
'ตั๊ก-บงกช' ทุ่มหมดใจหวังมากกว่ารางวัล
คุยกับ“ตั๊ก"บงกช กับหนังเรื่องที่2 “sad beautyเพื่อนฉันฝันสลาย” หนังรักเพื่อเพื่อน ที่อยากได้มากกว่ากล่อง
เข้าโรงภาพยนตร์เป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับภาพยนตร์เรื่อง “sad beautyเพื่อนฉันฝันสลาย” ผลงานการกำกับภาพยนตร์เรื่องที่ 2 ของ “ตั๊ก" บงกช เบญจรงคกุล ผลงานสร้างของ Point up Filme (พ้อยท์ อัพ ฟิล์ม) โดยตั๊กได้นำเรื่องราวในชีวิตของเพื่อนสนิทมาสร้างเป็นหนังตามคำสัญญาที่ให้ไว้กั่บเพื่อน วันนี้คมชัดลึก ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้กำกับคนเก่ง ซึ่งได้ถ่ายทอดถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ไว้ว่า
@ จุดเริ่มต้นของเรื่องภาพยนตร์เรื่องนี้มาจากไหน
“จริงๆ ตั๊กตั้งใจจะเล่าเรื่องนี้ตั้งนานแล้วก่อนที่ตั๊กจะแต่งงานด้วยซ้ำ บทเรื่องนี้เขียนเสร็จแล้วตั้งแต่ 8 ปีก่อน แต่พอดำเนินเรื่องมาสักพัก ก็รู้สึกว่า ขั้นตอนของการทำงานสร้างภาพยนตร์ ต้องดูแนวของแต่ละปี ว่าคนดูของแต่ละปี มันเป็นแบบไหน ต้องการอะไร และอยากจะสนใจแนวไหน ภาพยนตร์ของโลกมันไปถึงไหนกันแล้ว ตั๊กก็อยากให้มีภาพยนตร์แนวใหม่ๆมาบ้างก็เลยกลับมาตั้งดูจุดพีค จุดชะลอ และไปถึงจุดจบของเรื่อง แล้วก็เริ่มเปลี่ยนเนื้อเรื่อ งแต่ก็ยังคงคอนเซ็ปต์พื้นฐานความเป็นเนื้อเรื่องเก่าอยู่เพื่อให้เข้ายุคเข้าสมัยมากขึ้น ส่วนชื่อเรื่องแต่เดิมเราตั้งชื่อว่า “ความรักอีกความรู้สึก (emotion love)" ทีนี้พอวันเวลามันเปลี่ยนไป ความเศร้าของบทมันเยอะขึ้น แล้วชื่อหนังก็มาลงตัวที่ “sad beautyเพื่อนฉันฝันสลาย”
(ตั๊ก บงกช)
@ เห็นว่าพล็อตเรื่องนำมาจากเรื่องจริงด้วย
“แรงบันดาลใจมาจากเรื่องเพื่อน เพื่อนที่ตั๊กมีความรู้สึกดีกับเขา ซึ่งเรื่องนี้เป็นหนังเพื่อนจริงๆ เพื่อนผู้หญิง ไม่ใช่ หนังความรักที่เปลี่ยนความรู้สึกอะไร เป็นหนังของเพื่อน ทุกคนมีเพื่อนผู้หญิง เพื่อนที่คุยกันได้ทุกเรื่อง ไม่ใช่หนังความรักความรู้สึกที่เปลี่ยนเพศ มันไม่ใช่ เป็นเพื่อนผู้หญิงที่เป็นเพื่อนจริงๆ แล้วก็สนิทกัน เป็นเรื่องจริงที่ตั๊กมีเพื่อน แล้วเขาก็เสียไป เสียไปตอนอายุ23ปี แล้วหลังจากนั้นตั๊กก็ไม่เคยเจอเพื่อนที่เฟรนด์ลี่เหมือนเขาอีกเลย”
