บันเทิง

"หมอลำอินเตอร์" 
โครงการดีแต่ทำได้ยาก

"หมอลำอินเตอร์" โครงการดีแต่ทำได้ยาก

21 ส.ค. 2552

หมอลำภาคอีสานรับยังไม่รู้รายละเอียดโครงการหมอลำอินเตอร์ของ ก.พาณิชย์ ชมโครงการที่ดีแต่ทำยาก ด้าน ส.ทองสา หมอลำชนะเลิศพระราชทานฯ ระบุหากนำหมอลำโกอินเตอร์วอนให้นึกถึงคณะหมอลำขนาดกลาง-เล็ก

 หลังจากที่ นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เปิดตัวโครงการ "หมอลำอินเตอร์" ภายใต้นโยบายเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ (ครีเอทีฟ อีโคโนมี) ตามนโยบายของรัฐบาล และเพิ่งเปิดตัวที่ จ.อุบลราชธานี เมื่อเดือนกรกฎาคม เนื่องจากที่ผ่านมา มีหมอลำชื่อดังได้ไปเปิดการแสดงคอนเสิร์ตในต่างประเทศอยู่บ่อยครั้ง แต่กลับพบว่าไม่มีการส่งเสริมและพัฒนาจากภาครัฐ จึงเกิดเป็นโครงการหมอลำอินเตอร์

 โครงการดังกล่าว คือการนำเอาศิลปวัฒนธรรมอีสานไปแสดงที่ต่างประเทศ ทั้งในอาเซียน ยุโรป และอเมริกา กลุ่มเป้าหมายคือคนไทยในต่างประเทศ รวมไปถึงชาวต่างชาติ เพื่อหารายได้ให้แก่หมอลำ และนำเม็ดเงินเข้ามาในประเทศ

 ทวนทอง ผ่านวงษ์ ผจก.หมอลำคณะ "หนูภาร วิเศษศิลป์" ซึ่งเป็นวงหมอลำชื่อดังขนาดใหญ่ใน จ.ขอนแก่น เปิดเผยเกี่ยวกับโครงการ "หมอลำอินเตอร์" ว่า ได้ยินแต่ข่าวว่ากระทรวงพาณิชย์ มีโครงการหมอลำโกอินเตอร์ แต่ไม่ทราบว่ารูปแบบจะเป็นในลักษณะใด จะนำหมอลำไปแสดงที่ต่างประเทศแต่ละคณะ หรือจะเอาคณะหมอลำที่เด่นๆ มารวมกันแล้วแสดงร่วมกันบนเวที

 ทั้งนี้ หมอลำอินเตอร์ เป็นโครงการที่ดี แต่มีความเป็นไปได้ยาก โดยหากจะเอาหมอลำที่เด่นๆ แต่ละคณะไปแสดงร่วมกัน ก็ไม่เห็นความโดดเด่นหรือเอกลักษณ์ของแต่ละคณะ แต่ถ้าหากจะเอาหมอลำไปแสดงที่ต่างประเทศครั้งละ 1 คณะ ก็มีรายละเอียดอีกมากมาย ทั้งทีมคณะหมอลำ เครื่องดนตรี และอุปกรณ์การแสดงต่างๆ ก็ต้องขนไป ซึ่งหากไปเต็มวงตรงนี้ทางรัฐบาลก็ต้องออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด อีกทั้งคณะหมอลำในภาคอีสานก็มีเป็น 100 คณะ จึงไม่ทราบว่าทางกระทรวงพาณิชย์จะคัดเอาคณะหมอลำประเภทใดไปโชว์การแสดงที่ต่างประเทศ

 "สำหรับคณะหนูภาร วิเศษศิลป์ ไม่เคยเดินทางไปแสดงที่ต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะจำกัดการแสดงอยู่ในภาคอีสาน เพราะคำว่าหมอลำมีถิ่นกำเนิดอยู่ในภาคอีสาน หมอลำจึงอยู่คู่กับคนอีสาน หากจะไปแสดงหรือลำเรื่องต่อกลอนให้คนทางภาคใต้ซึ่งมีหนังตะลุง รำมโนราห์เป็นเอกลักษณ์ เขาก็คงฟังไม่รู้เรื่องแน่นอน" 

 ผู้จัดการวงหนูภาร วิเศษศิลป์ ยังบอกอีกว่า แม้ว่าคนไทยในต่างประเทศจะมีอยู่มาก แต่หากจะเอาหมอลำไปแสดงที่ต่างประเทศ เพื่อหวังว่าจะให้มีคนเข้าไปดูเยอะๆ ตนมองว่าคงไม่น่าสนใจนัก เพราะคนไทยเหล่านั้นเขาก็ซื้อหาวีซีดี ดีวีดีบันทึกการแสดงสดคณะหมอลำที่เขาชื่นชอบอยู่แล้ว ดังนั้นโครงการ "หมอลำอินเตอร์" หากจะนำไปแสดงที่ต่างประเทศเพื่อเป็นหน้าเป็นตาของประเทศนั้นคงพอได้ แต่หากถึงขั้นหารายได้ นำเม็ดเงินเข้ามาในประเทศนั้นคงเป็นไปได้ยาก

 ด้าน สุรชัย อันอาน ผจก.หมอลำคณะ ส.ทองสา ซึ่งเป็นวงหมอลำขนาดกลาง และเป็นวงหมอลำที่ชนะเลิศในการประกวด "มหกรรมหมอลำชิงแชมป์แห่งประเทศไทย" คว้าถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อปี 2548 บอกว่า ไม่ทราบว่ากระทรวงพาณิชย์มีโครงการหมอลำอินเตอร์ แต่ก็ถือว่าเป็นแนวคิดที่ดี ที่รัฐบาลจะนำ "หมอลำ" ซึ่งเป็นศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านของอีสานไปเผยแพร่ยังต่างประเทศให้คนทั่วโลกได้รับรู้ว่า นี่คือ "ของดีอีสาน" ซึ่งจะส่งผลดีต่อวงการและหมอลำ และสร้างขวัญ กำลังใจให้แก่คณะหมอลำ รวมไปถึงคนไทยในต่างแดนที่จะมีโอกาสได้ดูศิลปินควบคู่ไปกับศิลปะอีสาน

 ส่วนในรายละเอียดหมอลำอินเตอร์นั้นไม่ทราบว่าเป็นอย่างไร กระทรวงฯ จะเลือกเอาเฉพาะคณะหมอลำขนาดใหญ่และมีชื่อเสียงไปหรือไม่ ส่วนหมอลำขนาดเล็กและขนาดกลางจะมีโอกาสได้ไปหรือไม่ อันนี้ยังไม่ทราบ แต่อย่างน้อยวงการหมอลำก็ได้รับอานิสงส์จากโครงการนี้แน่นอน

 "อย่างไรก็ตาม หากจะนำคณะหมอลำไปแสดงโชว์ที่ต่างประเทศ ก็อยากจะให้นึกถึงวงหมอลำขนาดกลางและขนาดเล็กไปด้วย เพราะหมอลำขนาดเราก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าวงขนาดใหญ่ ทั้งเรื่องการแสดง การลำเรื่องต่อกลอน จะแตกต่างก็เพียงอุปกรณ์การแสดงเท่านั้นที่หมอลำคณะใหญ่ๆ จะเน้นอุปกรณ์ โครงเหล็กเวทีขนาดใหญ่ แต่ของเราจะเน้นในเรื่องของกลอนลำที่เกี่ยวข้องกับศิลปะอีสานมากกว่า"
              
"มยุรี อัครบาล"