
รู้ทันกฎหมาย - ย้ายชื่อจากทะเบียนบ้าน
ทะเบียนบ้านเป็นหลักฐานสำคัญแสดงถึงถิ่นที่อยู่ของเรา และจะถูกเก็บบันทึกเข้าสารบบราชการเอาไว้ โดยให้เราถือเอกสารเป็นสำเนาอีกเล่มหนึ่งไว้อ้างอิงกัน ในการทำบัตรประชาชนก็จะระบุที่อยู่อาศัยตามที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านนั้น และเป็นหลักฐานสำคัญแสดงภูมิลำเนา
ปกติเจ้าบ้านจะเป็นคนเก็บรักษาสมุดเล่มนี้ไว้ หรือจะให้ใครเก็บก็ตามใจ แต่เจ้าบ้านมีหน้าที่ดูแลด้านทะเบียนให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
ไม่ว่าจะเป็นการเกิด การตาย ใครเข้ามาอยู่อาศัยและใครย้ายออกไปแล้ว รวมทั้งจำนวนคนที่อยู่อาศัยในบ้านจะต้องไม่มากจนกระทบต่อระบบสาธารณสุขด้วย
คนที่อยู่อาศัยในบ้านหลังนั้นก็ต้องมั่นใจว่า เมื่อได้ย้ายออกไปชื่อในทะเบียนบ้านก็ได้ย้ายตามไปด้วย เพราะบางทีตัวไป แต่ชื่อยังไม่ยอมย้าย ก็อาจเสียหายแก่ตัวเองได้
หากมีการส่งจดหมายมาให้ตามทะเบียนบ้านเมื่อไหร่ เจ้าตัวไม่ได้ ก็ถูกข้อสันนิษฐานของกฎหมายถือว่าได้ส่งหนังสือให้โดยชอบแล้ว ถ้าเป็นเรื่องสำคัญก็เดือดร้อนได้ ต้องอาศัยเจ้าบ้านคอยอัพเดทให้ว่ามีไปรษณีย์สำคัญมาถึงหรือไม่
อาจดูเป็นเรื่องหยุมหยิมเกินไปสำหรับหลายคน แต่สำหรับอีกหลายคนก็เป็นเรื่องที่ต้องสนใจ เพราะอาจกลายเป็นคนไม่มีหลักแหล่งได้ เพราะไม่ใส่ใจรายการทะเบียน
ส่วนใหญ่ครอบครัวไทยมักให้สามีเป็นเจ้าบ้าน ส่วนภรรยาเป็นผู้อาศัย หากมีเหตุต้องแยกทางกันไป เจ้าบ้านไม่ไปแจ้งการย้ายออกให้ ก็จะเสียหายแก่ตัว
แบบนี้สามารถจะแจ้งย้ายเองได้ โดยไปยังเขตที่ตัวเองอยู่ในปัจจุบันแล้วไปทำเรื่องย้ายออกจากที่เก่าเข้ามาอยู่ในที่ใหม่ โดยให้เจ้าบ้านใหม่เขารับรองว่ามาอยู่จริง เป็นการแจ้งย้ายปลายทางโดยไม่ผ่านเจ้าบ้านเดิม ทะเบียนของเราก็จะเข้ามาที่ใหม่
ในทางกลับกัน หากภรรยาไม่อยากย้ายชื่อออกไป และไม่ยอมบอกว่าย้ายไปไหน สามีที่เป็นเจ้าบ้านก็ไม่รู้จะแจ้งย้ายออกไปอยู่ที่ใด กฎหมายทำทางออกให้โดยต้องรอให้พ้น 180 วันนับแต่หล่อนย้ายออกไปค่อยไปทำเรื่องย้ายออกได้ โดยให้ไปแขวนไว้ที่ทะเบียนกลาง เจ้าบ้านต้องแจ้งย้ายคนออกไปหลังจากที่เขาไม่อยู่ภายใน 15 วัน ไม่เช่นนั้น มีความผิดตามกฎหมาย ถูกปรับในอัตราไม่เกิน 1,000 บาท
ดูแล้วเจ้าบ้านมีอำนาจและหน้าที่ดูดีอยู่ แต่หากว่าเจ้าบ้านย้ายออกไปเสียเองและไม่สนใจที่จะแจ้งว่าไปไหน ไม่ยอมทำเรื่องย้ายออกทางทะเบียนโดยปล่อยทิ้งชื่อไว้ให้เป็นใหญ่ในฐานะเจ้าบ้านต่อไป ผู้อาศัยก็สามารถจัดการกับเจ้าบ้านคนนี้ได้
ในฐานะเป็นผู้อาศัย ก็ไปทำเรื่องต่อสำนักงานเขตหรืออำเภอว่าเจ้าบ้านเขาไม่อยู่แล้ว และไม่รู้ว่าเขาอยู่ไหน แต่ต้องรอให้พ้น 180 วันนับแต่เขาย้ายออกไปเสียก่อน เจ้าหน้าที่ทะเบียนเขาก็จะดำเนินการเปลี่ยนคนร้องนี้เป็นเจ้าบ้านและปลดเจ้าบ้านเดิมลงไปเป็นผู้อาศัย จากนั้นเจ้าบ้านคนใหม่ก็ดำเนินการย้ายคนเก่าออกไปอยู่ทะเบียนกลาง
บรรดาสามีหรือภรรยาทั้งหลายที่ยังรักกันเป็นอันดี ก่อนที่จะขอเลขบ้านก็ควรใช้วิจารณญาณตกลงกันไปด้วยว่า ใครจะเป็นเจ้าบ้านในทะเบียนบ้านนี้ เวลาเข้ามาอยู่ด้วยกันมันไม่เท่าไหร่ แต่ตอนที่เลิกราจากกันไป กว่าจะเจรจาตกลงว่าใครเป็นฝ่ายย้าย ก็ควรทำทะเบียนให้เป็นไปตรงกัน
ทะเบียนบ้านจึงมีความสำคัญด้วยประการฉะนี้
"ศรัณยา ไชยสุต"