
มองผ่านเลนส์คม - 1 ภาพ 1 ถ้อยคำ
หลังจาก (ดูเหมือน) จะห่างหายไปนานร่วม 2 ปี ล่าสุด ข่าวคราวของ เรืองรอง รุ่งรัศมี นักคิด-นักเขียน-นักแปลเรื่องจีน หรือที่คอกำลังภายในคุ้นเคยเมื่อ 2 ปีก่อน ใน "เนชั่นสุดสัปดาห์" "เดียวดายใต้เงาจันทร์ โกวเล้ง รำพัน" หรือผลงาน "เสียงขลุ่ยผิวใต้กอไผ่" ใน นสพ.
ทว่าคราวนี้ เขากลับมาแล้ว แต่ขอเปลี่ยนรูปแบบหน่อย
เขานำ "ศิลปะ" อีกด้านมาสื่อความหมาย ร่วมกับถ้อยคำคมๆ ในงาน นิทรรศการ "เงา-คำ-ทาง-คน"
“หนึ่งภาพถ่าย ต่างระบายสี หนึ่งคำมีความหมาย” คือคอนเซ็ปต์ของงานนี้
ถามถึงเหตุผล ที่มาที่ไป คุณเรืองรอง บอกว่า ต้องการสื่อสารอีกทางหนึ่ง หลังจากเขียนหนังสือเยอะๆ มาหลายปี จึงอยากจะเขียนคำสั้นๆ กับรูปหนึ่ง ว่าจะทำหน้าที่ได้อย่างใจมั้ย เป็นการใช้คำ ซึ่งไม่ใช่ชื่อรูป แต่จะพารูปนั้นกับความคิดว่าจะไปได้แค่ไหน
อย่างรูปหนึ่งเขียนไว้ว่า "หยาดเหงื่อหลั่งรดชีวิตหอม" เป็นรูปคนทำงาน อีกรูป มีพรมแดนประเทศชาติ เป็นรูปด่าน ที่เขาเดินทางไปประเทศต่างๆ
"ผมเดินทางทางบกเป็นหลัก อยู่แถวสะเดา ข้ามมาเลย์ จริงๆ เราแค่เดินไป มันเปลี่ยนธงชาติไปแล้ว ข้างนี้ของเราธงไทย ข้างโน้นเป็นธงมาเลเซียแล้ว ที่ว่าข้ามพ้นไม่พ้นเรื่องราวลักษณะนี้ ใครจะพาตัวเองไปไหน เจตนาผมต้องการสื่ออะไรบางอย่าง"
หรือภาพผู้หญิงธรรมดา แต่เป็นแม่ของคนที่ยิ่งใหญ่ รูปเป็นผู้หญิงคนหนึ่งกำลังทำงานอะไร คุณเรืองรองเสนอภาพผู้หญิงทำงาน ซึ่งอาจเป็นแม่ของคุณ แม่ของเขา หรือแม่ของใครๆ เราเองรู้สึกบ้างไหมว่าผู้หญิงแบบไหนถึงจะเป็นแม่ของผู้ยิ่งใหญ่ นั่นหมายถึงเขาอยากท้าทายความคิดบางอย่าง
"คุณดูถูกแม่คุณหรือเปล่า คุณดูถูกคนหรือเปล่า คุณรักชาติมากไปมั้ย คุณใจแคบเกินไปหรือเปล่า มีเควสชั่นห้อยไว้ ในการมองโลกบางอย่าง"
"ทุกวันนี้ เราอยู่ในสภาวะอ่อนแอ อ่อนไหว ต่อสิ่งเร้าภายนอกอย่างเสพติด หรือเปล่า ผมอยากตั้งคำถาม ยังหวังว่าผมคงไม่ล้าเกินไป อยากจะทำต่อ ถ้ายังไม่หมดเงิน หมดแรงซะก่อน"
ผลงาน ระบายสีน้ำแบบโบราณ ที่ย้อมสีด้วยมือ พร้อมบันทึกถ้อยคำกวี บนภาพถ่ายขาว-ดำร่วมสมัย 30 ชิ้น 30 เรื่องราว เรียงร้อยถ้อยคำความคิด เปิดการแสดง ตั้งแต่วันนี้ ถึง 31 ธันวาคมนี้ ที่ ห้องตาดู (หอศิลป์ตาดู ชั้น 4) สี่แยกปทุมวัน
ที่บอกว่างานศิลปะ สามารถพาเราเดินทางหลุดพ้นเส้นแดนชีวิต จนสามารถสร้างคำถามถึงเส้นบางๆ ที่แบ่งเขตสมมติของมนุษย์ในปัจจุบัน นิทรรศการภาพถ่ายครั้งนี้ อาจจะให้คำตอบที่รอการตั้งคำถามของคนที่เดินเข้ามาชมได้
"นันทพร ไวศยะสุวรรณ์"