
New York, I Love You
เสน่ห์ของมหานครนิวยอร์กอย่างหนึ่งคือ การเป็นเมืองที่มีความแตกต่างของคนหลากหลายชาติพันธุ์ แต่ทว่ากลับผสานกลมกลืนอยู่ร่วมกันโดยเกิดความขัดแย้งน้อยที่สุด หนัง New York, I Love You ดูเหมือนพยายามจะบอกกับเราอย่างนั้น
อีกทั้งยังสำทับว่า ความรักที่เกิดขึ้นในมหานครแห่งนี้ ล้วนก่อเกิดจากความแตกต่างของผู้คน ที่พบเจอ ปะปน ดำรงชีวิตอยู่รายรอบ มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันอาจโดยตั้งใจหรือไม่ก็บังเอิญต้องผ่านพบกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน บางเรื่องดูเหมือนเป็นเรื่องของพรหมลิขิต หรือโชคชะตา ในขณะที่อีกหลายๆ เรื่องดูเหมือนถูกกำหนดมาโดยฟ้าเบื้องบน หรือแม้แต่บางเรื่องก็เกิดขึ้นด้วยตรรกะของเหตุและผล ด้วยพลังแห่งรักที่ส่งผ่านถึงกันอย่างอบอุ่น และบางคู่ก็ดูคล้ายแม่เหล็กขั้วตรงข้ามที่ดึงดูดเข้าหากันอย่างเร่าร้อน ทุรนทุราย เป็นความหลากหลายแห่งรักที่รวมปรากฏไว้ในหนังเรื่องเดียว
การพยายามสะท้อนประเด็นความแตกต่างทางเชื้อชาติของผู้คนในนิวยอร์ก ผ่านเรื่องราวความรักที่เกิดขึ้น ณ ห้วงเวลาต่างๆ กันของผู้คนในเมืองใหญ่ รวมทั้งสถานที่ เวลา เหตุการณ์ต่างๆ ที่อุบัติขึ้นในหนัง บางเรื่องยาวนาน บางเรื่องอาจเพียงชั่วขณะ และบางคู่จากแค่เริ่มต้นความสัมพันธ์ข้ามคืน แต่กลับดูมีทีท่าว่าจะยาวไกล ห่างออกไปจากจุดเริ่มต้น ที่สำคัญหนังสั้นทั้ง 11 เรื่องใน “New York, I Love You” นอกจากถ่ายทอดเรื่องราวของคู่รัก คนที่รัก เพิ่งเริ่มรัก แรกรัก ไปจนถึงรักนิรันดร์แล้ว ผู้สร้างยังเลือกคนทำหนังทั้ง 11 ชีวิต ที่มีความแตกต่างกันทั้งในเรื่องเชื้อชาติ มุมมอง วิธีคิด และทัศนคติในความรักของผู้คนท่ามกลางเมืองใหญ่ ที่อาจพบเจอ พรากจาก ผูกพัน แหนงหน่าย คลุกเคล้ากันไปอย่างลงตัว บางเรื่องถึงขั้นน้ำตาซึม บางเรื่องทำให้เราต้องอมยิ้มเล็กๆ บางเรื่องถึงกับฉีกยิ้มกว้าง และบางครั้งก็ทำเอาใจหายเมื่อเดินทางมาถึงตอนสุดท้าย
