
รู้ทันกฎหมาย - ลาพักร้อน
กว่าจะได้งานหรือกว่าจะมั่นคงทางการงานก็ต้องการทั้งเวลาและอุตสาหะ และจะต้องพัฒนาหรืออย่างน้อยก็รักษาคุณภาพของตัวเองเอาไว้เพื่อจะได้ไม่ก้าวหน้าหรือว่าตกงาน
แต่การทำงานมันก็ต้องจัดสรรให้ดี ไม่ใช่มีแต่ทำงาน มันต้องมีการพักผ่อนบ้าง ดังนั้นกฎหมายจึงกำหนดบังคับเอาไว้ ให้เจ้านายต้องอนุญาตให้ลูกจ้างลาพักได้ ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด
การลาพักจะร้อนหรือหนาวเขาก็ให้ลาได้ โดยกฎหมายถือเป็น “สิทธิ” ที่จะหยุดทำงานได้เพื่อพักผ่อนเรียกเป็นทางการว่า “วันหยุดพักผ่อนประจำปี” ซึ่งจะใช้สิทธิได้ก็ต้องมีการล่ำลากันไว้เป็นกิจจะลักษณะ จะหายหน้าไปเพราะอยากใช้สิทธิตามใจไม่ได้
ก่อนอื่นต้องรู้ไว้ว่ากฎหมายบังคับให้ลูกจ้างที่ทำงานมาครบหนึ่งปีจึงจะมีสิทธิหยุดพักผ่อนได้ไม่น้อยกว่า 6 วันทำงาน การหยุดอย่างนี้ก็คือการลาหยุดนั่นแหละ และเป็นการลาหยุดเพื่อพักผ่อน ไม่ใช่ลาไปพักเพราะเจ็บไข้ได้ป่วย หรือลาเพราะถูกเกณฑ์ทหาร หรือลาไปคลอดไปทำหมัน
ไม่จำเป็นต้องลากัน 6 วันรวด สามารถทยอยลาได้ แต่ต้องเป็นที่เข้าใจและตกลงกันระหว่างเจ้านายและลูกน้องสอดคล้องกัน ไม่เช่นนั้นอาจมีปรากฏการณ์พร้อมใจกันลาขนานใหญ่จนไม่มีใครมาทำงานกันพอดี
หลายคนวางแผนการลาให้สอดคล้องกับวันหยุดเทอมของลูก บางคนก็กำหนดให้ตรงกับวันหยุดยาวหรือเลือกลาหน้าหนาวขึ้นเหนือ หรือหน้าร้อนไปทะเล
นายจ้างที่ไหนเขาอยากจะให้ลูกน้องลาได้หมดสำนักงาน ดังนั้น ในหนึ่งปีที่กำหนดให้ลาได้ไม่น้อยกว่า 6 วัน แต่จะเป็นวันไหนอย่างไร กฎหมายบอกว่าให้นายจ้างเป็นผู้กำหนดให้ไว้ล่วงหน้า หรือว่าจะตกลงกันระหว่างเจ้านายลูกน้องว่าจะให้เป็นวันไหนสำหรับใคร
ขั้นตอนหรือกระบวนการลาก็ให้เป็นไปตามกฎระเบียบของนายจ้าง หากไม่มีการกำหนดเอาไว้ล่วงหน้า ถึงเวลาลูกจ้างอยากลาก็ทำตามระเบียบยื่นเรื่องเข้ามา และแม้กฎหมายจะกำหนดบังคับไว้ให้หยุดได้ แต่ก็ใช่ว่าต้องอนุญาตให้ลาได้ตามที่ขอมา เพราะว่าต้องตกลงด้วยกันทั้งสองฝ่าย
กฎหมายใช้คำว่าไม่น้อยกว่า 6 วันทำงาน ดังนั้นอาจให้มากกว่าได้ จะให้เท่าไหร่ต้องกำหนดลงไปในข้อบังคับจะนับวันตามใจไม่ได้
นอกจากนี้ยังอาจมีข้อบังคับให้นับสะสมวันลาพักผ่อนกันได้ เจ้านายอาจเห็นใจลูกจ้างว่าคนบ้างานกันมากนักจนไม่ค่อยจะลาพักกัน ก็อาจกำหนดลงไปให้สะสมวันลาในแต่ละปีไปรวมไว้ในปีถัดไปได้ ขึ้นอยู่กับนายจ้างว่าจะกำหนดให้สะสมได้หรือไม่
หรืออาจเห็นว่า แม้จะทำงานมาไม่ถึงปีก็มีสิทธิหยุดพักผ่อนได้ก็ทำได้ เพราะเป็นการให้ประโยชน์แก่ลูกจ้างผู้น้อย ไม่ว่าจะเป็นการให้หยุดได้กี่วันก็ตามที หรืออาจใช้วิธีคำนวณวันหยุดให้ตามส่วน เช่น ทำงานมา 6 เดือนก็ให้ลาได้ 3 วันทำงาน เป็นต้น
อะไรที่ให้แล้วนึกอยากจะเปลี่ยนแปลงงดหรือลดไปตามแต่เจ้านายอยากจะทำไม่ได้ ลูกจ้างยินยอมด้วย เพราะการแก้ไขให้ลูกจ้างได้สิทธิประโยชน์ด้อยลงไปทำไม่ได้หากลูกจ้างไม่ตกลงโอเค
อีกอย่างที่อาจไม่ทันคิดก็คือ หากเป็นการเลิกจ้างแล้วต้องจ่ายค่าดชดเชยเมื่อไหร่ เจ้านายยังต้องจ่ายเงินค่าจ้างให้สำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ไม่ได้ใช้ ยิ่งไปกว่านั้น การเลิกจ้างในทุกกรณีนายจ้างยังมีหน้าที่จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมที่ให้ลูกจ้างอีกด้วย
งานนี้นายจ้างต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมาย มีความจำเป็นต้องจ่ายแม้จะจำใจก็ตาม
"ศรัณยา ไชยสุต"