บันเทิง

คมเคียวคมปากกา - ชิงช้าสวรรค์...เพื่อใคร?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รายการลูกทุ่งทางจอแก้วที่ได้ความนิยมอย่างสูง คงหนีไม่พ้น "ชิงช้าสวรรค์" ทางช่อง 9 ผมเคยเขียนชมและเชียร์มาหลายหนแล้ว

  วันนี้ ผมอยากนำความเห็นของผู้คนที่เกี่ยวข้องในรายการนี้มาปุจฉา-วิสัชนาดูสักหน่อย

 เพราะมีนิตยสารรายเดือนสองฉบับ ได้พูดคุยกับ "คนลูกทุ่ง" ที่เข้าไปเป็นคอมเมนเตเตอร์ในการประกวดวงดนตรีลูกทุ่งมัธยมของค่ายเวิร์คพอยท์

 คนแรกคือ สลา คุณวุฒิ ให้สัมภาษณ์ไว้ในนิตยสาร "แฮมเบอร์เกอร์" ฉบับเดือนที่แล้ว โดยเปรียบเทียบให้เห็นภาพระหว่างตลาดเพลงลูกทุ่งที่กำลังจะตาย แต่อีกด้านหนึ่ง เด็กๆ หันมาร้องเพลงลูกทุ่งกันมากขึ้น

 "...เป็นมิติที่เรารอคอย แต่มองอีกด้าน เวทีรองรับคนของเราที่กำลังเติบโตกลับไม่มี เวทีกำลังจะตาย แต่คนกำลังจะโต เป็นเรื่องที่ต้องช่วยกัน"

 คำว่า "เวที" ที่ครูสลาพูดถึงนั้น หลักๆ คือค่ายเพลง ทยอยล้มหายตายจาก ส่วนที่เหลืออยู่ก็เป็นค่ายเพลงอิสระ ซึ่งกระจายตัวอยู่ในท้องถิ่น ไม่มีศักยภาพในการสร้างนักร้องมากนัก

 ในบทสัมภาษณ์ชิ้นนั้น ครูสลารู้สึกปลาบปลื้มที่เห็นคนรุ่นใหม่ สนใจเพลงลูกทุ่งกันมากขึ้น และฝันอยากมี "เฮือนครูสลา" เป็นแหล่งฝึกฝนและสืบสานงานเพลงให้แก่เยาวชนทั่วไป

 อีกด้านหนึ่ง ผมนั่งดูรายการประกวดร้องเพลงทางทีวี ไม่เพียงแต่ชิงช้าสวรรค์ รายการอื่นๆ ก็มีมาก ทั้งฟรีทีวี และทีวีดาวเทียม แล้วเกิดความสงสัยว่า เด็กพวกนี้จะไปไหน?

 หรือเด็กๆ วิ่งเข้าสู่ลู่การแข่งขัน เพราะแรงผลักดันของผู้ปกครองและโรงเรียน? ผมแอบคิดตั้งคำถามในใจ

 พอผ่านพ้นรั้วโรงเรียน รั้วมหาวิทยาลัยไปแล้ว พวกเขาก็หันหลังให้เพลงลูกทุ่ง และที่ผ่านไปนั้น มันแค่ "กิจกรรมเสริมประสบการณ์" ในวัยเยาว์

 อีกคนหนึ่งที่ทุ่มใจให้รายการชิงช้าสวรรค์คือ "ครูเทียม" ชุติเดช ทองอยู่ ที่โผล่หน้าจอทุกเสาร์ จนแทบจะเป็นโลโก้ของรายการไปแล้ว

 ครูเทียมก็คงคิดเหมือนผม รายการชิงช้าสวรรค์ ก่อให้เกิด "กระแสลูกทุ่งขาสั้นคอซอง" ที่สังคมให้การยอมรับ วงดนตรีนักเรียนอย่าง จ่านกร้อง, ทุ่งเสลี่ยม, อัมพวัน และอีกหลายโรงเรียน มีชื่อเสียงไม่แพ้วงลูกทุ่งชื่อดังในอดีต

 "ใครดูชิงช้าสวรรค์จะเห็นว่าครูดุ...เพราะสิ่งที่ครูต้องการคืออยากให้วงดนตรีลูกทุ่งมัธยมที่เขาทำกัน ให้รู้ว่าลูกทุ่งคืออะไร ลูกทุ่งที่ดีคืออะไร ลูกทุ่งที่ไม่ดีคืออะไร...ไม่ใช่ว่ามาแข่งทีหนึ่งทุ่มกันมาห้าหกแสนบาท ทุ่มกันมาทำอะไร ครูต้องการเห็นความเป็นจริงมากกว่า ลูกทุ่งที่ดีคืออะไร"

 สิ่งที่ครูเทียมพูดมาข้างต้น ผมก็นั่งคิดอยู่เหมือนกัน เพราะนับวันวงดนตรีลูกทุ่งมัธยมที่เข้ามาประกวดในแต่ละสัปดาห์ มันเริ่มถอยห่างออกจากคำว่า "วงดนตรีลูกทุ่ง" ไปเรื่อยๆ

 เพราะความเลิศหรูอลังการงานสร้างที่หลายโรงเรียนค้นคิดประดิษฐ์สร้าง มันเหมือนจะทำวงดนตรีไปประกวดในสรวงสวรรค์ 

 วงดนตรีลูกทุ่งมัธยมที่ประกวดในรายการชิงช้าสวรรค์ จึงดูเป็นลูกทุ่งในอุดมคติ เหินห่างจากความเป็นจริง

 มิหนำซ้ำ คณะผู้บริหารโรงเรียน (บางแห่ง) คิดแต่จะแข่งขัน เพื่อหน้าตาของสถาบัน มากกว่าเพื่อการส่งเสริมให้เด็กไทยมีหัวใจลูกทุ่ง

 ผู้บริหารบางคน...ขอย้ำว่าบางคนนะครับ คงค้นพบว่า ชิงช้าสวรรค์คือช่องทางหนึ่งของการไต่บันไดดาว ในอาชีพราชการ เพราะการศึกษาของเมืองไทย ใน พ.ศ.นี้ วัดความสามารถของผู้บริหารที่ "ผลงาน" ประเภทชนะเลิศโน่น ชนะเลิศนี่

 น่าสงสารเด็กๆ จึงต้องกลายเป็น "บันได" ให้ผู้บริหารโรงเรียนบางคนเหยียบขึ้นไปคว้ามงกุฎดาวมาครอบครองแต่ผู้เดียว

 เขียนมายังงี้ ก็หวังที่จะเห็น "ชิงช้าสวรรค์" เป็นสวรรค์ของเด็กๆ ไม่ใช่เป็นสวรรค์ของผู้บริหารโรงเรียนที่เห็นแก่ตัว!

"บรรณวัชร"

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