
ศิลป์แห่นแผ่นดิน - แต้มรูปหลวงพระบาง
ศิลปะแห่งแผ่นดินฉบับนี้ ผมขอเขียนเรื่อง ลาว อีกสักตอนนะครับ เพราะยังไม่ได้พูดถึงพระราชวังหลวงพระบาง
ผม “แต้มรูป” วาดรูปมุมต่างๆ ของหลวงพระบางไว้เกือบ 40 รูป โดยอาศัยภาพสเก็ตช์ ที่ขีดๆ เขียนๆ ในสมุดบันทึก และภาพถ่ายเป็นต้นแบบ ใช้วิธีการแบบสีน้ำ แต่ผมใช้สี (สำหรับเขียนผ้า) บาติกแทน เอาสีสดใสเข้าว่า
พระราชวังหลวงพระบาง สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2477 เพื่อเป็นที่ประทับของ เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ ออกแบบโดยสถาปนิกชาวฝรั่งเศส มีลักษณะผสมผสาน เป็นอาคารหมู่ชั้นเดียว ก่ออิฐถือปูนแผนผังเป็นรูปกากบาท หลังคามุงกระเบื้อง ภายในอาคารแบ่งเป็นห้องต่างๆ เช่นห้องรับแขกของเจ้ามหาชีวิต ห้องรับแขกของพระมเหสี ห้องฟังธรรม ท้องพระโรง
ปัจจุบันใช้เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ (ตั้งแต่เปลี่ยนการปกครอง พ.ศ.2518) แสดงสิ่งของเครื่องใช้ของเจ้ามหาชีวิต ได้แก่ บัลลังก์ เครื่องสูง 5 อย่าง (แส้ จามร รองพระบาท กระบี่ และพระแสงของ้าว) มงกุฎซึ่งเก็บไว้ในตู้นิรภัย รูปหล่อครึ่งองค์ของเจ้ามหาชีวิตองค์ต่างๆ ด้านหลังท้องพระโรงเป็นที่ตั้งของตำหนักเจ้ามหาชีวิต ด้านขวามือ (ขาเข้า) พระราชวังทางด้านนอกเป็นที่ประดิษฐานของ “พระบาง” พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง หล่อด้วยทองคำบริสุทธิ์ น้ำหนัก 54 กิโลกรัม เป็นพระพุทธรูปศิลปะแบบขอม ท่ายืนปางประทานอภัย (ยกสองพระหัตถ์) ซึ่งทางการกำลังสร้างและตกแต่ง “หอพระบาง” ปัจจุบันใกล้จะเสร็จ อีกไม่นานคงได้จัดงานอัญเชิญองค์พระบางไปประดิษฐานเป็นการถาวรสืบไป
ด้านฝั่งตรงข้ามกับหอพระบาง เป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์เจ้ามหาชีวิต ศรีสว่างวงษ์ ผู้พระราชทานรัฐธรรมนูญ รูปหล่อนี้ทำจากประเทศรัสเซีย
เมื่อชมพระราชวังหลวงพระบางแล้ว นักท่องเที่ยวมักจะไปเที่ยวชมวัดใหม่สุวรรณภูมาราม ซึ่งอยู่ติดกัน วัดนี้เป็นวัดสำคัญ เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชบุญทัน (พระสังฆราชองค์สุดท้ายของลาว) และยังเคยเป็นที่ประดิษฐานพระบาง ในสมัยเจ้ามหาชีวิตสักรินทรฤทธิ์ จนถึงปี พ.ศ.2437
ผมประทับใจเมืองหลวงพระบางก็เพราะเมืองนี้ มีวัดวาอารามมากมาย บางวัดอยู่ติดกันแบบใช้กำแพงร่วมเลยทีเดียว ที่นี่ไม่มีตึกสูง มีแม่น้ำสำคัญ 2 สาย คือ น้ำของ (โขง) และน้ำคาน ตรงจุดที่น้ำคานไหลไปลงน้ำของ เรียกว่าปากคาน เมื่อขึ้นไปยังยอดภูสีจะเห็นทิวทัศน์ เมืองหลวงพระบางได้ครบถ้วน รวมทั้งมองเห็นพระราชวังหลวงพระบางอยู่หลังม่านใบไม้ดูขรึมขลัง อลังการใจยิ่งนัก เมืองเล็กๆ แห่งนี้ให้ความรู้สึกสงบโปร่งใจ แม้จะมีความเป็น “เมืองท่องเที่ยว” อยู่สูง เดินอยู่ในเมืองจะเห็นนักท่องเที่ยวมากกว่าชาวเมือง
ผมตั้งใจว่าไม่ช้าไม่นานจะกลับไป “เยี่ยมยาม” หลวงพระบางอีก จะกลับไป “แต้มรูป” ต่อจากครั้งแรก ที่ยังไม่หนำใจ 40 รูปที่วาดไปยังถ่ายทอดความเป็นหลวงพระบางไม่ได้อย่างใจ ยังไม่ได้เลาะเลียบลำน้ำคาน ยังไม่ได้เดินตามตรอกซอกซอยเล็กๆ ยังไม่ได้เขียนภาพผู้คน พระสงฆ์ และเด็กๆ ยังไม่ได้เขียนภาพดอกจำปา (ลั่นทม) ที่ภูษี ยังไม่ได้เขียนตลาดสด
ศิลปะแห่งแผ่นดินฉบับนี้ ผมนำรูปสีน้ำ (สีบาติก) มาให้ชม 2 ภาพครับ ขนาด 5x7 นิ้ว ใหญ่กว่าโปสการ์ดหน่อยเดียว ปกติเวลาเดินทางผมจะพกกระดาษสีน้ำที่เขาทำเป็นเล่มในรูปโปสการ์ดติดตัวไปเสมอ พร้อมสีกล่องแบบพกพา กับพู่กัน 2-3 ขนาด และปากกาดีๆ พร้อมสมุดสเก็ตช์ภาพ
ผมชอบเขียนโปสการ์ดส่งถึงใครบางคน (หลายคนอยู่) จนติดเป็นนิสัย การเขียน+วาดโปสการ์ดส่งให้เพื่อนเป็นทั้งการส่งข่าว และส่งความคิดถึง เป็นทั้งบันทึกการเดินทาง มีโปสการ์ดหลายใบที่ไม่ได้ส่งให้ใคร อย่างไปหลวงพระบางเที่ยวนี้ (ธันวาคม 2551) ผมมีโปสการ์ดถึง 40 ใบ (รูป) จะว่าไปก็มากโขอยู่ ฝีมือมีแค่นี้ก็ยินดีนำมาอวดกัน เป็นภาพพระราชวังหลวงพระบาง และภาพหอพระบางครับ โอกาสหน้าจะเอาภาพชุด “พม่า” มาให้ดูชมด้วย เพื่อจะได้มีเรื่องเล่า เรื่องคุยกัน ฉบับนี้ขอจบเพียงแค่นี้ สวัสดีครับ
"ศักดิ์สิริ มีสมสืบ"