บันเทิง

โลกใบนี้ดนตรีไทย / อาทิตย์ที่ 16 เมษายน 2560

โลกใบนี้ดนตรีไทย / อาทิตย์ที่ 16 เมษายน 2560

15 เม.ย. 2560

วงปี่พาทย์พิธีกรรมในความเชื่อ

โดย อาจารย์ขุนอิน

    ในโลกของเรานั้นจะมีเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อต่างๆ มากมายนับไม่ถ้วน แต่ในเรื่องความเชื่อของตัวผมนั้น ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องดนตรีปี่พาทย์แหละครับ ซึ่งในเรื่องความเชื่อของวงการปี่พาทย์นั้นก็ไม่ได้พึ่งมีมาในยุคนี้ แต่เป็นเรื่องที่ยึดถือปฏิบัติกันมาหลายชั่วอายุคน แต่ที่สำคัญในหลายๆ เรื่องเริ่มที่จะหายไปจากคนในยุคนี้ โดยผมขอยกตัวอย่างเช่น ในเวลา 6 โมงเย็น หรือ 18.00 น. ง่ายๆ ว่าก่อนที่จะพลบค่ำถ้าใครอยู่ในบ้านหรือสำนักปี่พาทย์นั้น จะห้ามตีหรือห้ามซ้อมโดยเด็ดขาด เพราะเชื่อว่าบรมครูที่สิงสถิตอยู่ในเครื่องดนตรีจะต้องขึ้นไปเฝ้าพระอิศวร
    เอาแค่ข้อนี้ ผมเชื่อว่าเด็กที่เรียนปี่พาทย์ในยุคนี้ ส่วนใหญ่ก็จะไม่เคยโดนปลูกฝังหรือสั่งสอนในเรื่องนี้กันแล้วแหละครับ และจะว่ากันจริงๆ แล้วนั้น ตัวผมเชื่อในเรื่องครูที่สถิตอยู่ในเครื่องดนตรี แต่ตัวผมก็ไม่เคยเห็นพระอิศวร แต่ถามว่าผมทำตามไหม? แน่นอนครับ ต้องทำตามหรือปฏิบัติตาม พร้อมทั้งสั่งสอนลูกศิษย์ในสำนักให้ทำตามกัน ทุกคน เหตุผลก็คือ ที่สำนักผมเขาทำแบบนี้กันมาตั้งแต่สมัยปู่ทวดของผม ซึ่งจะไม่ตีเครื่องดนตรีปี่พาทย์ตอน 6 โมงเย็น จนกว่าตะวันจะตกดินไปแล้ว ยกเว้นแต่เมื่อเราอยู่ที่งานแสดงเท่านั้น แถมยังได้รับการสั่งสอนอีกว่า ถ้าใครซ้อมหรือตีเครื่องปี่พาทย์ในช่วงตะวันตกดินฝีไม้ลายมือก็จะต้องตกลงไปตามตะวันที่ลับฟ้าไป และผมก็เชื่อเรื่องนี้เสียด้วยครับ เนื่องจากโดนปลูกฝังมาตั้งแต่วัยเด็ก ดังนั้นแล้วเหตุผลที่ทำให้ผมต้องเชื่อมันก็เลยไม่มีครับ
    ในเรื่องความเชื่อของพวกปี่พาทย์โบราณอย่างพวกผมนั้น ยังมีอีกหลายอย่างเช่น การเข้าพิธีไหว้ครู ทุกคนในวัยเด็กนั้นจะต้องได้รับการประสิทธิ์ประสาทวิชาด้วยการเข้า “พิธีการจับมือ” ในเพลงที่จะเริ่มต้นหัดตีก็คือ “เพลงสาธุการ” ซึ่งจะต้องกระทำในช่วงท้ายของพิธีไหว้ครูประจำปี หลังจากนั้นพอเริ่มต่อเพลงหรือเรียนเพลงสาธุการในชุดโหมโรงเย็นเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็จะต้องกลับมาเข้าพิธีจับมือใน "เพลงตระโหมโรง" เพื่อที่จะกลับไปเรียนเพลงนี้ต่อไป ซึ่งจะเป็นพิธีกรรมตามขั้นตอนที่สืบเนื่องกันมานานนับร้อยปี จากนั้นพอเราเริ่มเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ก็ต้องเรียนเพลงหน้าพาทย์หรือเพลงครูชั้นสูง และก็ต้องกลับเข้ามากระทำพิธีไหว้ครูและจับมือเหมือนเดิมแต่เป็นเพลงที่มีชั้นสูงขึ้นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงขั้นสูงสุดก็คือ “เพลงองค์พระพิราบ” ซึ่งก็มีข้อแม้อีกว่าจะต้องบวชเป็นพระเสียก่อนที่จะเริ่มเข้าพิธีจับมือและเรียนเพลงนี้
    จากนั้นในความเชื่อของนักดนตรีปี่พาทย์ที่ต้องปฏิบัติก็คือ เมื่อเราได้เรียนเพลงต่อเพลงจนถึงชั้นสูงสุดแล้วนั้น ก็ต้องเริ่มไปบรรเลงเพลงหน้าพาทย์ประกอบพิธีไหว้ครูตามสถานที่ต่างๆ เหมือนประกาศให้ผู้คนทั้งหลายได้รู้ว่า เราได้เรียนเพลงหน้าพาทย์ชั้นสูงสุดไปแล้ว และนานไปจนกระทั่งอยู่ในขั้นที่เรียกว่าชำนาญการหรืออยู่ในวัยอาวุโส จากนั้นก็จะมาเข้าพิธีรับโองการไหว้ครูหรือตำราไหว้ครู เพื่อที่จะได้เป็นผู้นำกระทำพิธีไหว้ครูที่สำคัญ คือได้เป็นผู้จับมือประสิทธิ์ประสาทวิชาให้แก่เด็กๆ ที่เริ่มหัดเรียนหรือผู้ที่เริ่มเรียนเพลงสูงขึ้นจนถึงขั้นสูงสุดคือเพลงองค์พระพิราบได้อย่างสมบูรณ์แบบและถูกต้อง

