บันเทิง

เพลงไทยที่ฟังก่อนตาย (11) คาราบาว 2

เพลงไทยที่ฟังก่อนตาย (11) คาราบาว 2

08 ก.ย. 2552

ความเดิมตอนที่แล้ว กล่าวถึงเพลงของคาราบาวในยุคแรก และยุคโด่งดังสูงสุด ตั้งแต่ชุดที่ 1 ขี้เมา (พ.ศ.2524) จนถึงชุดที่ 5 เมดอินไทยแลนด์ (พ.ศ.2527) ครั้งนี้จะพูดถึงอัลบั้มอีก 5 ชุดคือ อเมริโกย (พ.ศ.2528) ถึง ชุดที่ 10 ห้ามจอดควาย (พ.ศ.2533)

 คาราบาว-อเมริโกย ปี 2528
 เป็นผลงานเพลงลำดับ 6 ของคาราบาว หน้าปกอัลบั้มชุดนี้ที่เป็นลายพรางทหาร และคำว่า vol.6 ซึ่งเมื่ออ่านกลับหัวจะอ่านได้ว่า 9 กย.  เหตุการทางการเมืองที่เข้ามากระทบกับวงโดยไม่ใด้รับเชิญ นำไปสู่การมีเพลง มะโหนก (ถึกควายทุยภาค 6) มีเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิตทหาร และมีท่อนนึงที่ร้องว่า "โหนกตัดสินใจรับใช้ชาติประชา มาเป็นพลทหารม้าสังกัดมอพันสี่" ที่พูดถึง พ.อ.ท่านหนึ่ง นายทหารม้าสังกัด กองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ (ม.พัน.4 รอ.) ผู้เป็นตัวตั้งตัวตีในเหตุการณ์ปฏิวัติ และในท้ายเพลงเสียงเอฟเฟคท์ จากรถถังที่ยิงใส่เวทีคอนเสิร์ตในวันเกิดเหตุด้วย

 คาราบาวนำเหตุการณ์และความจริงที่เกิดขึ้นและยังดำรงอยู่ อย่างปัญหาชาวนากับการประกันราคาข้าว หรือเหตุการณ์ที่ทางอเมริกาจำกัดโควต้านำเข้าสิ่งทอไทย เป็นต้น มานำเสนอสู่กันเพื่อให้พี่น้องชาวไทยทุกท่านได้มีส่วนขบคิด กับความหวังที่จะให้สังคมเราพัฒนาอย่างสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง

 คนจนผู้ยิ่งใหญ่ ยิ่งใหญ่ในความรู้สึก และเข้าถึงประชาชนรากหญ้าทั้งประเทศซึ่งส่วนใหญ่ ยังมีปัญหากับการทำมาหากิน เผยให้เห็นถึงการเสนอความจริงที่มีอยู่และยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ มีแต่ประชานิยมระยะสั้น แต่ไม่ยั่งยืน

 หำเฮี้ยน ที่ตั้งใจพุ่งเป้าไปที่สื่อมวลชนที่รับจ้างเขียนข่าว เนื้อหาตรงไปตรงมา ภาษาจริงใจ คิดอย่างไรก็พูดอย่างนั้น ทำให้เพลงถูกแบนไปตามระเบียบ

 ความรู้สึก สำนึกรักในแผ่นดินเกิด จากเนื้อหาเพลง แผ่นดิน ที่พอจะทำให้ซึมซับเข้าไปในจิดใจผู้ฟังได้ไม่ยาก

คาราบาว - ประชาธิปไตย ปี 2529
 คำจำกัดความอย่างหนึ่งที่ชัดเจนของอดีตประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา อับราฮัม ลินคอร์น ที่ว่า "การปกครองในระบอบประชาธิปไตย หมายถึง การปกครองโดยประชาชน ของประชาชน เพื่อประชาชน"

 หลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย คือ "การยอมรับนับถือความสำคัญและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคล ความเสมอภาคและเสรีภาพในการดำเนินชีวิต"

 วันนี้ประเทศไทยมีประชาธิปไตยที่เข้าใจแตกต่างกันไปตามสีเสื้อ สิทธิพลเมือง และความเสมอภาค อาจหมายถึงพวกพ้อง จำนวนคนเข้าร่วม และไม่สงวนจุดต่างทางความคิด

 ประชาธิปไตย ฟังชั่วโมงนี้ ยิ่งฟัง ยิ่งอิน Title Track ชื่อเดียวกับอัลบั้ม ยิ่งชัดเจน การเมืองไทยไม่เปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาโครงสร้างไปจากวันวานเท่าไหร่นัก

 ผู้ทน กับท่อนที่ร้องว่า (เพราะจนไม่มีจะแ_ก) คือมูลเหตุในการที่เพลงนี้ถูกแบนอีกครั้ง ในขณะที่เพลงวันเด็ก ท่อน “สร้างเธคให้เด็กโยกบั้นเด้า” คือเหตุผลจาก กบว. ในสมัยนั้น