@ แสดงว่ามันจะมีในมุมของความรักและดราม่าที่อยู่ในนั้น
“มันเศร้าตรงที่ว่า เขาทำทุกอย่างให้เราได้หมด ไม่ว่าจะเป็นปกป้องเรา ปกป้องแม่เรา ชี้ทางให้เราไปในทางที่สว่างขึ้น เพราะตอนเด็กๆตั๊กจะเป็นคนที่ซน อาจจะมีเกเร มีคิดนอกกรอบ อยากจะสุดเหวี่ยงสุดขอบ ไม่ค่อยมีกฎเกณท์ในเรื่องของความรู้สึกและการกระทำและการใช้ชีวิต เพราะตั๊กรู้สึกว่า เมื่อไหร่ลองมองย้อนกลับไปตอนที่เราอายุ18-19ปี หรือถึง20ปี ตอนนี้นั้นอายุ33แล้ว พอมองย้อนกลับไปช่วงนั้น ถ้าไม่ได้เพื่อนคนนี้ ตั๊กก็คงจะไม่มีวันนี้ มีมุมที่จะไปทางที่แย่เหมือนกันค่ะ แล้วสุดท้ายเขาก็จากตั๊กไป เขาเคยพูดไว้แล้วว่า ถ้าไม่มีเขาตั๊กก็ไม่มีคนไว้คอยปรึกษาหรอกตอนที่โกรธกัน”
@ หนังเรื่องนี้ดูยากไหม คิดว่าคนดูหนังจะได้อะไรจากหนังเรื่องนี้
“ไม่อยาก หนังตั๊กผู้หญิงดูก็จะเข้าใจเลย เพราะ ทุกคนมีเพื่อน เพียงแต่ว่าทุกคนอาจจะไม่เข้าใจตรงที่ว่า เวลาที่เราเสียเพื่อนคนหนึ่งไปแล้ว แล้วคุยกับเพื่อนไม่ได้แล้วแล้วไม่สามารถที่จะติดต่อกับเขาได้แล้ว สิ่งนั้นบางคนอาจจะยังไม่เคยเจอเหมือนตั๊ก เพราะเขาอาจจะมีบุญมากกว่าตั๊ก คือ เขามีเพื่อนไม่ต้องเสียเพื่อน แต่ตั๊กกลับมองว่า ถ้าใครยังไม่เคยเสียเพื่อน เขาอาจจะไม่เข้าใจความรู้สึกนั้น ซึ่งอันนี้จะเล่ายังไงให้คนดูเข้าใจตามอารมณ์ และรู้สึกเหมือนตั๊กขนาดนั้น ตั๊กว่ามันยาก แต่มันก็ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะว่าเรารู้ว่าทั้งหมดมันจะเป็นหนัง ถ้าจะเล่าแบบนั้นอาจจะเหงาไปมั้ย เศร้าไปมั้ย เลยมีการปรับบทเพิ่มเติมเรื่องของการผจญภัยเข้าไป เติมสิ่งที่คนดูน่าจะชอบ ดูแล้วรู้สึกแบบดูสนุกขึ้น เช่นการเดินทาง ,มีฆาตกรรม ซึ่งความเป็นภาพยนตร์มันก็ต้องมีจุดพีค พอจุดพีคเสร็จก็ต้องมีหักมุมนิดหนึ่งเพื่อให้คนดูรู้สึกเซอร์ไพรส์ ซึ่งอันนี้ตั๊กรู้สึกว่าหักมุมอยู่แล้ว ถ้าใครได้เห็นจากตัวอย่างก็จะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น ก่อนที่เพื่อนจะเสียชีวิต ก่อนที่เขาจะเข้าห้องผ่าตัด เขาพูดกับตั๊กว่า ยังไงเพลงก็ต้องตาย ก็บอกว่า ถ้าคิดอย่างนี้คุณก็ตายสิ ทำไมคุณไม่คิดให้มันบวกอ่ะ เขาก็บอกว่ายอมรับความจริงได้แล้ว