่งเราต้องก้าวไปเป็นช่องเพลงลูกทุ่งเพื่อชีวิตอันดับ 1 ซึ่งตอนนี้ช่อง ”สบายดี” เราเปลี่ยนคลื่นความถี่แล้วคือ C-Band 3960 Symbol Rate 30000 Vส่วน KU-Band จานเหลืองจากช่อง 20 มาเป็นช่อง 38 เพื่อความชัดเจน“

 ศุภชัย นิลวรรณ เปิดฉากเล่าภาพรวมปีที่ผ่านมาพร้อมการปรับปรุงเครื่องมือที่จะใช้เป็นตัวสื่อสารงานเพลงไปสู่คนฟัง ส่วนแนวโน้มทิศทางเพลงในปีนี้ ผู้บริหารหนุ่มยังเชื่อว่าเพลงเพื่อชีวิตยังขายได้

 ช่องทางธุรกิจเรายอมรับว่ามันมาจากเรื่องดิจิทัลดาวน์โหลดที่ค่อนข้างมาก  แนวเพลงก็ต้องปรับเข้ามาให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายของเรา แต่เราก็ไม่ทิ้งกลุ่มเดิมๆ แนวเพลงปีนี้เราจับตามองอย่างใกล้ชิด อันแรกเราตั้งธงไว้ว่าจะผลิตเพลงแนวไหน สองก็ต้องดูว่ารสนิยมการฟังเปลี่ยนค่อนข้างไว ก็ต้องปรับตัวตามทิศทางการตลาดให้ไว ซึ่งคิดว่าลูกทุ่งเพื่อชีวิตที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับคนในเมืองเป็นส่วนใหญ่ทิศทางเพลงแนวนี้ยังไปได้อยู่ การดาวน์โหลดสูงมาก ยอดจะมาจากแนวเพลงแบบนี้ ส่วนแนวอื่นเราก็ทำให้เต็ม งานเพลงลูกทุ่งเราก็มีการปรับเรื่องดนตรีแต่การร้องยังเป็นเหมือนเดิม ต่อไประบบการขายของเราจะเป็นระบบเหมา เดือนละ 20 บาทราคาเดียว เพลงเราก็ต้องเติมให้เต็ม การเหมาเป็นการการันตีรายได้ เพลงก็ต้องไวขึ้นเพื่อให้เขาโหลดได้ทั้งปีไม่ซ้ำเพลงกัน ส่วนการรับงานของนักร้องเดิมเราหัก 30% เพื่อเป็นโบนัสให้แก่นักร้องที่ทำงานเพื่อบริษัทมาตลอดปีนี้ เราจึงหักแค่ 5% ซึ่งนักร้องทุกคนก็ต้องพัฒนาตัวเองและให้ความร่วมมือกับบริษัท ถ้าใครที่มีปัญหาเราจะกลับไปใช้ระบบเดิม“

 ด้าน หนู มิเตอร์ จากภูมิไทย กล่าวถึงการทำงานเพลงในปีนี้ว่า “เราคงเน้นนักร้องที่มีชื่อเสียง เพราะเราไม่ต้องไปเริ่มต้นใหม่คนจำได้แล้ว จะเห็นว่าเพลงเพื่อชีวิตแนวใต้หลังๆ มาอืดๆ ไปบ้าง เพราะคนทำเยอะขึ้น สื่อท้องถิ่นนำเสนอแต่อันนั้นเขาขายเฉพาะในพื้นที่ แต่เราขายทั่วประเทศอย่างซิงเกิ้ลที่ออกมา เราก็จะเอามารวมแต่ต้องสร้างชื่อขึ้นมาให้เป็นโลโก้ อย่างเสียงเพรียกแห่งชีวิต ที่รถไฟดนตรีเคยทำเขาก็สร้างชื่อใหม่ขึ้นมาเป็นอันรู้กันว่าอัลบั้มมีแต่เพลงดีๆ ผมอยากทำแบบนั้น“

 ส่วน สนอง โสตถิลักษณ์ จากมีดี เรดคอร์ด บอกถึงทางเพลงลูกทุ่งเพื่อชีวิตว่า “เนื้อหาจะกลับไปทางพื้นบ้าน เรื่องดนตรีก็ต้องปรับที่ผ่านมาเราออกไปทางป๊อป ต่อไปควรจะมีดนตรีพื้นบ้านส่วนเนื้อเพลงหลังๆ ที่ออกมาแรงๆ มันจำเป็นถ้าเรากล้าพูดอะไรที่มันแทงใจตรงๆ แต่ความแรงสังคมต้องรับได้ ไม่ใช่หยาบคาย ผมว่ากฎต่างๆ มันเริ่มมีผ่อนคลายลงบ้างแล้ว เราจะคิดเองเออเองไม่ฟังใครไม่ได้ การประชุมย่อยๆ บ่อยๆ ผมว่าจะทำให้การทำงานมีทิศทางที่ชัดและแม่นยำมากขึ้น”