โลกใบนี้ดนตรีไทย / อาทิตย์ที่ 16 เมษายน 2560
    ทั้งหมดนี้คือพิธีกรรมปฏิบัติหรืออาจจะเรียกว่า จารีตที่มีมานานนับร้อยปีและยังคงมีปฏิบัติตามกันในหมู่นักดนตรีรุ่นเก่าๆ หรือนักดนตรีชาวบ้านที่ได้รับการสั่งสอนปลูกฝังตามสำนักที่เป็นบ้านปี่พาทย์ ซึ่งก็เริ่มหาได้ยากในยุคปัจจุบันนี้
    สิ่งสำคัญที่สุดที่ผมเขียนถึงเรื่องนี้ก็เป็นเพราะผมได้เห็นคนดนตรีในยุคนี้ โดยบางคนนั้นเริ่มที่จะไม่เดินตามพิธีกรรมที่เคยปฏิบัติกันมา ก็คืออยู่ๆ นั้นก็มาเข้าพิธีรับโองการไหว้ครูปี่พาทย์ให้ได้เป็นผู้นำกระทำพิธีไหว้ครู ทั้งๆ ที่ยังไม่เคยได้เรียนเพลงหน้าพาทย์ชั้นสูงและยังไม่เคยไปบรรเลงเพลงหน้าพาทย์ประกอบพิธีไหว้ครูตามสถานที่ต่างๆ
    โบราณได้กำหนดสิ่งที่เป็นพิธีกรรม เพื่อเป็นความเชื่อให้นักดนตรีปี่พาทย์ได้รู้จักสิ่งที่อยู่สูงขึ้นไปและควรศึกษากันไปอย่างเป็นขั้นตอน เพราะดนตรีปี่พาทย์จะต้องว่าด้วยการฝึกฝนในเชิงปฏิบัติไม่ได้เรียน เพื่อแลกใบประกาศนียบัตรเหมือนการเรียนลัดแบบ กศน. และอย่างน้อยที่สุดพิธีกรรมไหว้ครูปี่พาทย์ที่มีมายาวนานนั้น ควรจะต้องรักษาสืบต่อไปโดยวิธีที่ถูกต้อง และในความเชื่อของผมอีกอย่างหนึ่งก็คือ “การเล่นของสูง” ถ้ากระทำถูกต้องย่อมมีผลบวกกับชีวิต แต่ถ้ากระทำผิดชีวิตจะต้องติดลบไปตามคำสาปแช่งของวิญญาณครูปี่พาทย์โบราณครับ