ยังไงเขาก็ต้องตาย ตั๊กก็เลยคิดว่าเขาท้อ แต่สิ่งหนึ่งที่ตั๊กรู้สึกว่าเขาเข้มแข็ง เขายอมรับความตายได้ เขาเคยพูดว่า ถ้าไม่ตื่นขึ้นมาเจอหน้ากันอีกตั๊กยังโอเคใช่มั้ย จะยังเป็นเพื่อนกันอยู่มั้ย แล้วตั๊กจะยังเป็นเพื่อนกับเราคนเดียวรึเปล่า ซึ่งตอนนั้นตั๊กรู้สึกว่าเขาพูด เพราะเขาได้รับมอร์ฟีนเยอะ เลยรู้สึกว่าฉีดมอร์ฟีนเยอะมากไปแก ไม่ มันไม่ใช่ แต่แล้วเขาก็ไม่ตื่นจริงๆ ชีพจรเต้นแต่ไม่ตื่น จากตรงนั้นมันเริ่มจุก จริงเหรอที่เพลงพูดว่าจะไม่ตื่นแล้ว แต่ก็ยังเป็นเพื่อนกับเพลงต่อไป”
@ ตั้งแต่เริ่มโปรเจกต์มาจนถึงวันนี้ ใช้เวลานานมั้ย
“เริ่มโปรเจกต์ตั้งแต่แม่ตั๊ก ยังไม่ป่วยเลย ก็มีป่วยแบบเล็กๆ น้อยมาบ้าง แม่เป็นคนร่างกายอ่อนแออยู่แล้ว ตั๊กก็เห็นแม่รักษามาตลอด จากที่เพื่อนตาย ก็มามีแม่เสียอีกเนอะ พอแม่เสียปุ๊บ โอ้โห.. แต่ก่อนแม่จะเสียตั๊กก็เริ่มโปรเจกต์นี้แล้ว คือ เมื่อไหร่ที่เริ่มภาพยนตร์แล้ว การถอยมันจะยากละ เพราะว่าจุดเริ่มต้นของภาพยนตร์ ก็คือ เงินเน๊าะ แล้วก็ไหนจะทีมและส่วนอื่นๆด้วย ตั๊กจะบอกเขาเหรอ อ๋อ…แม่ป่วย ยกเลิก งานมันดำเนินไปกลางเรื่องแล้วมันเลยต้อง ทำไปเรื่อยๆด้วยความรู้สึกที่แบบเศร้าจริงๆ ตั๊กเลยรู้สึกว่าชื่อนี้เหมาะกับภาพยนตร์เรื่องนี้มาก ทั้งคนทำและคนเล่น คือ คนเล่นเขาก็อิน ด้วยเนื้อเรื่องมันก็เศร้าจริงๆ ไหนจะแม่ป่วยอีก เขียนบทอีก บางทีแก้ไขสถานการณ์บทภาพยนตร์ก็นอนคุยใกล้ๆแม่เลย แม่นอนเตียงป่วย ตั๊กก็นอนแก้ปัญหาไป แม่ก็ฟังไป”
@ คาดหวังให้คนดูได้อะไรจากหนังเรื่องนี้มั้ย
“ตั๊กไม่มีกรอบเลย ว่าให้คนดูต้องคิดอะไร ตั๊กอยากให้ทุกคนรู้จักหนังเรื่องนี้ แล้วอยากให้ดูสิ่งที่ตั๊กอยากจะเล่า ตั๊กอยากให้เขาได้ดู เพราะทั้งเนื้อเรื่องก็มาจากชีวิตจริงๆ และเงินทุนมาจากเงินก้นถุงของตั๊กเรื่องนี้ เพื่อจะดำเนินต่อชีวิตตั๊กในภาพยนตร์เรื่องต่อๆ ไปในปีหน้า ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ว่าจะออกมารูปแบบไหนทางใด ก็ทางหนึ่ง ก็คงจะมีผลกับ ภาพยนตร์เรื่องต่อไปของตั๊กในอนาคตอย่างแน่นอน สิ่งหนึ่งก็คือ ไม่ว่าหนังจะไปทางไหน ตั๊กอยากให้คนได้ไปลองดู ลองตัดสินใจ แล้วก็ให้เข้าได้สนุกกับภาพยนตร์คนดูจะรู้สึกอะไรก็ให้รู้สึกเลย ปล่อยมันออกมาเลย หรือบางคนเคยเจอแบบตั๊กแล้วก็ได้เพียงแต่ว่า ตั๊กอยากให้ทุกคนคิดไว้ว่าอย่าประหม่ากับชีวิต เพราะคงไม่มีใครเคยคิดหรอกว่า จะเสียเพื่อน หรือเพื่อนเสียชีวิตตอนอายุยังน้อย”
