บันเทิง

7 เหตุผลที่ควรดู Ponyo
โปเนียวแห่งความสุข

7 เหตุผลที่ควรดู Ponyo โปเนียวแห่งความสุข

28 ส.ค. 2552

ไม่ใช่เรื่องผิดที่ใครๆ จะคิดไปเองว่า การ์ตูนคือความบันเทิงของเด็กๆ แต่ก็เป็นความคิดที่ผิด หากใครจะเหมารวมว่า การ์ตูนทุกเรื่องทำมาให้แค่เด็กดู

 สตูดิโอ “จิบลิ” ของญี่ปุ่น ถูกยกย่องว่าเป็น วอล์ท ดิสนีย์ แห่งเอเชีย (ทั้งที่ผมรู้สึกว่า จิบลิ เจ๋งและลึกกว่า “ดิสนีย์”) ทำหนังเป็นที่รักใคร่ของคนดูมาหลายเรื่อง และสุดสัปดาห์นี้ ที่โรงหนังลิโด สยามฯ กับพารากอน จะฉายหนังเรื่องใหม่ของมือวางอันดับ 1 แห่งจิบลิ เรื่อง Ponyo in the Cliff by the Sea
นี่คือ 7 เหตุผลที่ผมคิดว่า ทำไมเราน่าจะไปดู “โปเนียว” ธิดาแห่งมหาสมุทร
........................

 1. ผู้กำกับ มิยาซากิ กลับมาใช้ภาษาภาพในการเล่าเรื่องอีกครั้ง อาจจะไม่ซับซ้อนน่าทึ่งแบบ Spirited Away (2003) หรือมีพลังในแบบ Princess Mononoke (1997) แต่ภาษาภาพที่เขานำมาเรียงร้อย ชัดเจน แม่นยำ และสอดคล้องไปกับเรื่องที่ถูกนำมาเล่า

 2. ภายใต้ภาพของหนังที่ร้อยเรียงอย่างงดงามไปจนจบนั้น หนังไม่มองข้ามรายละเอียดสำคัญๆ ที่ให้เราเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและยุคสมัย โลกของ โปเนียว นั้น ถูกรบกวนรุนแรงงจากโลกของมนุษย์ ผ่านมาทางเรือสินค้า ซึ่งแม้หนังบอกเล่าแบบผ่านๆ แต่ก็มีเสียงที่ได้ยินได้ฟังจากภาพเหล่านั้น

 3. นี่คืองานแห่งความภาคภูมิใจของหนังการ์ตูนจากเอเชีย ที่ไม่จำเป็นต้องเดินตามกรอบวาทกรรมของการ์ตูนที่ว่าด้วยเรื่องของพระเอกฮีโร่กับวายร้ายน่าชัง ฉะนั้น ตัวร้ายในการ์ตูนค่ายจิบลิ จึงไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ร้ายแบบการ์ตูนฮอลลีวู้ด ตัวร้ายมันอาจเป็นเรือสินค้า, สัตว์ประหลาดหน้าตาใจดี หรือสิ่งเล็กน้อยในชีวิต

 4. น่าสังเกตและคงทราบกันมานานแล้วว่า หนังของ มิยาซากิ นั้น มักมีพาหนะเกี่ยวกับ "เครื่องบิน" สาเหตุหนึ่งที่น่ามองก็คือ เขาเกิดในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง และแน่นอนว่าคงได้ยินเสียงได้เห็นเครื่องบินรบเต็มไปหมด อย่างไรก็ตาม แม้จะมีเครื่องบิน แต่ มิยาซากิ นำเสนอในเชิงจินตนาการวัยเยาว์ ที่มาพร้อมความรู้สึก anti-war

 5. ท่ามกลางคำชมหลายปากของคนดู คำพูดหนึ่งที่ผมชมและเห็นด้วยมาตลอดก็คือ ลายเส้นหรือภาพวาดในการ์ตูนของ จิบลิ ไม่เคยลืมหน้าที่ของตัวเอง ไม่ลืมรากเหง้าและ tradition ที่จะพูดในสิ่งที่ควรพูด เราจะเห็นว่าแม้แต่เสาไฟข้างถนน หรือหิ่งห้อยที่บินรอบต้นไม้ หนังก็ไม่เคยข้ามเรื่องเหล่านี้ไป รายละเอียดเกี่ยวกับชนบทหรือความเป็นเมืองนี่เอง
 ที่เป็นความแตกต่างระหว่าง จิบลิ กับ พิกซาร์ ในชายคาของดิสนีย์
 6. หนังการ์ตูนของ มิยาซากิ มักมีเสียงแอมเบียนที่ลอยอยู่ในหนัง มันเป็น mood ของหนัง เป็น feeling ที่เลี้ยงอารมณ์ของเรื่องไว้ตลอดเวลา น่าสนใจว่า เสียงของหนังนั้น ไม่เคยระรานหรือรบกวนเรื่องของหนังที่อยู่บนจอ แต่คุณลองดูการ์ตูนยุคใหม่ หรือหนังของฮอลลีวู้ด กระทั่งภาพยนตร์ดูสิ “เสียง” มักดังกว่า “หนัง”
 หรือเพราะนี่คือยุคสมัยแห่งเสียง เพราะไปที่ไหนๆ ในทุกวัน ก็มีแต่วัฒนธรรมเสียงตะโกนเต็มไปหมด (เสียงของอีเวนท์ เสียงของงานเปิดตัวสินค้า เสียงของพริตตี้ เสียงของลำโพง เสียงของนู่นนั่นนี่) และเมื่อเสียงแห่งขยะมากขึ้น เราก็ไม่ได้ยินเสียงของหัวใจกัน

 7. นี่คือหนังเล็กๆ ที่ต้องปรบมือให้แก่ “ลิโด” และ “พารากอน” ที่สละเวลาและพื้นที่ในการฉาย อย่างน้อยการเขียนบทความนี้ก็เพื่อให้กำลังใจหนังเล็กๆ แต่ดี

 และนี่คือหนังที่ผมนัดครอบครัวไว้แล้ว ว่าจะพาแม่กับหลานสาวไปดูด้วยกันในสุดสัปดาห์นี้ ที่ “ลิโด”  

 “ลิโด” แปลว่า “โรงหนังที่ดีที่สุดในประเทศไทย”

"นันทขว้าง สิรสุนทร"
[email protected]