 เพลงเจ้าตาก ที่กลายเป็น แทร็กคลาสสิกตลอดกาล ในการกล่าวถึงความยิ่งใหญ่ ของพระเจ้าตากสินมหาราชเจ้าเมืองตากที่เข้มแข็ง ได้รับการสรรเสริญ และส่งผ่านคนรุ่นหลัง ให้เข้าใจประวัติศาสตร์ชาติไทย จะได้อรรถรสมากหากเปิดต่อกันกับเพลง บางระจัน กระตุ้นให้ฮึกเหิม เติมพลังความรักชาติขึ้นมาทันใด

 หากข้อมูลไม่ผิด อัลบั้มชุดนี้ยอดจำหน่ายน้อยกว่า 3 ชุดที่ผ่านมา แต่ในเชิงคุณค่า กลับเข้มข้นมากขึ้นในหลายๆ ด้าน อัลบั้มนี้โชว์ความสามารถทั้งชั้นเชิงการเขียนเพลง และดนตรีที่ท้าทายความสามารถของนักดนตรี เทิร์นโปร กลองไฟฟ้า อัดเข้ามาเต็มชุด แต่ก็ดูกลมกลืนดีกับเรื่องราวที่เล่าสู่โดยเฉพาะประเด็นที่ดูเหมือนจะเป็นการพัฒนา ด้านวัตถุ แต่จิตวิญญาณตามไปไม่ทัน ต้องหาฟังให้ได้ครับชุดนี้

คาราบาว - เวลคัมทูไทยแลนด์ ปี 2530
 จากงานชิ้นเชิง และถือว่าเข้าถึงยากสักนิดของแฟนๆ ทั่วประเทศ ในชุดก่อนที่อาจเข้าถึงคนส่วนใหญ่ได้น้อยลง งานชุดนี้เหมือนสั่งได้ ให้กลับมาหาความเป็นไทยและได้รับความนิยมอย่างสูงอีกครั้ง กับการเสียดสีการท่องเที่ยวไทยจากต่างชาติในมุมมองที่ต่างไป ที่จุดขายไม่ใช่เรื่องศิลปะและความสวยงามของธรรมชาติ แต่กลายเป็นสาวๆ แถว พัทยา และบาร์อะโกโก้ พัฒนพงษ์ไป ภาษาสนุก ง่าย ตรงใจไม่อ้อมค้อม

 เพลงเสียดสี ประชดประชัน อย่างเหนือชั้น ไม่ต้องใช้คำแรง แต่แฝงข้อคิด มีอยู่ในหลายเพลงในอัลบั้มชุดนี้ อย่าง สบายกว่า ที่ว่าด้วยเรื่องการเห็นแก่ความสบายของตัวเองโดยไม่ใส่ใจใคร ไปจนถึงเพลง บาปบริสุทธิ์ ที่คู่รัก สามี ภรรยา ต้องฉุกคิดถึงเรื่องราวและทบทวนการกระทำของตนเองไปตามๆ กัน

 คนหนังเหนียว เพลงสนุกที่ลีลาต่างออกไปอย่างน่าสนใจ ขี้เล่น หยิกแกมหยอก พอหอมปากหอมคอ ลีลาการร้องและภาษา ทั้ง "เล็ก" และ "รี่" รับส่งกันได้อย่างพอดิบพอดี ข้ามยุคมาถึงวันนี้ไม่ว่าเมื่อไหร่ที่ได้ร้องเพลงนี้กับเพื่อนรู้ใจ ก็สนุกเร้าใจไม่แพ้วันวาน

 ในอัลบั้มชุดที่ 8 "เวลคัม ทู ไทยแลนด์" มีเพลงที่ แอ๊ด เขียนเนื้อร้องและทำนอง โดยให้ อ๊อด อนุพงษ์ ประถมปัทมะ มือเบสและร้องประสาน ร้องนำอยู่เพลงหนึ่ง คือ กระถางดอกไม้ให้คุณ ที่มีเนื้อหากุ๊กกิ๊ก ทำนองสนุก อินโทรเสียงผิวปาก และดนตรีแบบโยธวาธิต ว่าด้วยเรื่องที่เป็นคนที่มีใจรักในเสียงเพลง รักดนตรี และซ้อมดนตรีอยู่เป็นประจำ แต่ไม่เคยร้องเพลงเลยแม้สักเพลง เพลงนี้จึงเป็นเพลงแรกและเพลงสุดท้ายในชีวิตของอ๊อดที่จะได้ยินได้ฟัง แต่ดันร้องผิดที่ผิดเวลา จึงโดนกระถางดอกไม้ปาใส่ จนกลายเป็นเพลงประจำตัวอ๊อดได้รับความนิยมมาจนปัจจุบัน