คนทำหนังจากจีนแผ่นดินใหญ่อย่าง ‘เจียงเหวิน’ ดูเหมือนแง่มุมการมองโลกในแง่ร้ายยังคงติดตัวเขามาถึงดินแดนตะวันตก การมองเห็นคนแปลกหน้าเป็นศัตรูมากกว่ามิตรเมื่อแรกพบ ก่อนจะคลี่คลายไปสู่ความสัมพันธ์อันดีเมื่อได้ทำความรู้จักกัน แต่ก็ถูกโชคชะตาเล่นตลกในนาทีสุดท้าย เหมือนกับอารมณ์ตลกร้ายที่เห็นใน “Devil at the Door Steps” ผลงานสร้างชื่อของเขา ก็มีปรากฏในตอนแรกของ “New York, I Love You” ด้วย จากการเชือดเฉือนกันระหว่างสองมิจฉาชีพตัวเอ้ ต่างรุ่น ต่างวัย โดยมีสาวรุ่นแสนสวยเป็นเดิมพัน หนังรักตอนนี้ อาจจะโรแมนติกน้อยไปหน่อย แต่กลับสนุกตรงที่สองนักแซงก์หักเหลี่ยมเฉือนคมชนิดที่ไม่มีใครยอมใคร แม้ลงท้ายฝ่ายหนึ่งจะปราชัย แต่ก็ได้สิ่งที่หมายปองไปครอบครองในที่สุด
คนทำหนังในโลกตะวันออกถือว่าเป็นผู้กำกับที่ละเอียดอ่อน ละเมียดละไมกับอารมณ์ ความรู้สึก ไม่แพ้คนทำหนังชาติไหนๆ โดยเฉพาะกับผู้กำกับจากแดนอาทิตย์อุทัยที่ชื่อ ‘ชุนจิ อิวาอิ’ ใน “New York, I Love You” เรื่องนี้ เขาบอกเล่าความงดงามของความรักในแบบ ‘นัดบอด’ ของหนุ่มสาวคู่หนึ่ง ที่แม้ไม่เคยพบเจอกันมาก่อน แต่ทั้งคู่กลับสื่อสารความรู้สึกต่อกันผ่านงานศิลปะอย่างวรรณกรรม ดนตรี ด้วยเรื่องราวของคอมโพสเซอร์หนุ่มที่หมกมุ่นอยู่กับงานแต่งเพลงประกอบหนังการ์ตูน โดยมีสาวเจ้าที่เขาไม่เคยเห็นหน้าค่าตามาก่อนคอยให้คำปรึกษาและกำลังใจทางโทรศัพท์และอีเมล หนังตอนนี้นอกจากบอกเล่าประเด็นร่วมสมัยซึ่งว่าด้วยโลกเทคโนโลยี ที่ตัดขาดการสื่อสารระหว่างผู้คนแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นคุณค่าของความรัก ที่สุดท้ายแล้ว ยังคงสำคัญและยิ่งใหญ่กว่าเทคโนโลยีเสมอ โดยเฉพาะอารมณ์ถวิลหาที่เทคโนโลยีไม่สามารถช่วยบรรเทาเบาบางลงได้
จิตวิญญาณตะวันออกนั้น เป็นเหมือนศาสตร์ที่พยายามนำพาผู้คนให้รู้จักความลึกซึ้งในก้นบึ้งจิตใจมนุษย์ที่ไม่อาจหยั่งถึง เช่นเดียวกับความรู้สึกชั่วขณะของหนุ่มใหญ่ชาวฮินดีที่นับถือนิกายเซน และสาวยิวผู้เคร่งครัดที่กำลังเตรียมตัวเป็นเจ้าสาวในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า ภาวะสับสนในใจก่อนวันแต่งงาน กลายเป็นอารมณ์ชั่ววูบที่เกือบนำเธอก้าวข้ามเส้นศีลธรรม แม้จะเป็นแค่ห้วงมโนสำนึก แต่ก็ทำให้เธอได้พบกับช่วงเวลาดีๆ ในชีวิต ถึงจะเป็นระยะเวลาสั้นๆ ก็ตาม นี่คือตอนหนึ่งจากผลงานกำกับของ ‘มิร่า แนร์’ คนทำหนังจากแดนภารตที่มีเอกลักษณ์ประจำตัวคือการตามหาความหมายในชีวิต ท่ามกลางความอลหม่านที่เกิดขึ้นรายล้อมตัวละครของเธอ (งานที่คล้ายคลึงกับหนังตอนนี้ของ ‘มิร่า แนร์’ คือ “Monsoon Wedding” โดยเฉพาะในฉากงานเลี้ยงพิธีวิวาห์)