@ ทุนสร้างของเรื่องนี้ประมาณกี่หลัก
“เรื่องเงินค่อนข้างจะยากนิดหนึ่ง ก็มีประปราย ก็ไม่สามารถบอกเค้าได้เลยว่ากี่หลัก เพราะว่ามันค่อยๆทยอยๆออกไป แต่ว่าพยายามคุมงบให้ได้มากที่สุดค่ะ จะบอกว่าอินดี้ก็ใช่ แต่เราก็ไม่ได้ทำให้มันดูยาก มันก็เป็นเรื่องเล่าที่เป็นภาพของภาพยนตร์ค่ะ คือตั๊กอยู่กับเขาก่อนที่เพื่อนจะเสีย ก็เลยเห็นความใกล้ตายของมนุษย์ และความเปลี่ยนแปลงของผู้หญิงคนหนึ่งที่ผิวสดใสแล้วค่อยๆเปลี่ยนไป ผมร่วง รวบผมปุ๊บผมติดมือมาเป็นกระจุก พอเขาไม่ค่อยมีผมก็ค่อยๆโกน แล้วก็มีตัวอย่างจากที่เห็นแม่ด้วย คือมนุษย์ ทุกคนพอได้เห็นตรงนี้ก็รู้สึกว่ามันแฝงความเป็นธรรมะเข้าไปด้วย ธรรมะที่ว่านี้มันไม่ได้เชยอะไรนะ แต่มันแฝงเรื่องของสังขาลในความไม่เที่ยง คือต้องไม่มีชีวิตอยู่อย่างประมาท วันนี้ต้องไปทำอะไร ยังไง แต่ลืมคิดไปว่า วันนี้จะตายรึเปล่า พรุ่งนี้จะลืมตาขึ้นมามั้ย หรือจะหลับไปเลย เหมือนที่วันหนึงแม่ตั๊กก็ล้มลง ป่วยอยู่ไม่นานก็เสีย วันหนึงเพื่อนตั๊กก็เป็นมะเร็ง ป่วยอยู่ไม่นานก็เสีย”
@ นักแสดง ละทำไมต้องเป็น“ฟลอเรนซ์”แล้วก็“แอม”
“ที่ต้องเป็นฟลอเรนซ์เพราะว่าตั๊กเป็นเพื่อนกับฟลอเรนซ์มานาน ตั๊กชอบความเป็นไทยและมีความเป็นฝรั่ง ซึ่งในอดีตแล้วตอนเด็กๆ ตั๊กชอบฮิพฮอพมาก ตั๊กมีความเป็นฝรั่งและมีความเป็นไทยอยู่ในตัวเพราะตั๊กเกิดจากภาพยนตร์ แต่ตั๊กก็ยังเดินสายฝรั่ง เพราะตั๊กเชื่อในความคิดฝรั่งว่าทุกคนต้องมีความอิสระเสรี แต่พอตอนที่เริ่มโต เด็กๆที่มีความคึกคะนองอยู่ ก็รู้สึกว่าเราต้องมีความเป็นตัวของตัวเองอยู่ให้มากที่สุด โดยที่ไม่ต้องสนใจสังคม แค่ไปกองถ่ายตรงเวลา ทำงานเยอะ หาเงินเพื่อเป็นหัวหน้าครอบครัวแค่นี้ก็พอแล้ว แต่เรื่องส่วนตัวของเราๆ ขอเป็นอิสระได้มั้ย อย่างเรื่องครอบครัวที่เข้ามา แม่ชอบพูดอยู่ตลอดเวลาว่าชอบทำตัวเป็นฝรั่ง คือคนไทยก็ต้องฟังแม่ฟังพ่อ คนไทยต้องมีกรอบ ทำอะไรก็ต้องมองซ้ายมองขวานิดหนึง ว่าเขาต้องทำยังไง