 อัลบั้มนี้ สุขุมในความคิด คลื่คลายในเนื้อหา และลงตัวกับกาลเวลา น่าฟังครับ

คาราบาว - ทับหลัง ปี 2531
 ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์เป็นทับหลัง ที่ปราสาทหินพนมรุ้ง นับเป็นโบราณวัตถุที่มีชื่อเสียงมากที่สุด ที่ถูกโจรกรรมไป เมื่อราวปี พ.ศ 2503 และถูกนำไปจัดแสดงอยู่ที่ สถาบันศิลปะชิคาโก อเมริกา แต่ในที่สุดชาวไทย นำโดยรัฐบาล และหม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ก็ได้ทับหลังชิ้นนี้คืนมา ทันวันพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้งพอดี ในอีก 28 ปีถัดมา

 เรื่องราวการเรียกร้องอย่างชัดเจน ไม่อ้อมค้อม และมีพลังไปยังเป้าหมาย เมื่อรวมกันกับหลายๆ ฝ่าย จนบรรลุเป็าหมาย เพลงนี้ได้ชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในครั้งนี้ด้วย

 หลายเพลงได้รับความนิยมอย่างสูงและกลายเป็นเพลงคลาสสิก อย่าง รักทรหด, แม่สาย

คาราบาว - ห้ามจอดควาย ปี 2533
 ช่วงห่างการออกอัลบั้ม 2 ปี นานกว่าที่เคย เป็นสัญญาณบอกให้รู้ถึงความผิดปกติภายในวงที่มีความขัดแย้งทางความคิด และความไม่ลงตัวในการทำงานร่วมกันอย่างที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงมาเยื้อคาราบาวอีกครั้งนับตั้งแต่วงได้รับความนิยมสูงสุด สมาชิกแยกไปทำงานเดี่ยว ทั้งเล็ก (ดนตรีที่มีวิญญาณ) อ.ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี เทียรี่ และน้าเป้า ยังออกอัลบั้มขอเดี่ยวด้วยคนนะ (2532), กีรติ พรหมสาขา? ณ สกลนคร (ก่อกวน 2533)

 งานชิ้นนี้จึงมีทีมงานมาเสริมทีม คือ วงตาวัน สนับสนุน ทั้งในด้านการผลิต และการเล่นดนตรีสนับสนุนในการแสดงสด รสชาติและแนวทางที่คุ้นเคยเปลี่ยนไปจากงานก่อนๆ แต่ก็ได้สร้างมิติใหม่ให้กับงานของคาราบาวไปอีกแนวทาง เพลงในแบบสามช่า ยังคงต้องมีอยู่แบบเพลง “ผ้าขี้ริ้ว"

 ชุดนี้มีเพลงติดหูอย่าง สัญญาหน้าฝน ที่แอ๊ด แต่งให้ เขียวร้อง เป็นเพลงคลาสสิกอีกเพลง ที่เหลือเป็นเพลงที่นำเสนอความสัมพันธ์และความเป็นจริงที่มีอยู่แบบที่ไม่มีเพลงไทยของวงไหนๆ เคยพูดเรื่องนี้มาก่อนอย่าง "กอทูเล", "คานธี", "นส 3 ก" สีสันดนตรีที่แตกต่าง อาจเป็นรสชาติใหม่ให้คนฟังเพลงอีกหนึ่งชุดก่อนจะเปลี่ยนแปลงอีกครั้งในอัลบั้มถัดมา

 เพลงเพื่อชีวิตไม่ได้หายไปใหนทั้งสิ้น ยังคงมีอยู่ แต่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์และสังคม อย่างหนึ่งที่เป็นจุดแข็งของเพลงเพื่อชีวิตคือเนื้อเพลง ความคิด และการเป็นผู้นำทางความคิด หากเติมชั้นเชิงดนตรี ความหลากหลายของดนตรีเพิ่มเข้าไปให้คนฟังเดินตามไปแบบไม่จำเจ เพลงเพื่อชีวิตจะกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งในวันที่สถานการณ์และสังคมในวันนี้ที่ช่างเอื้ออำนวยยิ่งนัก

 งานของคาราบาวตั้งแต่ชุดที่ 1-10 เป็น 10 ชุดที่ส่งอิทธิพลทางความคิด และส่งผลต่อสังคม ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ถูกฝังลึกลงในจิตใจแฟนเพลงไทยทั้งรุ่นเก่าและใหม่ สำหรับคนรักเพลง คนรักคาราบาว และศรัทธาในแนวทางการดำเนินชีวิตของพวกพี่ๆ ยุคก่อตั้งจนถึงยุคเปลี่ยนแปลง
 ขอคาราวะตำนานวงดนตรีไทยที่ยิ่งใหญ่ตลอดกาลครับ
 ชาตินี้ ยังไงก็ฟังเพลงทั่วไปได้ไม่หมด
 ขอเลือกเพลงโปรด ฟังก่อนตาย ดีกว่า

"โชคชัย เจี่ยเจริญ"
[email protected] <mailto:[email protected]>