หลายๆ ตอนใน “New York, I Love You” ไม่เพียงนำเสนอด้วยลีลาชวนฝัน หากแต่ยังแทรกสอดอารมณ์ขัน ในแบบหนุ่มจีบสาว สาวจีบหนุ่ม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของหนุ่มน้อยที่พบรักกับสาวนั่งรถเข็นวีลแชร์ หรือนักเขียนหนุ่มที่พยายามพูดจาภาษากวีเพื่อเกี้ยวพาราสีสาวเอเชียทรงเสน่ห์ และไม่เพียงพูดถึงเรื่องราวของ ‘รักแรกพบ’ เท่านั้น “New York, I Love You” ยังข้ามไปพูดถึง ‘ชีวิตคู่’ ทั้งที่กำลังจะเริ่มต้น เข้าสู่ช่วงเวลาร้าวราน และผ่านการเดินทางมายาวนานจนก้าวเข้าสู่คำว่า ‘นิรันดร’ โดยเฉพาะความรักของปู่-ย่า ที่ความผูกพันของทั้งคู่เป็นมากกว่า ‘ความรัก’ หากแต่ทั้งสองเป็นเสมือนส่วนหนึ่งในชีวิตของกันและกันมากกว่า โดยความประทับใจที่เกิดขึ้นในหนังเรื่องนี้ ยังมาจากตอนหนึ่งของเรื่องราวความรักระหว่างเด็กหญิงตัวน้อย กับชายหนุ่มผิวสี ที่ความแตกต่างระหว่างสีผิวไม่อาจแยกความรักความผูกพันที่ทั้งคู่มีต่อกันได้ เป็นสองเรื่องสุดท้ายที่คนดูต้องน้ำตาซึมด้วยความซาบซึ้งใจ...และไม่ว่า ‘นิวยอร์ก’ หรือมหานครไหนๆ ก็ไม่เคยมีพื้นที่กว้างใหญ่ ไปกว่าความรักในใจผู้คนแม้สักตารางนิ้ว
ชื่อเรื่อง : New York, I Love You
ผู้เขียนบท : ฟาติห์ อาคิน, คีแนน โดนาฮิว, นาตาลี พอร์ทแมน, แอนโทนี่ มิงเกลล่า, โจชัวร์ มาร์สตัน, เจฟฟ์ นาธานสัน, โอลิเวียร์ เลอคอท, สตีเฟ่น วินเตอร์
ผู้กำกับ : เจียงเหวิน, มิร่า แนร์, ชุนจิ อิวาอิ, อีวอง อัตตัล, เบรท แรทเนอร์, อัลเลน ฮิวจ์ส, เชคการ์ คาร์ปูร์, นาตาลี พอร์ทแมน, ฟาติห์ อาคิน, โจชัว มาร์สตัน, แรนดี้ บัลส์เมเยอร์
นักแสดง : เฮย์เดน คริสเตนเซ่น, แบรดลี่ย์ คูเปอร์, แอนดี้ การ์เซีย, นาตาลี พอร์ทแมน, ออร์แลนโด้ บลูม, คริสติน่า ริคชี่, แมกกี้ คิว, อีธาน ฮอว์ค, แอนตัน เยลซิน, เจมส์ คาน, จูลี่ คริสตี้, ไชอา ลาเบิฟ, ซูฉี, โรบิน ไรท์ เพนน์, คริส คูเปอร์, จอห์น เฮิร์ต
ความยาว : 110 นาที
วันที่เข้าฉาย : 15 ตุลาคม 2552
โรงภาพยนตร์เครือ เอเพ็กซ์ สยามสแควร์, เอสเอฟเอ็กซ์ เซ็นทรัลเวิลด์, เอ็มโพเรี่ยม
"ณัฐพงษ์ โอฆะพนม"