ไม่ใช่ว่าอยากจะทำอะไรก็ทำ คือตั๊ก คนทำงาน ตอนเขียนบทนี่นึกถึงหน้า ฟลอเรนซ์ขึ้นมาเลย เพราะเขามีแววตาที่เขากล้าที่จะทำอะไรก็ได้ ตั๊กแคสตัวหลายตัวมากนะคะ ก่อนที่ตั๊กจะตัดสินใจ เพราะฟลอเรนซ์ค่าตัวสูงมากคือ ครึ่งหนึงของงบตั๊ก นะก็หาคนมาแคสเยอะมาก แต่จะเสียน้อยหรือเสียมากล่ะ เอายังไง หรือยิ่งทำแล้วเหมือนไม่มีใครมาจุดประกายเลย ผู้กำกับก็ต้องการคนมาจุดประกาย เวลากำกับก็ต้องการคนจุดประกาย อยากให้นักแสดงจุดประกาย ยิ่งกำกับต้องยิ่งสนุก ไม่ใช่ยิ่งกำกับยิ่งรู้สึกท้อ ยิ่งเหนื่อย ไม่อยากไปกอง เลยอยากได้นักแสดงที่จุดประกายให้มีไฟงในการทำงานมากขึ้น ก็เลยตัดสินใจมาลงตัวที่ฟลอเรนซ์ก็คุยกันนาน และหลายๆ เรื่องจนได้ทำงานกัน เขาก็เต็มที่นะ เขาบอกว่า ไอเล่นเต็มที่นะ แล้วความเป็นเพื่อนกันเขาก็ลดค่าตัวให้แล้ว ซึ่งตั๊กก็ต้องพูดเรื่องตรงนี้เพราะภาพยนตร์มันมีเรื่องของเงินเข้ามา แต่ถ้าจะเฟคไม่พูดเรื่องเงินเลยมันเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าเมืองไทยมันค่อนข้างมีปัญหาอยู่แล้วเรื่องภาพยนตร์ ที่ทำให้เป็นหนี้เป็นสินเยอะ ซึ่งตั๊กก็ไม่อยากเป็นหนี้ไง เลยต้องคุมตรงนี้ให้ได้ ตั๊กเลยตัดสินใจและมีพูดคุยกบเขาเลยว่า มี3ข้อที่ต้องยอมรับในตัวหนู ทำได้มั้ย ฟลอเรนซ์เชื่อในตัวตั๊กมั้ย แรกๆ เขาก็มีคำถามนะว่าทำไมต้องมีอันนี้ แบบนี้ ทำไมไดอาล็อคเป็นแบบนี้ ทำไมต้องมีฉากนี้ ก็อธิบายให้เขาฟัง แต่มีสิ่งหนึ่งที่ตั๊กพูดกับเขาคือ ไม่ต้องกลัวหรอกคือยังไงภาพยนตร์เรื่องนี้ออกไปแล้ว ไม่ดีหรือดียังไง คนที่จะเสียคือตั๊ก แต่คนที่จะเสียตามมาคือ ทำไมยู ถึงตัดสินใจเล่น ถ้าเกิดรู้ว่ามันไม่ดี ทำไมไม่ไตร่ตรองดูให้ดีก่อนก็ได้ถ้าไม่ชอบตั๊กก็ไม่บังคับ เขาก็ไปจัดการของเขา”
@ แล้วพอได้ทำงานด้วยกันเป็นยังไงบ้าง
“สนุกมาก เขาเป็นนักแสดงที่ตั๊กรู้แล้วว่าทำไมถึงทำงานกับต่างประเทศได้ เขาไม่จำเป็นต้องมีความสวยเลย ไม่ต้องแต่งหน้าก็ได้ คือเขาสวยอยู่แล้ว คือตั๊กไม่ชอบการแต่งหน้าในภาพยนตร์เพราะว่ากล้องเวลาถ่ายใกล้ แล้วจอหนังจอใหญ่ บางสิ่งที่จะเล่ามันไม่ใช่หนังแนวสวยที่ต้องแต่งอะไรมาก แล้วเขาก็ยอมรับในตรงนี้ได้ และอีกอย่างคือเขามีความบ้านิดๆเหมือนตั๊ก คือถ้าตัดสินใจทำแล้วมันต้องสุด เขาก็ตั้งใจทำมาก ตั๊กก็เลยดีใจที่เลือกนักแสดงไม่ผิด ตั๊กก็บอกกับโปรดิวเวอร์นะว่าทำไมต้องเป็นฟลอเรนซ์ ซึ่งบางคนก็ไม่โอเคไม่พอใจ บางคนก็มีคำถามเยอะ แต่ตั๊กก็บอกว่าต้องเป็นฟลอเรนซ์”
