
‘ปรัชญา’ ชี้แจง!! หนัง ‘ของขวัญ’ ถูกวิจารณ์ยับ (คลิป)
ปรัชญา ปิ่นแก้ว ชี้แจงหลัง นพ.กัมปนาท ตันสิถบุตรกุล ออกมาวิจารณ์ภาพยนตร์ “ของขวัญ” อย่างหนักหน่วง เชื่อเป็นการมองการนำเสนอคนละมุมกัน
ภาพยนตร์เรื่อง “ของขวัญ” โปรเจ็กต์ภาพยนตร์ที่เกิดจากการรวมตัวของ 4 ผู้กำกับแถวหน้าของประเทศ ได้แก่ "อุ๋ย" นนทรีย์ นิมิบุตร "ปรัชญา ปิ่นแก้ว“ ”โขม" ก้องเกียรติ โขมศิริ และ "มะเดี่ยว" ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ร่วมมือกันสร้างโดยนำคำสอนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ซึ่งประชาชนคนไทยน้อมนำมาใช้เป็นแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิตมาเป็นใจหลักในการสร้าง โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ ค่าย “สหมงคลฟิล์ม” เปิดให้คนไทยได้ดูกันฟรีๆ
แต่งานนี้ดูท่าจะไม่ได้สวยงามมากนัก เพราะล่าสุด นพ.กัมปนาท ตันสิถบุตรกุล จิตแพทย์ชื่อดังได้ออกมาวิจารณ์ภาพยนตร์เรื่องนี้ผ่านทางเฟสบุ๊ค Kampanart Tansithabudhkun โดยจั่วหัวว่า "ไปดูมาแล้วครับภาพยนตร์ฟรีของสหมงคลฟิล์มเรื่อง “ของขวัญ” ใครยังไม่เคยไปดูก็อยากให้ไปดูกันนะครับ... จะได้มาช่วยกันวิจารณ์ แต่ว่าถ้าเสียตังค์ก็อย่าไป พูดแบบนี้ก็คงรู้นะครับว่าเพราะอะไร...555..." ก่อนจะวิจารณ์ไล่ไปจนครบ 4 ตอน ซึ่งแต่ละตอนบอกได้คำเดียวว่าโดนจวกยับ และมีผู้เข้าไปแสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊คนี้อย่างมากมาย เมื่อ “บันเทิง คมชัดลึก” ได้มีโอกาสเจอกับ ปรัชญา ปิ่นแก้ว หนึ่งในผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง “ของขวัญ” ในรอบสื่อภาพยนตร์เรื่อง “ของขวัญ” ที่สยามพารากอน จึงถามถึงเรื่องนี้
“ผมว่าเป็นเรื่องปกติเพราะการทำภาพยนตร์ มันทำให้คนส่วนใหญ่ดู และคนทำต้องเปิดกว้างให้คนดูวิจารณ์ การวิพากษ์วิจารณ์ก็มีหลายแบบ บางคนกวิจารณ์แบบตามใจตัวเอง บางคนก็วิจารณ์แบบมีหลักการ ซึ่งของคุณหมอท่านนี้ผมมองว่าเขาก็มีหลักการของเขา มีความคิดเห็นของเขา ซึ่งเป็นข้อดีที่เขาวิจารณ์และกล้าพูดออกมาก ซึ่งผมก็ชื่นชม โดยที่ไม่มีใครวิจารณ์ได้เหมือนเขา นั่นแสดงว่าเขารู้สึกอย่างไรเขาก็พูดอย่างนั้นในมุมของเขา"
มีผลต่อจำนวนคนที่จะเข้าไปดูไหม
"มีผลแหละเพราะอาจจะมีคนที่ชอบบทวิจารณ์ของเขา แต่การที่เขาติก็อาจจะมีคนอยากพิสูจน์ว่าที่เขาวิจารณ์นั่นตรงไหม ถามว่ามีผลกระทบกับความรู้สึกของตัวเราในฐานะของคนทำหนังไหม คือผมเป็นคนทำหนังและเราก็ทำงานด้านนี้มีหลายปี เเราเจอคำวิจารณ์มาหลายรูปแบบ เราก็ต้องพร้อมเปิดรับทุกความคิดเห็นทั้งเชิงบวกเชิงลบ ส่วนใหญ่เราจะอ่านเพื่อดูเจตนาของคนวิจารณ์มากกว่า ถ้าวิจารณ์แบบไม่มีหลักการ โดยถ้ามาวิจารณ์โดยไม่มีเจตนาในเชิงภาพยนตร์ เอาเรื่องส่วนตัวมาวิจารณ์ ต้องการแค่มามุ่งทำลายภาพยนตร์โดยไม่มีเหตุผล อันนั้นเราก็อ่านออกดูออก แต่ในทางกลับกันว่าถ้าวิจารณ์แบบมีความรู้มีเหตุผล อันนั้นเราจะฟัง ถึงคำวิจารณ์นั้นจะเป็นเชิงบวก สำหรับคำวิจารณ์นี้ผมอ่านแล้วก็เฉยๆ นะ ผมชอบนะที่เขาวิจารณ์มาแบบนี้ เพราะเขาดูจริง แต่ผมมองว่ามีแค่ท่านคนเดียวที่พูดมุมนี้คนอื่นไม่พูดเลย ผมมองว่าคนที่ดูหนังเดี๋ยวนี้ เขาดูหนังเป็น บางคำวิจารณ์ที่ไม่ได้มาเจตนาดี มุ่งแต่ทำลาย คนอ่านเขาก็รู้ แล้วคำวิจารณ์นั้นก็กลับไปหาเขาเอง แต่ของคุณหมอ ผมชอบนะที่คุณหมอท่านนี้วิจารณ์มาแบบนี้ จากใจจริง แต่ผมมองว่ามีคุณหมอท่านเดียวที่พูดในมุมนี้คนอื่นไม่พูดเลย เพราะเท่าที่ผมได้อ่านคอมเม้นท์จากคนที่ดูหนัง คนอื่นๆ ส่วนใหญ่จะพูดในมุมเดียวกับเจตนาที่ผมต้องการสื่อออกไป ส่วนใหญ่เลย ลองไปอ่านดูก็ได้ สิ่งที่ผมพยายามนำเสนอไป ถ้าคนดูเข้าถึงในหลวงได้ สำหรับผมนั้นคือคนดูได้รับสารที่ผมส่งผ่านไปแล้ว"
อยากชี้แจงเกี่ยวกับคำวิจารณ์นี้อย่างไร
"เท่าที่ผมอ่านผมรู้สึกว่าเขาวิจารณ์ในส่วนเรื่องของผม เขาวิจารณ์ได้ไม่เหมือนคนอื่น ผมก็อ่านคำวิจารณ์ของคนดูเรื่อง เดอะเลตเตอร์ที่ผมกำกับมาเยอะเหมือนกัน ซึ่งคนอื่นเขาค่อนข้างคล้อยตามเรื่องราวของเรา เพราะเรื่องของผมเป็นเชิงจินตนาการมันก็ต้องมีโอเวอร์บ้างอะไรบ้าง เหมือนเราดูหนังต่างประเทศ ที่คุณหมอตินั้นจะเป็นในแง่ความเป็นจริง ถ้าเขาวิจารณ์เชิงนี้ก็จะถูกตามที่คุณหมอพูดว่าเป็นไปได้อย่างไร แต่ในโลกภาพยนตร์นั้นมันเป็นได้มากกว่านั้นอีก บางอย่างเราทำเหมือนเป็นเรื่องจริงแต่บางอย่างมันเหนือความเป็นจริง มาจากจินตนาการ มันอยู่ที่การเล่าเรื่องมากกว่า มันเป็นศิลปะของภาพยนตร์ มันเป็นเรื่องของเจตนาการเล่าเรื่อง ว่าหลักของเรื่องคืออะไรที่เราอยากนำเสนอ หนังเรื่องนี้มีเจตนาจริงๆ คือการสื่ออารมณ์ เพราะเรารู้ว่าคนไทยทุกคนรักในหลวง รัชกาลที่ 9 หนังเรื่องนี้เน้นเรื่องอารมณ์ สมมติว่าผมทำหนังเรื่องนี้แล้ว ผมชักจูงคนมาดู โดยดูด้วยอารมณ์ความรู้สึก ไม่ได้ดูที่ความสมจริง ผมเชื่อว่าเมื่อดูจบ คนดูจะอิ่ม แต่ถ้าเราติดเรื่องของเหตุผล มันเป็นไปได้ถ้าติด แต่อารมณ์ที่ต้องการสื่อออกไปมันก็จะไม่ได้อย่างที่เราต้องการสื่อไป มันอยู่ที่ว่าเราจะดูจากมุมไหน” ปรัชญากล่าว
หนึ่งในคำวิจารณ์บอกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับในหลวงเลย
"เราอยากจะนำเสนอการพูดถึงในหลวงอีกขั้นหนึ่ง หลังจากที่เราสูญเสียพระองค์ไปแล้ว เราจะต้องเดินต่อไปข้างหน้า หยุดเสียใจ หยุดเศร้าโศกแล้วเดินไปข้างหน้าตามคำสั่งสอนของพระองค์ท่าน แต่เรื่องราวของแต่ละผู้กำกับนั้นเราปล่อยให้เป็นความอิสระทางด้านความคิด ซึ่งผู้กำกับอีก 3 ท่านทำเรื่องอะไรผมไม่รู้เพราะผมมาเห็นตอนที่เสร็จแล้ว" ผู้กำกับชื่อดังเผย