โลกใบนี้ดนตรีไทย อาทิตย์ที่ 18 มิถุนายน 2560
ทิ้งใจไว้ไทเป
โดย อาจารย์ขุนอิน
เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา ท่านผู้อ่านหลายท่านอาจจะทราบกันว่าผมได้เดินทางไปยังประเทศไต้หวัน ซึ่งวัตถุประสงค์ในการเดินทางก็คือการแสดงเดี่ยวระนาดเอก ในงานที่ชื่อว่า 2017 Taiwan International Percussion Convention ซึ่งถือว่าเป็นงานระดับโลกจริงๆ โดยผู้จัดงานนี้แท้จริงก็คือวงเปอร์คัชชั่นของไต้หวัน ที่มีชื่อว่า JU.Percussion ซึ่งจัดว่าเป็นวงที่มีชื่อเสียงในระดับโลกมานานกว่า 30 ปีซึ่ งงานนี้ได้จัดมาเป็นครั้งที่ 9 โดยจะจัดขึ้นในทุกๆ 3 ปี ก็เท่ากับว่า จัดมา 27 ปีพอดิบพอดี และในครั้งนี้อาจารย์จู เจ้าของวง JU.Percussion ได้กล่าวในตอนพิธีเปิดงานว่า การที่ตัวเขาเองได้จัดนักดนตรีเครื่องเคาะระดับโลกให้มาชุมนุมกันในงานนี้ก็เพื่อให้นักดนตรีเครื่องเคาะระดับโลกทั่วโลกได้มาเห็นการแสดงของพวกเขาเอง รวมถึงนักดนตรีในวง JU.Percussion ก็จะได้เห็นนักดนตรีระดับโลกมาเล่นให้ชมกันถึงที่บ้านตัวเอง และที่สำคัญจะได้มาแลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์ซึ่งกันและกัน รวมกันเป็นกัลยาณมิตรที่ดีต่อกัน
เป็นยังไงบ้างระครับ วัตถุประสงค์ในการจัดงานของเขาซึ่งลงทุนการจัดหลาย 10 ล้านบาท เพื่อให้นักดนตรีเครื่องเคาะระดับเวิลดฺคลาสได้มาชุมนุมกันที่กรุงไทเป พร้อมกิจกรรมการแสดงของศิลปินหลายๆ ประเทศ สำคัญคือศิลปินที่มาแสดงนั้น ต้องไปทำเวิร์กช็อปหรือการสอนคลอสสั้นๆ ในเครื่องดนตรีของตัวเองตามมหาวิทยาลัยต่างๆ แบบได้สตางค์หรือจ้างสอนนั่นแหละครับ ก็ต้องยอมรับกันว่า อาจารย์จู หัวหน้าวงของพวกเขานั้น จิตใจกว้างขวางดีงามและวิสัยทัศน์กว้างไกลเหมือนเจียงไคเช็ก แต่สมมุติว่า ถ้าอาจารย์จูมาเกิดเป็นคนไทยแลนด์แล้วนั้น ผมไม่แน่ใจหรอกว่าเขาจะจัดงานยิ่งใหญ่ระดับนี้ได้หรือเปล่า ทำไมหรือครับ? ก็เพราะประเทศไต้หวันของอาจารย์จูนั้น มีแรงสนับสนุนที่ดีทั้งภาครัฐและเอกชน เรียกว่าประชาชนของไต้หวันใครมีโครงการแนวคิดที่สร้างสรรค์ไม่ซ้ำแบบใครรัฐบาลไต้หวันยินดีสนับสนุนเรื่องการเงิน ซึ่งก็ไม่เว้นแม้กระทั่งชาวไทยที่ไปทำงานประจำอยู่ที่นั่น
ผมจั่วหัวคอลัมน์มายาวนานยังไม่ได้เข้าเรื่องราวของงานนี้เลยนะครับ เอาเป็นว่าคงต้องตามอ่านกันอีกสัก 3 ฉบับ แล้วท่านผู้อ่านจะทราบกันเลยว่า ทำไมผมถึงทิ้งใจไว้ไทเป และแน่นอนรุ่นใหญ่ไฟเลี้ยวแตกอย่างผมแล้วนั้น คงไม่ใช่ทิ้งใจไว้ให้สาวๆ ที่ไทเปเป็นแน่แท้ แต่มันกลายเป็นองค์ประกอบหรือปัจจัยอะไรต่ออะไรหลายอย่าง ที่ว่าด้วยความประทับใจจนต้องบอกว่าทิ้งใจไว้ไทเป นั่นแหละครับ
ยังพอมีเนื้อที่เหลืออยู่บ้าง ผมจะเขียนถึงประวัติอาจารย์จู ผู้ก่อตั้งวงและจัดงานนี้กันแบบพอสังเขปดีกว่าครับ
อาจารย์จูมีชื่อจริงว่า Ju' Tzong-Ching เกิดที่ Daya'Taichung เมื่อปี ค.ศ.1954 จบการศึกษาจาก National Taiwan University of Arts และไปเรียนเพอร์คัชชั่นต่อที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย โดยเป็นคนจีนคนแรกที่ได้รับใบประกาศนียบัตรสาขาดนตรี(เพอร์คัชชั่น)ของสถาบันนี้ จากนั้นได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าวง Taiwan Simphony Orchestra และเมื่อปี 1986 ได้เป็นผู้ก่อตั้งวงเพอร์คัชชั่น Ju.Percussion Group และ 4 ปีต่อมาได้ก่อตั้งโรงเรียนสอนเพอร์คัชชั่น Ju.percussion School และในปี 1993 จึงได้เริ่มจัดงาน TICP ในทุกๆ 3 ปี และงานนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงที่สามารถทำให้นักตีเพอร์คัชชั่นทั่วโลกมาชุมนุมและได้รู้จักงานนี้ ในปี 1998 ได้จัดทำหนังสือนิตยสาร Arts Circle เพื่อโปรโมทดนตรีเพอร์คัชชั่นและศิลปะต่างๆ ของไต้หวัน อาจารย์จูมีผลงานต่างๆ และได้รับรางวัลมากมายหลายสถาบันของประเทศไต้หวัน เช่น รางวัล Golden Melody Awards จากกระทรวงวัฒนธรรมไต้หวัน รางวัล Brilliant Star จากประธานาธิบดีไต้หวัน ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการและประธานผู้บริหารศูนย์วัฒนธรรมเจียงไคเช็ก ฯลฯ เอาล่ะครับ หมดเนื้อที่ เอาไว้ฉบับหน้าค่อยมาว่ากันใหม่ครับ ยังมีเรื่องดีๆ ของประเทศไต้หวันอีกมากมายมาให้อ่านกันครับ สวัสดีครับ