@ ตั้งแต่ตอนเป็นนักแสดงภาพยนตร์เรื่องแรก“บางระจัน”จนถึงตอนนี้ ทัศนะคติ ชีวิตการทำงานเปลี่ยนไปยังไงบ้าง
“ก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เลย พัฒนาขึ้นนะไม่ได้แย่ลง แต่ถามว่ากลับไปสู่จุดเดิมบ้างมั้ย บางครั้งที่รู้สึกว่า จุดเดิมบางครั้งดีๆ ก็ยังมีอยู่ แก้ไปเอาตรงนั้นมา แต่อะไรที่มันแย่ๆ ก็อย่านำมาใส่ใจ ให้ทิ้งไป การมองโลกในแง่ลบด้วยก็ต้องทิ้งไป มีความพยายามมากขึ้น ที่จะทำออกมาให้ได้ ความสำเร็จไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน ก็พยายามใช้เวลากับมัน ใช้สติให้มากขึ้น ด้วยความที่เป็นแม่คนแล้ว เป็นลูกคนแล้ว ดังนั้นความรับผิดชอบในตัวแม่ ที่เป็นเราก็มีมากขึ้น ตั้งแต่แม่ยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และต้องดูแลลูกด้วย คือทุกอย่างเลยค่ะที่เปลี่ยนชีวิตตั๊กมากขึ้น ถ้ามองในมุมบวกนะ ไม่มองในมุมที่แม่ป่วยนะ ทุกอย่างมันสอนให้โตขึ้น”
@ นักแสดงในเรื่องนี้เป็นคนเลือกเองเลยมั้ย
“ตั๊กเลือกนักแสดงเอง เพราะว่าตั๊กอยากให้มีแรงผลักดันในการกำกับค่ะ เพื่อจะจุดประกายการทำงานของตั๊กที่จะลุกในแต่ละวันในการตื่นเช้า เพราะว่าการทำภาพยนตร์มันจะมีปัญหาที่เข้ามาเยอะ คือไม่ว่างานไหนก็มีปัญหานะ แต่ว่าถ้าเราเลือกนักแสดง เลือกทีมที่ทำให้เรารู้สึกว่า เราอยากตื่นไปทำงาน มันจะทำให้เรามีความกระตือรือล้นหรือว่าตื่นไปทำงานแล้วจุดประกายเรา ให้ยิ่งทำแล้วยิ่งมีความสุข”
@ ในเรื่องต้องทำการบ้านหนักกว่าเรื่องก่อนๆมั้ย
“ทำหนักมากค่ะ หนักจนปลายประสาทอักเสบเลยนะ กินกาแฟเยอะ จนไม่ได้นอนคะ พยายามดูทุกอย่าง ปรึกษาพี่ๆ ในวงการด้วย แล้วก็ปรึกษาพี่ๆ ผู้กำกับที่เคยเป็นนักแสดง ถามในสิ่งที่อยากจะรู้ดูหมดเลย แล้วก็ปรึกษาพวกพี่ๆ ในวงการภาพยนตร์ด้วย ก็นำประสบการณ์ที่เป็นนักแสดงมาใช้ ว่าเวลาที่ป็นนักแสดงรู้สึกยังไง แต่ว่าถ้า ไม่กดดันนักแสดงเลย คือ ตั๊กเชื่อว่าความกดดันใช้ได้ระดับหนึ่ง แต่นักแสดงและคนที่ร่วมงานจะเกลียดมั้ย อันนี้ก็ต้องบอกไว้ก่อนว่าอย่าเกลียดพี่นะ เพราะว่าพี่ต้องกดดันน้องหน่อย เพราะน้องต้องดึงอารมณ์ออกมาให้ได้ บางทีตั๊กยังบอกฟลอเรนซ์เลยว่า ยูเกลียดไอรึเปล่าวะ “วันนี้ยูโอเคมั้ย ทีนี้ก็ทะเลาะกัน ไม่เชิงหรอก เถียงกันมากกว่า แต่ดีนะคะ มันทำให้ตั๊กมองซ้ายมองขวามากขึ้น พี่ฟลอเรนซ์ เขาพูดคือ ตั๊กทำดีแล้วเหรอ สุดท้ายก็กลับมาที่จุดยืนตัวเองแล้วก็บอกว่า ไม่ต้องกลัวนะ ถ้าทำแบบนั้นไม่ดีอ่ะ หนูจะต้องเสียแทนพี่ เพราะยังไงมันก็ต้องดี ก็เหมือนคนละครึ่งทางกัน ก็ตั้งใจกันมาก ทุกคนช่วยตั๊กมากเลย การที่ได้นักแสดงดี หรือทีมงานดี ทุกคนทำให้ตั๊กเครียดน้อยลงค่ะ ซึ่งตอนนี้ก็ถ่ายทำเสร็จเรียบร้อยแล้วก็โล่งอกทุกอย่าง”
@ จะมีกำหนดฉายแล้วด้วยเดือนแห่งความรัก
“ต้องขอบคุณทางเอ็มพิคเจอร์ ที่ให้โอกาสตั๊กที่ได้ร่วมทำด้วยกัน ได้ร่วมถ่ายทอดความรู้สึกนี้ไปด้วยกัน ก็จะฉายในวันพหัสบดีที่8กุมภาพันธ์ คะ อยากให้มาลองดู“2ปี กับผลงานชิ้นนี้ก่อนที่แม่จะป่วยด้วย ค่อนข้างจะพิถีพิถันมากๆค่ะ ด้วยความที่อาจจะไม่พิถีพิถัน แต่ว่าหนังจะพาเราไป ให้เราพิถีพิถันด้วย ด้วยความเป็นภาพยนตร์เอง เพราะว่ามันจะมีความบีบคั้นที่ต้องมีความละเอียดอ่อน ตั๊กอยากให้คนเห็นคุณค่าของเพื่อนค่ะ คือเมื่อไหร่ที่ยังมีเพื่อนอยู่ แล้วเพื่อนคนนั้นเขาดีกับคุณ คุณไม่รู้ว่าควรจะมีเพื่อนมากหรือเพื่อนน้อย แต่ว่าควรให้อภัยกัน และต้องอยู่ด้วยกัน เหมือนตั๊กอ่านหนังสือเรื่องหนึงเขาบอกว่า ถ้าไปติดเกาะ แล้วต้องมีคนคุยด้วย ระหว่างที่ไปเจอทรัพย์สมบัติกับลิงตัวหนึ่ง ถ้าต้องลือก แล้วขอเลือกเพื่อนที่อยู่ร่วมโลกกันแล้ว ให้ความรู้สึกด้วยกัน ดีใจด้วยกัน หัวเราะด้วยกัน ซ่าด้วยกัน มีเพื่อนที่คุยกันแล้วรู้สึกสบายใจ แล้วก็อยากให้เห็นคุณค่าของการเป็นมนุษย์ ว่าทุกๆวันตื่นมาคุณยังมีชีวิตอยู่ แค่นี้ก็โอเคแล้ว และหนังเรื่องนี้ที่สร้างเพื่อเพื่อนตั๊กที่เสียไปแล้ว ตั๊กก็เลยคิดว่า ไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะยังอยู่มั้ย แต่ว่าถ้าเห็นคุณค่ากันทุกวัน รักกันทุกวัน ทะเลาะกันก็รีบดีกันดีกว่า”
เรื่อง : เสาวลักษณ์ ปึงทมวัฒนากูล
ช่างภาพ : วันชัย ไกรศรขจิต